Grid Brief

  • บ้านดินขนาดพื้นที่ใช้สอย 650 ตารางฟุตหลังนี้ ใช้เวลาก่อสร้าง (พิมพ์) เพียง 200 ชั่วโมง
  • คาดว่าจะเป็นเทรนด์บ้านในอนาคต ที่ช่วยลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ทั้งในขณะก่อสร้างและระหว่างที่อยู่อาศัย ในงบที่เอื้อมถึง

ใกล้ๆ เมืองโบโลญญา (Bologna) อิตาลี มีบ้านดินรูปทรงคล้ายรวงรังของตัวต่อขนาดยักษ์ตั้งอยู่ ความพิเศษของบ้านหลังนี้ไม่ได้อยู่แค่การใช้ ‘ดิน ’ ซึ่งเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่นี่คือบ้านต้นแบบที่นำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้กับดิน ! 

เทรนด์การสร้างบ้านในอนาคต?

บ้านหลังนี้รู้จักกันในชื่อ TECLA (มาจากคำว่า Technology กับคำว่า Clay ที่แปลว่าดิน) เป็นผลงานความร่วมมือกันของสองบริษัทได้แก่ บริษัทเครื่องพิมพ์ 3 มิติ WASP กับบริษัทสถาปัตยกรรม Mario Cucinella Architects (MCA) ที่ช่วยกันสานฝันการออกแบบบ้านดินจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติให้เป็นจริงขึ้นมาได้ นอกจากมีสองบริษัทเป็นหัวเรือหลักแล้ว พวกเขายังดึง The School of Sustainability (SOS) ซึ่งเป็นสถาบันที่ฝึกอบรมแก่เหล่าบัณฑิตทั้งหลายเข้ามาร่วมโปรเจกต์นี้ด้วย

บ้าน TECLA คือจุดเริ่มต้นการออกแบบที่อยู่อาศัยแนวใหม่สำหรับอนาคต เพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ 

ทั้งนี้ สถาปนิกจึงต้องเลือกรูปทรงของบ้านให้เหมาะกับภูมิอากาศและภูมิภาคที่ตั้งอยู่ ใส่ใจในองค์ประกอบของวัสดุที่นำมาสร้างบ้านว่าจะช่วยเป็นฉนวนกันความร้อนและทำให้การถ่ายเทอากาศได้ดีแค่ไหน แต่สิ่งที่เป็นเหมือนผลพลอยจากบ้านดินหลังนี้ก็คือ ทำให้ผู้คนได้มีบ้านที่ยั่งยืนในราคาที่เอื้อมถึงได้อีกด้วย


เนรมิตบ้านได้ใน 200 ชั่วโมง

บ้าน TECLA ได้แรงบันดาลใจจากรังของตัวต่อที่ถือเป็นสัตว์นักปั้นดินตัวยง มีลักษณะเป็นทรงโดมสองหลังเชื่อมต่อกัน ซึ่งจากการศึกษาตามหลักนิเวศวิทยานั้น ความโค้งและเส้นริ้วของตัวบ้านจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างได้ขณะที่กำลังพิมพ์ 3 มิติและเมื่อบ้านแล้วเสร็จ ส่วนด้านบนโดมปิดด้วยสกายไลต์ทรงกลมที่ครอบไว้เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาในตัวบ้านในตอนกลางวัน และทำให้เห็นดวงดาวในยามค่ำคืน

ตัวบ้านก่อขึ้นจากการนำดินที่ผสมให้เข้ากันแล้วมาเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งจะพิมพ์ดินเหนียวออกมาเป็นแผ่นขนาด 12 มิลลิเมตร ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ หนา 350 ชั้น เรียงต่อกันเป็นรูปร่างตามที่ออกแบบไว้ บ้านดินหลังนี้แม้จะไม่มีหน้าต่างเหมือนบ้านทั่วไป อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของโครงสร้าง แต่ก็มีซุ้มประตูบานใหญ่ที่กรุกระจกช่วยให้บรรยากาศในบ้านไม่อึดอัด รวมแล้วใช้วัตถุธรรมชาติทั้งหมด 60 คิวบิก ใช้พลังงานเฉลี่ยน้อยกว่า 6 กิโลวัตต์ ได้บ้านขนาดพื้นที่ใช้สอย 650 ตารางฟุต สูง 4.2 เมตร และใช้เวลาพิมพ์จากเครื่อง 3 มิติ ประมาณ 200 ชั่วโมง 

ตกแต่งภายในด้วยวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด

ภายในบ้านประกอบด้วยห้องนอน ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น และห้องครัวที่สว่างสดใสจากแสงแดดส่องถึง เพื่อให้เข้ากับดินที่เป็นวัสดุหลักของบ้าน ผนังจึงเปลือยเปล่าให้เห็นเนื้อดิน ใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นหลัก ทำให้บ้านทั้งหลังเป็นสีเอิร์ธโทน สำหรับการตกแต่งภายในนั้น บางส่วนใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างขึ้น โดยใช้ดินจากท้องถิ่นผสมกับโครงสร้างดินดิบที่ผสมดินหลาย ๆ ชนิดเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัส สี และคุณสมบัติตามต้องการ) ซึ่งการใช้ดินในพื้นที่ยังช่วยลดการสร้างมลภาวะจากการขนส่งวัสดุก่อสร้างมายังไซต์งานด้วย ทั้งนี้ ในการก่อสร้างยังแทบไม่ก่อให้เกิดของเหลือทิ้ง รวมถึงมีการปล่อยคาร์บอนแทบจะเป็นศูนย์ บางส่วนดีไซน์ให้ใช้วัสดุรีไซเคิลและของใช้แล้ว เพื่อสะท้อนหลักปรัชญาที่จะให้บ้านหลังนี้อยู่ในวัฏจักรรีไซเคิล นับเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้มนุษย์กลับไปเข้าหาธรรมชาติง่ายขึ้น

รูปภาพโดย Mario Cucinella Architects and WASP