Grid Brief

  • เศษหนังจากโรงงานตัดเย็บเครื่องหนังในเมืองไทยมีมากถึง 10,000 ตันต่อปี ซึ่งกำจัดด้วยการเผาและการฝังกลบที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทนและสารพิษปนเปื้อนในดินและน้ำ
  • THAIS คือแบรนด์ไทยที่คิดค้นนวัตกรรม ‘Regenesis Process’ ทำให้ได้แผ่นหนังรีไซเคิลลายสวยสีแปลกตาที่นำไปทำข้าวของเครื่องใช้ในบ้านและชีวิตประจำวันได้ตั้งแต่กระเป๋าจนถึงโซฟา
  • หนังรีไซเคิลช่วยชุบชีวิตใหม่ให้ขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกระจายรายได้แก่ชุมชน โดยมีกระบวนผลิตที่ลดการใช้พลังงานและปลอดสารเคมี

THAIS แบรนด์ไทยที่สร้างนวัตกรรมรีไซเคิลที่คว้ารางวัลชนะเลิศเทคโนโลยีสะอาด ปี 2563 จากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ United Nation Industrial Development Organization  (UNIDO)ซึ่งแผ่นหนังรีไซเคิลที่ผลิตได้นำมาทำได้หลายอย่าง ตั้งแต่กระเป๋า เคสโทรศัพท์ ซองใส่ไอแพด แผ่นรองจาน ไปจนถึงนำใส่กรอบเพื่อประดับบ้าน 

คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูลและคุณพัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล ผู้ร่วมกันก่อตั้ง THAIS แบรนด์ของคนรักหนังที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง โดยใช้นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเองเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในโลก ทั้งยังเป็นแบรนด์เดียวในโลกที่ใช้หนังรีไซเคิล 100%

Credit: thais-ecoleathers.com

เศษหนังมาจากไหน

จุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็นนวัตกรรมแผ่นหนังรีไซเคิลเกิดจากความรักและความสนใจในหนัง (ที่ไม่ใช่ภาพยนตร์) แต่หมายถึงหนังสัตว์ที่ทั้งสองตระเวนเลือกซื้อ แล้วใช้ไอเดียสร้างสรรค์เป็นข้าวของเครื่องใช้แฮนด์เมด ทำแจกจ่ายคนใกล้ตัว 

ผ่านไปหลายปี หันมองรอบกายอีกที ในห้องเวิร์กช็อปทำเครื่องหนังเต็มไปด้วยเศษหนัง ทำให้รู้สึกเสียดายที่เศษหนังจากแผ่นหนังราคาค่อนข้างสูง จะกลายเป็นขยะที่ไร้ค่า

พลอยให้นึกสงสัยว่าในบ้านเรามีเศษหนังมากน้อยแค่ไหน  

ความยากรู้ทำให้พวกเขาตามหาคำตอบจนไปถึงบ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการบนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ซึ่งมีเศษหนังกองสูงเป็นภูเขา หากนับเฉพาะแต่เศษหนังจากโรงงานตัดเย็บในประเทศไทย ยังไม่รวมเศษหนังจากโรงฟอกหนัง ก็มีปริมาณมากถึง 10,000 ตันต่อปี ถ้านึกไม่ออกว่ามากขนาดไหน ให้ลองนึกว่าหากนำเศษหนังมาใส่ถุงแล้ววางเรียงซ้อนกันจะได้ความสูงเท่ากับตึกคิงเพาเวอร์ มหานคร ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศ ได้ถึง 6 ตึก หรือถ้าวางเรียงบนพื้นจะได้เท่ากับสนามฟุตบอล 12 สนาม  

หนังรีไซเคิลช่วยชุบชีวิตใหม่ให้ขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกระจายรายได้แก่ชุมชน โดยมีกระบวนผลิตที่ลดการใช้พลังงานและปลอดสารเคมี

วิธีกำจัดเศษหนังที่ทั่วโลกใช้อยู่มี 2 แบบ วิธีแรกคือการเผา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและยังทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เศษหนังที่ถูกกำจัดวิธีนี้คิดเป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเศษหนังอีก 90 เปอร์เซ็นต์ถูกนำไปทิ้งให้ทับถมกันเป็นภูเขาอยู่ตามบ่อขยะ ทำให้สารพิษจากเศษหนัง เช่น โครเมียมที่เกิดจากกระบวนการฟอกหนัง จะปนเปื้อนอยู่ในชั้นน้ำใต้ดิน อีกทั้งโครเมียมยังเป็นโลหะหนักที่ย่อยสลายไม่ได้ ส่วนแผ่นหนังก็จัดว่าเป็นวัตถุอินทรีย์ซึ่งเมื่อย่อยสลายแล้วจะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน 

โรงงานตัดเย็บเครื่องหนังในเมืองไทยยังต้องเสียเงินค่าขนขยะเศษหนังไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ ขั้นต่ำปีละ 36 ล้านบาท เฉลี่ยกิโลตันละกว่า 6,000 บาท โดยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากเศษหนังทั้งประเทศรวมกัน เทียบได้กับการขับรถยนต์จากอำเภอเบตงที่อยู่ใต้สุดของประเทศไปอำเภอแม่สายที่อยู่เหนือสุดได้ถึง 63,616 รอบ หรือเท่ากับการชาร์จโทรศัพท์ประมาณ 4 แสนล้านเครื่อง 

