Grid Brief

  • สวีเดนเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่เป็นผู้นำในการใช้พลังงานสะอาด ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
  • นอกจากนี้ ภาครัฐของสวีเดนยังมีมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ในการใช้พลังงานสีเขียว เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน อุดหนุนการลงทุนที่เน้นพลังงานชีวภาพและพลังงานลม และการออกใบรับรองซื้อขายพลังงานสะอาด
  • ทั้งหมดเพื่อเป้าหมายการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2583 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเหลือศูนย์ภายในปี 2588

เมื่อเอ่ยถึง ‘สวีเดน’ ผู้คนมักนึกถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นต้นแบบของรัฐสวัสดิการ และติดอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรวมแบรนด์ดัง ทั้งอิเกีย (Ikea) H&M วอลโว่ (Volvo) แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าสวีเดนโดดเด่นในด้านพลังงานสะอาดติดอันดับประเทศผู้นำโลกด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และเป็นประเทศผู้นำในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) จากผลงานในการผลิตพลังงานหมุนเวียน 60 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตพลังงานทั้งหมด เมื่อปี 2564

ส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในสวีเดนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆโดยเมื่อปี 2555 สวีเดนบรรลุเป้าหมายในการใช้พลังงาน

หมุนเวียนได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 8 ปี ขณะที่รัฐบาลสวีเดนตั้งเป้าจะผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2583 และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเหลือศูนย์ภายในปี 2588

Credit: trec.on.ca

ผู้นำโลกด้านพลังงานสะอาด

ดัชนีการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition Index-ETI) ที่จัดทำโดย World Economic Forum ปี 2564 จัดให้สวีเดนอยู่ในอันดับ 1 จากทั้งหมด 115 ประเทศที่มีการประเมินผลการดำเนินงานเกี่ยวกับความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพลังงาน และเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ตามด้วยนอร์เวย์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ที่มีชื่อใน 5 ลำดับแรก

โดยมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่มีการติดตามข้อมูล มีความคืบหน้าในการเข้าถึงพลังงานและความมั่นคงทางพลังงาน แต่มีเพียง 13 จาก 115 ประเทศที่มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เชื้อเพลิงจากฟอสซิลยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่มีการใช้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 81 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานทั้งหมดเมื่อปี 2561

ที่จริงแล้วสวีเดนบริโภคพลังงานในระดับที่สูง โดยมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ใช้พลังงานต่อหัวมากกว่าสวีเดน แต่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของสวีเดนกลับอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยสถิติของธนาคารโลก พบว่า ชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าชาวสวีเดนโดยเฉลี่ยเกือบ 4 เท่าต่อปี

Credit: Vestas

หลากหลายพลังงานสีเขียว

เหตุผลที่ทำให้สวีเดนมีอัตราการปล่อยมลพิษต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานน้ำ 43 เปอร์เซ็นต์ จากพลังงานนิวเคลียร์ 31 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 16 เปอร์เซ็นต์มาจากพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHP) มีสัดส่วนประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นแหล่งเชื้อเพลิง

แหล่งเชื้อเพลิงชีวภาพใหญ่สุดมาจากป่าไม้ที่มีพื้นที่ 69 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ซึ่งเชื้อเพลิงชีวภาพถูกใช้ในการทำความร้อน ทั้งสำหรับใช้ในบ้านเรือน รวมถึงการผลิตไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่พลังงานลมนับเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เติบโตเร็วที่สุดทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงในสวีเดน โดยเมื่อปี 2543 การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมอยู่ที่ 0.5 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) จนถึงปี 2564 เพิ่มเป็น 27.4 เทราวัตต์ชั่วโมง และปัจจุบันสวีเดนมีกังหันลมมากกว่า 4,300 ตัว

สำหรับพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก แม้รัฐบาลมีการส่งเสริม แต่อาจยังมีข้อจำกัด อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีสัดส่วนประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้ รวมถึงพลังงานจากคลื่นในทะเลและมหาสมุทร (Wave Power) ยังต้องพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไป

Credit: windeurope.org

ภารกิจ ‘สีเขียว’ ที่ไม่เคยหยุด

สวีเดนตระหนักถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนก่อนหลาย ๆ ประเทศ โดยเริ่มโครงการวิจัยด้านพลังงานตั้งแต่ปี 2518 เพื่อรับมือกับวิกฤตน้ำมันโลกครั้งแรก จากนั้นก็ทยอยออกมาตรการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีคาร์บอนตั้งแต่ปี 2534 นอกจากนี้ ภาครัฐยังอุดหนุนการลงทุนที่เน้นพลังงานชีวภาพและพลังงานลม ขณะเดียวกันก็มีกลไกการออกใบรับรองซื้อขายพลังงานสะอาด (Electricity Certicate System) ในปี 2546 ซึ่งผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

การออกใบรับรองดังกล่าวใช้กลไกตลาดในการผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะได้รับใบรับรอง ซึ่งสามารถขายแลกเงินได้ และการผลิตไฟฟ้าต้องมาจากพลังงานลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ พลังงานคลื่น เชื้อเพลิงชีวภาพ และพลังงานน้ำเท่านั้น

ส่วนผู้ค้าปลีกไฟฟ้าจำเป็นต้องซื้อ ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ เป็นส่วนหนึ่งของการจ่ายไฟตามปกติ และภาครัฐยังเปิดให้ชาวสวีเดนเลือกซัพพลายเออร์พลังงานได้เอง ซึ่งมีบริษัทมากถึง 140 แห่งที่ขายไฟฟ้าให้ประชาชน นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดที่แสดงให้เห็นว่าอาคารแต่ละแห่งใช้พลังงานมากเพียงใด เมื่อเทียบกับอาคารอื่น ๆ

อีกแนวคิดที่สำคัญในการขับเคลื่อนสวีเดนสู่ผู้นำพลังงานสะอาด คือ ‘โปรซูเมอร์’ (Prosumer) หรือ การเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตไฟฟ้าในคนเดียวกัน ตัวอย่างในเมือง ‘ลุดวิกา’ (Ludvika) ที่แฟลตในยุค 2513 ถูกปรับปรุงให้ใช้เทคโนโลยีพลังงานอัจฉริยะ ทั้งแผงโซลาร์เซลล์ ระบบกักเก็บพลังงานความร้อน และปั๊มความร้อนที่เชื่อมโยงในระบบจ่ายไฟขนาดเล็ก เมื่อรวมกลุ่มอาคารแบบนี้เข้าด้วยกัน ทำให้สามารถผลิตพลังงานเกินความต้องการใช้ถึง 77 เปอร์เซ็นต์ และโมเดลดังกล่าวกลายเป็นต้นแบบที่แพร่หลาย

การเริ่มต้นเร็ว บวกกับความจริงจังและสม่ำเสมอ ทำให้สวีเดนยืนอยู่แถวหน้าของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ที่จะเปลี่ยนสู่โลกยุคใหม่ที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

รูปโดย: iea-wind.org