Grid Brief
- ด้วยพื้นที่ที่เป็นเกาะ การผลิตกระแสไฟฟ้าบนเกาะปันหยี จ.พังงา จำเป็นต้องอาศัยเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูง ในอดีตชาวเกาะปันหยีจึงแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่เคยสูงถึงหน่วยละ 18 บาท
- คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ PEA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะปันหยี โดยออกแบบเป็นเคเบิลอากาศ แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคจากพิกัดที่ตั้ง ที่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติมรดกอาเซียน ทำให้ไม่สามารถปักเสาพาดสายเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าได้
- PEA ตัดสินใจเปลี่ยนระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเกาะปันหยีเป็นระบบสายเคเบิลใต้น้ำ ตามข้อเสนอของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แม้ต้องใช้งบประมาณสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับประโยชน์ในระยะยาวแล้วนับว่าคุ้มค่า
- โครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะปันหยี จ.พังงา ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2565 ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงหน่วยละ 5 บาท ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและทำให้ชาวเกาะปันหยีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ชาวบ้านบนเกาะปันหยี จ.พังงา อาจโชคดีที่มีไฟฟ้าใช้มานานแล้ว แต่เป็นความสุขที่ ‘หน้าชื่นอกตรม’ เพราะต้องเผชิญกับอัตราค่าไฟฟ้าที่เคยสูงถึงหน่วยละ 18 บาท แม้องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะปันหยีเข้ามาช่วยดูแล ทำให้ค่าไฟลดลงเหลือหน่วยละ 11-15 บาท แต่ยังเป็นอัตราที่ไม่เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป
ค่าไฟฟ้าที่แพงกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่หนักอึ้งของชาวเกาะปันหยีมานานหลายสิบปี จึงมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อ พ.ศ.2540 ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ดำเนินการโครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะต่าง ๆ โดยมีเกาะปันหยี จ.พังงา รวมอยู่ด้วย
รู้จัก ‘เกาะปันหยี’
เกาะปันหยีอยู่ใน จ.พังงา เป็นเกาะขนาดเล็กในทะเลอันดามัน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน มีพื้นที่ราบไม่ถึง 1 ไร่ ใช้เป็นที่ตั้งของมัสยิดและสุสานประจำหมู่บ้าน ส่วนบ้านเรือนชาวบ้านทุกหลังจะยกพื้นสูง โดยปักเสาในทะเล และสร้างติดต่อกันเป็นแพ ซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตชาวประมงชุมชนอิสลามที่มีเอกลักษณ์
นอกจากนี้ ยังมีสนามฟุตบอลลอยน้ำแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำให้เกาะปันหยีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่ว และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ เช่น ถ้ำทะลุ ลานหอยมุก จึงกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือนอยู่เสมอ
ฉะนั้น การขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าไปยังเกาะปันหยี นอกจากช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าแพงแล้ว ยังเพื่อรองรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องบนเกาะอีกด้วย
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ PEA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะปันหยี โดยออกแบบเป็นเคเบิลอากาศ แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคจากพิกัดที่ตั้ง ที่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติมรดกอาเซียน ทำให้ไม่สามารถปักเสาพาดสายเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าได้
ไฟฟ้าบนเกาะปันหยี
แต่เดิม บริษัท นำแสงเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้ชาวเกาะปันหยี โดยใช้เครื่องจักรไฟฟ้าดีเซล ซึ่งต้องใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ต้นทุนสูง ค่าไฟฟ้าจึงสูงถึงหน่วยละ 18 บาท ถึงกระนั้นก็ยังขาดทุน และยกเลิกบริการไปเมื่อ พ.ศ.2549
องค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะปันหยีได้จัดหาเครื่องจักรไฟฟ้าดีเซลขนาด 120 กิโลวัตต์ 4 เครื่อง แม้ อบต.เกาะปันหยีเป็นผู้บริหารจัดการ แต่น้ำมันดีเซลมีราคาแพง และมีค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรไฟฟ้าดีเซลที่ใช้งานมานานแล้ว รวมถึงค่าบริหารจัดการอื่น ๆ อีก ทำให้ค่าไฟฟ้ายังคงสูงถึงหน่วยละ 11-15 บาท
มีการนำความเดือดร้อนจากค่าไฟแพงของชาวเกาะปันหยีเข้าพิจารณาใน ครม. และมีมติอนุมัติเห็นชอบโครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะต่าง ๆ ของ PEA และมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีเกาะปันหยีเป็นเกาะแรกที่จะดำเนินการ
PEA ตัดสินใจเปลี่ยนระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเกาะปันหยีเป็นระบบสายเคเบิลใต้น้ำ ตามข้อเสนอของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แม้ต้องใช้งบประมาณสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับประโยชน์ในระยะยาวแล้วนับว่าคุ้มค่า
อุปสรรคนานา
PEA วางแผนการก่อสร้างระบบจำหน่ายด้วยสายเคเบิลอากาศและสายเคเบิลใต้น้ำควบคู่กันบนเกาะปันหยี แต่เนื่องจากอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะ พบในเขตชีวภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมเท่านั้น จึงมีความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของนกน้ำและปลา PEA จึงร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามมติ ครม.
