ดูเหมือนการใช้ไฟฟ้า จากเดิมที่ใช้กับตู้เย็น เตารีด หม้อหุงข้าว และทีวี ได้พัฒนาก้าวไกลไปสู่การใช้งานอื่นๆ กว่าที่เคยเป็น…เป็นอย่างมาก
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) รับผิดชอบในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่พื้นที่ 74 จังหวัดทั่วประเทศ ในพื้นที่อันกว้างใหญ่กว่า 510,000 ตารางกิโลเมตรจึงได้วางแผนการดำเนินการต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าให้ทันต่อความคาดหวังของสังคม หากกล่าวเฉพาะเกาะสมุยเพียงเกาะเดียวที่มีประชากรอาศัยกันอยู่ราว 7 หมื่นคน แต่กลับมีนักท่องเที่ยวมาเยือนและพักแรมปีละไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน การใช้ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเกาะแห่งนี้ จึงต้องมีการวางสายเคเบิลใต้น้ำจากชายฝั่งถึง 4 เส้น แต่ละเส้นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร เงินลงทุนรวมหลายพันล้านบาท นี่ยังไม่นับการปักเสา เดินสายไฟฟ้า บุกป่าฝ่าดงของ PEA ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศทั้ง 74 จังหวัด ที่ถึงวันนี้มีระยะทางของสายไฟฟ้ารวมกันถึง 8 แสนกิโลเมตร ซึ่งสามารถพันรอบโลกใบนี้ได้ถึง 20 รอบ
เพื่อขยายเขตระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และนี่คือหนึ่งในเรื่องจริงของอดีตเด็กน้อยๆ คนหนึ่งที่อยากบอกเล่าให้คนรุ่นหลังรับรู้
ฉันเป็นเด็กบ้านนอก หมู่บ้านของฉันอยู่ห่างไกล บ้านของเราหุงข้าวด้วยไม้ฟืน รีดผ้าด้วยเตารีดใส่ถ่าน เวลาค่ำจะจุดตะเกียงใส่น้ำมันก๊าด ช่วงที่มีงานสำคัญๆ มีคนมาที่บ้านมากมายก็จะไปยืมตะเกียงเจ้าพายุมาจากบ้านคุณตา เรานอนกันตอนหัวค่ำ ความบันเทิงที่พอจะมีบ้าง ก็คือฟังข่าว ฟังเพลง ละครจากวิทยุทรานซิสเตอร์ที่ใช้ถ่านไฟฉาย ฉันมีน้าเรียนหนังสือในเมือง เราจะเขียนจดหมายถึงกัน น้าเล่าให้ฟังว่าได้ดูโทรทัศน์ ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องแก้วหน้าม้า ฉันบอกให้น้าเขียนจดหมายเล่าให้ฟังบ้าง ฉันรู้สึกสนุกและอยากดูโทรทัศน์บ้าง
ต่อมาไม่นาน ที่บ้านกำนันก็ซื้อโทรทัศน์มาใช้เครื่องปั่นไฟ ถ้าใครจะดูละครหรือมวย ก็ต้องเรี่ยไรเงิน จ่ายค่าน้ำมันที่ใส่ในเครื่องปั่นไฟ ฉันขี่จักรยานออกจากบ้านไปดูโทรทัศน์ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ รอคอยว่า.. “เมื่อไหร่ ไฟฟ้าจะเข้ามาในหมู่บ้านของเรา”
รอๆๆๆ รอแล้วรอเล่า
จนกระทั่ง ฉันเรียนชั้น ป.5 เย็นวันนั้น กลับจากโรงเรียน ฉันเห็นคนมาติดตั้งโทรทัศน์ที่บ้าน ฉันดีใจมาก วิ่งไปนอกบ้าน ตะโกนเสียงดังลั่น ด้วยความดีใจว่า…
นี่คือเรื่องจริงของเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่วันนี้เธอคือคุณย่า วัย 55 ปี แต่ ณ ปีนี้ พ.ศ. 2563 ใครจะเชื่อบ้างว่า เรื่องเล่านี้ยังไม่ได้เป็นอดีตหรือเรื่องปรัมปรา แต่ยังคงเป็นเรื่องจริงที่กำลังรอคนมาเล่าต่ออีกครั้งและอีกครั้ง ในอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ดังเช่นที่ ‘บ้านในหลง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา’ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา หมู่บ้านที่น่าหลงใหล ร่วม 30 ปี ที่พวกเขาไม่มีไฟฟ้าใช้ ปี 2563 เป็นปีที่ชาว PEA พร้อมแล้ว ที่จะเข้ามาพูดคุย และบอกข่าวดีกับพวกเขาว่า พวกเขากำลังจะมีไฟฟ้าใช้