Credit: thais-ecoleathers.com

ชีวิตที่สองของเศษหนัง

กว่าจะสำเร็จเป็นแบรนด์ THAIS ในปี 2561 นวัตกรรม ‘Regenesis Process’ ใช้เวลาทดลองในห้องแล็บอยู่ราว ๆ 2 ปี  

จนสามารถรีไซเคิลเศษหนังให้กลายเป็นแผ่นหนังรีไซเคิลที่นำกลับมาใช้ได้ โดยเปิดรับเศษหนังจากโรงงานต่าง ๆ ทั้งจากโรงงานในประเทศและต่างประเทศ จากนั้นจะคัดแยกเศษหนังตามสี แล้วนำไปทำความสะอาด เพื่อดึงความชื้นในหนังออก จากนั้นนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่น เคลือบผิวให้หนังเพื่อให้คงทนและทนทานต่อกรดด่าง ก็จะกลายเป็นหนังรีไซเคิลผืนใหม่ที่รีไซเคิลจากเศษหนัง 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้สารเคมี 0 เปอร์เซ็นต์ ใช้พลังงานไฟฟ้าลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ 

นับตั้งแต่มีแบรนด์ THAIS ขึ้น ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 60 ตันแล้ว ส่วนแผ่นหนังที่ผลิตได้เป็นมูลค่ากว่า 36 ล้านบาท ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากการนำเศษหนังไปทิ้งที่หลุมฝังกลบได้ 187 ตัน เทียบเท่ากับการขับรถจากเบตง-แม่สาย 80 รอบ และช่วยผู้ประกอบการโรงงานตัดเย็บเครื่องหนังในการลดค่าใช้จ่ายการขนส่งเศษหนังไปกำจัดได้ถึง 700,000 บาท นับจากจากปี 2563-2564 และช่วยกระจายรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ระยอง ชลบุรีและจังหวัดอื่น ๆ กว่า 70 ครอบครัว ซึ่งบางกลุ่มมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกรที่มีช่วงว่างจากการทำไร่นา ก็ได้งานตัดเย็บกระเป๋าของ THAIS เข้ามาเป็นรายได้เสริมและช่วยสร้างทักษะใหม่ ๆ ให้ตนเอง 

ที่สำคัญนวัตกรรม Regenesis Process ยังคว้ารางวัลทั้งระดับชาติและระดับสากล  ได้แก่ รางวัลชนะเลิศจาก องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ซึ่งให้ทุนสนับสนุน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐแก่เทคโนโลยีที่แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและประชากรในระดับโลกได้ ทั้งยังต้องเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดในแง่ธุรกิจได้อีกด้วย โดยตั้งแต่ก่อตั้งรางวัลนี้มา 12 ปี มีการจัดการประกวด 4 ปีครั้ง มีบริษัท 3 แห่งในโลกเท่านั้นที่ได้รางวัลชนะเลิศนี้ และ THAIS ก็เป็นหนึ่งในนั้น 

Credit: thais-ecoleathers.com

เศษหนังจากโรงงานตัดเย็บเครื่องหนังในเมืองไทยมีมากถึง 10,000 ตันต่อปี ซึ่งกำจัดด้วยการเผาและการฝังกลบที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทนและสารพิษปนเปื้อนในดินและน้ำ

หนังรีไซเคิลที่ได้นำไปทำอะไรได้บ้าง?

ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ THAIS คือกระเป๋า อาทิ Ultralight Tote กระเป๋าทรงถุงช้อปปิ้ง ก้นลึก จุของมาก น้ำหนักเบาแต่แข็งแรง หรือกระเป๋าทรงกล่องประดับหมุดที่โชว์สีสันและลวดลายบนแผ่นหนัง 

หนังรีไซเคิลยังนำไปทำเคสหรือซองใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สารพัดชนิด ตั้งแต่โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต จนถึงสมาร์ตโฟน ส่วนแผ่นหนังแบบเคลือบกันน้ำก็นำไปทำของใช้ ของแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ได้ อาทิ แผ่นรองจาน แผ่นรองแก้ว พนักพิงหลังหรือพนักวางแขนโซฟา โคมไฟไปจนถึงผิวหน้าโต๊ะ 

Credit: thais-ecoleathers.com

ถ้าเป็นแผ่นหนังแท้ หากอยากได้สีสันในแผ่นเดียว ก็ต้องใช้เทคนิคแพตช์เวิร์ก (Patchwork) หรือศิลปะการต่อผ้า โดยใช้หนังชิ้นเล็ก ๆ มาเย็บต่อกัน แต่หนังรีไซเคิลนั้นสามารถผสมสีหรือใส่ลวดลายหลากหลายไว้ในหนังผืนเดียวกัน จึงเหมาะนำไปประดับผนังหรือใส่กรอบแทน ภาพก็จะดูไม่ต่างจากงานศิลปะแนวแอ็บสแตรกต์แต่อย่างใด ที่สำคัญไม่ซ้ำใครแน่นอน

THAIS หนึ่งแบรนด์ทว่าช่วยลดขยะเศษหนัง 60 ตัน ลดน้ำเสียและการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ 7,000 ลูกบาศก์เมตร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 132 ตันและลดการปล่อยก๊าซมีเทน 48 ตัน          

ที่สำคัญเป็นนวัตกรรมซึ่งคนไทยคิด คนไทยทำ เพื่อให้คนทั้งโลกได้ใช้