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานแห่งชาติมรดกอาเซียน ภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยอุทยานมรดกอาเซียน จากความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศ มีความเป็นธรรมชาติที่เป็นตัวแทนของภูมิภาค และมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสูง
อุทยานฯ ได้ชี้แจงว่า การปักเสาพาดสายเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ป่าชายเลนอาจส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและสัตว์ ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในป่าชายเลน และบดบังทัศนียภาพตามธรรมชาติด้วย นอกจากนี้ อาจกระทบต่อคุณค่าความเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนได้ในอนาคต และอาจส่งผลต่อการเสนอแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
ทำไมต้อง ‘เคเบิลใต้น้ำ’
PEA ได้ทบทวนโครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะปันหยี ตามข้อเสนอของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยเปลี่ยนระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าเป็นระบบสายเคเบิลใต้น้ำทั้งหมด พร้อมทั้งก่อสร้างระบบจำหน่ายบนเกาะ และติดตั้งหม้อแปลงจำหน่าย โดยใช้งบประมาณ 221 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าการก่อสร้างโรงจักรไฟฟ้าดีเซลที่ใช้งบประมาณเพียง 23 ล้านบาท แต่หากคำนวณเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายประจำปีตลอดระยะเวลา 30 ปีของโครงการ กลับพบว่า การก่อสร้างโรงจักรไฟฟ้าดีเซลกลับใช้งบประมาณสูงใกล้เคียงกับระบบสายเคเบิลใต้น้ำเลย
ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงความมั่นคงและความยั่งยืนในการจ่ายไฟ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ระบบสายเคเบิลใต้น้ำมีความมั่นคงในการจ่ายไฟสูง สามารถรองรับการจ่ายไฟได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังรองรับปริมาณการใช้ไฟที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุก ๆ ปีได้มากกว่า 30 ปีตามระยะเวลาโครงการ ที่สำคัญการอยู่ใต้น้ำจึงไม่ทำลายทัศนียภาพทางธรรมชาติ และไม่กระทบกับพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชายเลน และการเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา และไม่ส่งผลกระทบต่อการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เป็นทางออกที่ลงตัวชื่นมื่นกันทุกฝ่าย
ในที่สุด โครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะปันหยีได้แล้วเสร็จ พ.ศ. 2565 โดย PEA ได้ส่งทีมตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในอาคารลงพื้นที่พบปะกับชาวเกาะปันหยี เพื่อให้คำแนะนำการใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย และตรวจสอบมาตรฐานการติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานของ PEA
ความเดือดร้อนจากภาระค่าไฟที่สูงมานานหลายสิบปีของชาวเกาะปันหยีได้รับการแก้ไขดูแลแล้ว ไม่เพียงเป็นการแบ่งเบาค่าใช้จ่าย ยังทำให้ชาวเกาะปันหยีทุกคนสุขใจ และอุ่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แม้ในทะเลที่ห่างไกล PEA ยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน