Grid Brief

  • นอกจาก กฟภ.ให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศแล้ว ยังมีภารกิจในการก่อสร้างและบำรุงรักษาระบบสายส่งจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้การบริการมีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
  • นวัตกรรมโครงเหล็กรองรับชุดเข้าปลายสายสำหรับเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี ช่วยปรับขนาดโครงสร้างของเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควีให้เล็กลง
  • มีการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมโครงเหล็กรองรับชุดเข้าปลายสายสำหรับเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี (Cable Termination Steel support for 115 kV Riser Pole) และได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมทั้งระดับภายในองค์กรและภายนอกองค์กร

งานก่อสร้างและบำรุงรักษาระบบสายส่งจำหน่ายไฟฟ้า เป็นภารกิจที่สอดคล้องกับภารกิจหลักของ กฟภ. นั่นคือ “การจัดหา ให้บริการพลังงานไฟฟ้า ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจทั้งด้านคุณภาพและบริการ โดยการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” 

ดังนั้น เพื่อให้งานก่อสร้างและบำรุงรักษาระบบสายส่งจำหน่ายไฟฟ้า สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจทั้งด้านคุณภาพและบริการได้ดียิ่งขึ้น กฟภ. จึงมีการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของอุปกรณ์ในระบบสายส่งจำหน่ายไฟฟ้าอยู่อย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์หนึ่งที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในระบบสายส่งจำหน่ายไฟฟ้า คือ “เสาไฟฟ้า” จะเห็นได้ว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน กฟภ. ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงเสาไฟฟ้า ให้มีมาตรฐานที่คงทน แข็งแรง มีคุณภาพที่ดี และเหมาะสมต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผู้บริหารให้ความสำคัญ และให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก 

เสาไฟฟ้าประเภทหนึ่งที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ “เสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี” (Cable for 115 kV Riser Pole) ที่มักจะใช้ติดตั้งเพื่อหลบสาธารณูปโภคอื่น เช่น หลบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือต้องลอดใต้ถนนทางหลวงยกระดับที่ระยะห่างระหว่างสายไฟฟ้ากับผิวจราจรไม่เพียงพอ เป็นต้น หรือใช้เป็นเสาไฟฟ้าที่ใช้งานรองรับ ณ จุดสิ้นสุดของการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดินและต่อเชื่อมเข้ากับสายไฟฟ้าระบบเหนือดินที่เป็นสายเปลือยหรือสายหุ้มฉนวน โดยลักษณะของเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี จะเป็นลักษณะเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 เสา รองรับสายเคเบิลใต้ดินที่เชื่อมขึ้นมาจากพื้นดินทั้งหมด 6 สาย ใน 1 จุด จะมีเสาลักษณะเช่นนี้อยู่ 2 ฝั่ง (ฝั่งตรงกันข้าม) ซึ่งโครงสร้างเสาในแต่ละฝั่งเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ทำให้บดบังทัศนวิสัยโดยรอบ ดังภาพที่ 1

เสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี (Cable for 115 kV Riser Pole) ในรูปแบบเดิมที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่

การใช้งานเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควีที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่นี้ โดยมากจะตั้งในบริเวณพื้นที่ของตัวเมือง เพื่อรองรับการใช้งานสายเคเบิลใต้ดิน ทำให้บ่อยครั้งจุดที่ต้องวางเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควีดังกล่าว จะเป็นจุดที่จะไปบดบังทัศนวิสัยของบรรยากาศสภาพบ้านเมืองโดยรอบ ส่งผลต่อความพึงพอใจเชิงลบของของลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้า และสังคมโดยรอบ

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ทำให้ กฟภ.ได้วิเคราะห์เสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี (Cable for 115 kV Riser Pole) ในรูปแบบเดิมที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ (ตามแบบมาตรฐานเดิม) และได้มีการดำเนินการ 3 ขั้นตอน ดังนี้

มีการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมโครงเหล็กรองรับชุดเข้าปลายสายสำหรับเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี (Cable Termination Steel support for 115 kV Riser Pole) และได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมทั้งระดับภายในองค์กรและภายนอกองค์กร

1. จัดทำ Design Concept โดย กฟภ. ที่ต้องการลดโครงสร้างเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควีให้เล็กลง และก่อสร้างได้ในพื้นที่จำกัด ขั้นตอนนี้มีการระดมความคิดเห็นจากทั้งผู้บริหาร พนักงาน และผู้เชี่ยวชาญ พบว่า หากมีการปรับวัสดุโครงเหล็กรองรับสายเคเบิลที่ติดตั้งอยู่บนเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี ให้สามารถรองรับสายใต้ดินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์บางส่วนให้มีน้ำหนักน้อยลง น่าจะปรับขนาดโครงสร้างของเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควีให้เล็กลงได้ จึงคิดค้นเป็นนวัตกรรม “โครงเหล็กรองรับชุดเข้าปลายสายสำหรับเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี (Cable Termination Steel support for 115 kV Riser Pole)” โดยลักษณะของนวัตกรรมจะมีลักษณะดังภาพ