เพราะถนนสาธารณะลาดด้วยคอนกรีตอย่างดีที่ทอดตัวไปทั่วทั้งหมู่บ้านก่อสร้างเสร็จแล้ว เส้นทางที่นอกจากจะทำให้ประชาชนในพื้นที่สัญจรไปมาอย่างปลอดภัยและสะดวกรวดเร็ว และยังเป็นเส้นทางที่ทำให้ PEA ใช้ขนส่งเสา สายและอุปกรณ์มาได้ เมื่อมีถนนที่ได้รับการกำหนดให้เป็นที่สาธารณะอย่างชัดเจน ทำให้ PEA กำหนดจุดปักเสาที่ชัดเจนได้ และในอนาคตประชาชนทุกคนจะเข้ามาเชื่อมต่อไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ ตลอดจนเป็นเส้นทางที่อย่างน้อยทุกปี
ปีละครั้งที่ PEA จะใช้ออกตรวจตราระบบไฟฟ้าตามวาระ เพื่อให้มีสภาพที่ดี พร้อมจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ไฟฟ้าดับ ก็จะเป็นเส้นทางที่ PEA ใช้เดินทางในการมาตรวจสอบหาสาเหตุและแก้ไขได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
ในขั้นตอนการสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างระบบไฟฟ้า หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ต้องปักเสาคอนกรีตถึง 321 ต้น แม้จะมีถนนในหมู่บ้านเรียบร้อย แต่ผู้ที่เคยมาเยือน อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ย่อมทราบดีว่า ถนนเส้นนี้เป็นทางที่คดเคี้ยว เพราะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบางลาง สภาพถนนเลาะไหล่เขาที่สร้างขึ้นจึงมีความยากลำบากและใช้เวลานานที่จะขนเสาคอนกรีตถึง 321 ต้นได้ การขนส่งทางเรือจึงน่าจะเป็นหนทางที่รวดเร็วที่สุด ด้วยความมุ่งมั่นและเทคโนโลยีที่เรามี ผนวกกับความร่วมมือของทุกคนในการตัดแต่งต้นไม้ที่ติดแนวถนนที่อาจทำให้ระบบไฟฟ้าขัดข้องได้ ในที่สุดพวกเขาก็ได้มีไฟฟ้าใช้กัน
วันนี้ ความสว่างไสวบังเกิดขึ้นทั่วทั้ง ‘บ้านในหลง’ ถนนในหมู่บ้านที่เคยมืดมิดกลายเป็นสว่างไสว ปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น คืนนี้เป็นคืนแรกที่แสงสว่างจากไฟฟ้าทำให้เขาอาจจะไม่นอน และยังสนุกสนานยามค่ำคืนในบ้านของตัวเองเป็นครั้งแรก หลายคนก็ยังมารวมตัวกันที่บ้านเพื่อนสนิท เพื่อร้องเพลงคาราโอเกะฉลองการมีไฟฟ้าใช้กัน
ต่อจากนี้ไป ชีวิตยามค่ำคืนที่เคยเงียบเหงาในความมืดมิดก็จะมีความสุข ได้ฉลองในโอกาสต่างๆ ตามที่ต้องการ
หลายคนเปิดไลน์คุยผ่านวิดีโอคอลกับญาติที่อยู่ห่างไกล เพราะมีระบบ Wi-Fi ที่เปิดใช้งานในวันนี้ อย่างไม่ต้องกลัวแบตเตอรี่มือถือหมดอีกต่อไปแล้ว ตู้เย็น มีเนื้อและผักสามารถทำอาหารได้ทุกอย่างในเวลาที่ต้องการ ทีวีดาวเทียมรับชมข่าวสารได้ทุกช่องเช่นเดียวกับผู้คนในเมือง คอมพิวเตอร์ แหล่งความรู้ที่ใช้ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ทั้งวันทั้งคืน
ทุกการรอคอยย่อมมีที่สิ้นสุด วันนี้ชาว PEA ได้ทำให้การรอคอยที่ยาวนานถึง 30 ปีของชาวบ้านในหลงเป็นความจริง และพวกเราก็ได้แบ่งปันรอยยิ้ม ความสุข และโอกาสใหม่ของชีวิตที่เราได้เห็นร่วมกัน
เรื่องโดย สุภาพ กสิวงศ์
ภาพโดย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอเบตง