การออมเงิน การลงทุน หรือแม้แต่การทำรายรับรายจ่าย อาจเป็นเรื่องซ้ำเดิมที่ใคร ๆ ต่างกล่าวถึงกันเสมอนั่นเพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานการสร้างความมั่นคงทางการเงินของทุกคนอย่างแท้จริง เมื่อกลางปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่า คนไทยส่วนใหญ่มีเงินเก็บอยู่ในบัญชีไม่ถึง 5,000 บาท ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในขณะที่รายรับยังเท่าเดิม แต่อีกส่วนอาจเป็นเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ให้ทุกคนมีความเข้าใจที่ตรงกัน ฉะนั้น เราลองมาดู 4 เหตุการณ์หลักที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงินของทุกคนไว้เป็นบทเรียน แนวทางหรือประสบการณ์ในเตรียมตัวสำหรับบริหารสินทรัพย์ตัวเองในปีนี้ที่อาจจะอ่อนไหวและเปราะบางมากกว่านี้

และจะลดลงไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีการนำไปลงทุน แต่เป็นหน้าที่ทุกคนที่ต้องศึกษา วางแผน และมีวินัยกับตัวเองให้มาก ๆ ในการตัดสินใจเลือกลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง

1. เงินสดยังจำเป็นเสมอ
การที่รัสเซียเปิดฉากโจมตีประเทศยูเครนทำให้โลกต้องตะลึง เพราะหลายคนเคยเชื่อว่าสงครามโดยใช้ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้นแล้วในยุคนี้ หากเราลองจินตนาการว่า ตัวเองอยู่ในประเทศคู่สงครามและได้รับผลกระทบโดยตรง สินทรัพย์ประเภทไหนจำเป็นที่สุดสำหรับเรา คำตอบคือเงินสดโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของสงคราม เพราะเป็นสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าได้ทันที เช่น ซื้อของตุน หรือย้ายที่อยู่ระหว่างเกิดสงคราม อย่างไรก็ตาม หากสงครามกินเวลายืดเยื้อมาก เงินสดที่เราถืออาจมีมูลค่าลดลง แต่ก็ถือว่ายังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับดีกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน หุ้น รถยนต์ หรือแม้กระทั่งของสะสมที่อาจถูกทำลายได้ในระหว่างสงคราม ฉะนั้น การมีเงินสดติดตัวไว้อุ่นใจกว่า

2. การลงทุนมีความเสี่ยง
ปี 2565 อาจเป็นฝันร้ายของนักลงทุนเหรียญดิจิทัลที่ต้องขาดทุนหรือติดดอยไปกับความผันผวนของกระดานคริปโตเคอร์เรนซี หลัง Fed ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 เหรียญ LUNA และ UST ร่วงจนหามูลค่าเกือบไม่เจอ หรือเหตุการณ์ที่ผู้ให้บริการอย่าง FTX ยื่นขอล้มละลายต่อศาล ส่งผลให้ตลาดคริปโตฯ เหมือนไฟไหม้บ้าน ใครลุกเร็วก็รอด ใครหวังจะเข้าไปช้อนตอนร่วงก็เจ็บกว่าเดิม ผู้เสียหายหลายคนหมดตัว เพราะทุ่มเทให้กับสกุลเงินคริปโตฯ อย่างเดียวแบบไม่เผื่อใจ ในขณะที่นักการเงินหลายสำนักสรุปออกมาตรงกันแล้วว่า การลดความเสี่ยงยังคเป็นการกระจายการลงทุนในหลากหลายช่องทาง ในวันที่คริปโตฯ หรือกองทุนติดลบ อาจยังมีทองคำ หุ้น หรือสลากออมสินที่พอจะทำกำไรอยู่บ้าง


3. เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 14 ปี
รู้ไหมว่า ราคาทองคำในปี พ.ศ. 2540 มีมูลค่า 4,869 บาท ในขณะที่เงินเดือนขั้นต่ำในปี พ.ศ. 2565 อาจซื้อทองได้เพียง 2 สลึงและไม่มีเงินให้เหลือเก็บสักบาท นั่นเป็นภาวะที่เรียกว่า เงินเฟ้อ ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี ส่งผลให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อประเทศไทยทะยานไปถึง 7.68% นั่นหมายความว่ามูลค่าเงินสดของเราจะลดลง ถ้าปล่อยไว้เฉย ๆ และจะลดลงไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีการนำไปลงทุน แต่เป็นหน้าที่ทุกคนที่ต้องศึกษา วางแผน และมีวินัยกับตัวเองให้มาก ๆ ในการตัดสินใจเลือกลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง

4. สร้างมูลค่าให้ตัวเอง
ปี 2565 หลายธุรกิจยังคงปรับตัว เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอด 2 ปีก่อนหน้านั้น หลายบริษัทปรับลดจำนวนพนักงาน บางที่เปลี่ยนวิธีการทำงานเป็นการทำงานจากบ้านสลับกับการเข้าออฟฟิศ ลองคิดดูสิว่าถ้าเราอายุ 45 ปี ถูกเลิกจ้าง แม้มีเงินชดเชยจำนวนหนึ่งตามกฎหมายแรงงาน แต่ด้วยภาระความรับผิดชอบที่มีอยู่เต็มมือ อยากสมัครงานใหม่ก็มีโอกาสน้อยมาก เมื่อเทียบฐานเงินเดือนตัวเองกับความสามารถของเด็กรุ่นใหม่ ฉะนั้น การสร้างมูลค่าให้ตัวเองจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ทั้งการเพิ่มทักษะทางสังคม เช่น การสื่อสาร การปรับตัว การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และการเพิ่มทักษะอาชีพที่ต่อยอดมาจากสายงานเดิม เช่น ใช้เครื่องมือดิจิทัลมาช่วยทำบัญชี หรือใช้ภาษาต่างประเทศในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น มูลค่าเพิ่มเหล่านี้จะติดตัวอยู่กับเราไปตลอดชีวิต และลดความเสี่ยงทางการเงินได้ ตราบใดที่ตลาดแรงงานยังต้องการเราอยู่

แน่นอนว่ายังมีเหตุการณ์และวิกฤตอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในปี 2565 แต่ทุกปัญหามีทางออกเสมอ แต่ต้องยอมรับความจริงเมื่อปัญหาเกิดขึ้น และถ้าพิจารณาให้ดี ทั้งโรคระบาด สงคราม การเลิกจ้างครั้งใหญ่ ล้วนเคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งนั้น สิ่งที่อยากเน้นย้ำอีกครั้งในเรื่องการเงินก็คือพื้นฐานและวินัยในการใช้ชีวิต เราทุกคนรู้ดีว่าชีวิตมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง ปัจจัยที่ควบคุมได้คืออะไร อย่าลืมตั้งเป้าหมายเพื่อให้ยังมีเงินใช้ในวันที่หยุดทำงาน

ขอแค่เปิดใจเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อชีวิตที่มั่นคงของตัวเอง