นวัตกรรมโครงเหล็กรองรับชุดเข้าปลายสายสำหรับเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี (Cable Termination Steel support for 115 kV Riser Pole)

2. จัดทำ Engineering Analysis โดย กฟภ. ได้ดำเนินการนำนวัตกรรม “โครงเหล็กรองรับชุดเข้าปลายสายสำหรับเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี (Cable Termination Steel support for 115 kV Riser Pole)” ไปทดลองร่างแบบเป็น “เสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี” ในรูปแบบใหม่ เพื่อนำไปคำนวณและวิเคราะห์โครงสร้างว่าสามารถรับแรงดึงสาย รับน้ำหนักอุปกรณ์ไฟฟ้า และระยะห่างความปลอดภัยด้านไฟฟ้าได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองว่า สามารถนำไปประกอบติดตั้งใช้งานได้ และมีความปลอดภัยในการใช้งานไม่น้อยกว่า “เสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี” ในรูปแบบเดิม


3. การจัดทำ Construction ในขั้นตอนก่อสร้าง สามารถก่อสร้างได้ตามรูปแบบและรายการที่ผ่านการรับรองแล้ว ซึ่งเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงสร้างใหม่นี้ก็สามารถใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพ และถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ตามการดีไซน์ไว้ตั้งแต่เบื้องต้น

โดยเป็นนวัตกรรมที่ออกแบบพัฒนาโครงเหล็กเพื่อรองรับชุดเข้าปลายสายเคเบิลแบบไม่ใช้น้ำมัน ซึ่งชุดนวัตกรรมโครงเหล็ก 1 ชุด สามารถรองรับสายเคเบิลใต้ดินได้ถึง 2 สาย ทำให้การก่อสร้างเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี จากเดิมที่ต้องใช้เสาไฟฟ้า 2 เสา เพื่อรองรับสายเคเบิลใต้ดิน 6 สาย แต่เมื่อนำโครงเหล็กนี้ไปติดตั้ง 3 ชุด ต่อ 1 เสาไฟฟ้า ก็ทำให้เสาไฟฟ้าเพียง 1 เสา สามารถรองรับสายเคเบิลใต้ดินได้ถึง 6 สาย ทำให้การก่อสร้างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การนำนวัตกรรมชิ้นนี้ไปใช้งาน จะทำให้โครงสร้างรองรับอุปกรณ์ไฟฟ้ามีขนาดเล็กลง ทำให้สามารถดำเนินการก่อสร้างเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควีได้ง่ายขึ้น ประหยัดระยะเวลาในการดำเนินงาน มีน้ำหนักของโครงสร้างและอุปกรณ์ประกอบติดตั้งต่างๆ บนเสาไฟฟ้าน้อยลง มีความมั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัยทั้งด้านโครงสร้างและด้านระบบไฟฟ้า และมีคุณลักษณะพิเศษคือก่อสร้างได้ในพื้นที่จำกัด ลักษณะของเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควีรูปแบบใหม่หลังจากใช้นวัตกรรมแล้วสามารถอ้างอิงได้ดังภาพ


“เสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี” (Cable for 115 kV Riser Pole) ในรูปแบบใหม่ หลังจากใช้นวัตกรรม ทำให้มีโครงสร้างขนาดเล็กลง

นวัตกรรม “โครงเหล็กรองรับชุดเข้าปลายสายสำหรับเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี (Cable Termination Steel support for 115 kV Riser Pole)”

ปัจจุบันนวัตกรรม “โครงเหล็กรองรับชุดเข้าปลายสายสำหรับเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี (Cable Termination Steel support for 115 kV Riser Pole)” ได้มีการทดสอบคุณสมบัติความคงทนแข็งแรง และจัดทำเป็นแบบมาตรฐานของ กฟภ. ส่งผลให้การก่อสร้าง “เสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี” (Cable for 115 kV Riser Pole) ในอนาคตจะเป็นการติดตั้งเสาในรูปแบบใหม่นี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังได้นำไปยื่นขอจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เลขที่คำขอ 2002005744 เรียบร้อยแล้ว ทำให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนนี้อีกด้วย

นอกจากนี้ นวัตกรรม “โครงเหล็กรองรับชุดเข้าปลายสายสำหรับเสาขึ้นสายเคเบิลใต้ดินระบบ 115 เควี (Cable Termination Steel support for 115 kV Riser Pole)” ยังได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมทั้งระดับภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ดังนี้

รางวัลภายในองค์กร

  • รางวัลระดับเหรียญทอง – การประกวดนวัตกรรม กฟภ. ประจำปี 2563

รางวัลภายนอกองค์กร

  • รางวัลระดับเหรียญทอง – การประกวดนวัตกรรมเวทีระดับนานาชาติ “The 2022 Japan Design, Idea and Invention Expo (JDIE 2022)” ณ เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น (รูปแบบออนไลน์)
  • รางวัลระดับเหรียญเงินและรางวัลพิเศษ – การประกวดนวัตกรรมเวทีระดับนานาชาติ “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ข้อมูลโดย แผนกแผนงานและประเมินผลนวัตกรรม กองนวัตกรรม