Grid Brief

  • การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการเป็นคน Super Productive ช่วยป้องกันอาการหมดไฟในการทำงานได้
  • 7 เทคนิคที่ทำให้กลายเป็นคน Super Productive ที่หากนำไปปฏิบัติแล้วจะส่งผลต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากการจัดระเบียบการทำงานด้วยการทำทีละอย่างจากลำดับความสำคัญของงานแต่ละชิ้น และควรทำเรื่องยากก่อน แต่อาจแบ่งการทำงานเป็นช่วง ๆ เมื่อทำเสร็จจะได้มีกำลังใจทำส่วนต่อไป
  • อย่าเก็บงานทุกอย่างไว้เองคนเดียว จะทำให้เครียดและหมดพลังในการทำงานได้ ควรรู้จักการกระจายงานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นด้วย จะได้มีเวลาดูแลตัวเอง
  • หมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และควรวางแผนชีวิตตัวเอง โดยเริ่มจากแผนระยะสั้นก่อนก็ได้ จะทำให้เห็นภาพรวมชีวิตตัวเอง

ภาวะเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโรคโควิด-19 อาจทำให้หลายองค์กรมีการปรับโครงสร้าง บ้างก็ลดเงินเดือน ลดจำนวนพนักงาน พลอยให้หลายคนรู้สึกว่าชีวิตการทำงานของตัวเองไม่มั่นคง แต่สิ่งเลวร้ายที่สุดของคนทำงานคือความรู้สึกหมดพลังและหมดไฟ จึงทำงานอย่างไร้เป้าหมายไปวัน ๆ  เราอยากให้คุณลองปลุกตัวเองขึ้นมาเป็นคน Super Productive หรือคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพกันอีกสักตั้ง เพื่อเติมพลังการทำงานให้ล้นเหลือและจุดประกายไอเดียสุดบรรเจิดให้กับการทำงานของตัวเองกันหน่อย ด้วย 7 วิธีดังนี้

1. จัดระเบียบการทำงาน

สิ่งสำคัญที่ทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือการทำงานทีละอย่าง ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่กำลังเปิดคอมพิวเตอร์ 3 หน้าจอ พร้อมกับอีก 3 แอปพลิเคชันในโทรศัพท์ไปพร้อมกัน ขอแนะนำให้เลิกทำ เพราะทำให้คุณเสียสมาธิมาก แต่ถ้าคุณทำงานให้เสร็จเป็นงาน ๆ ไป รับรองว่างานทุกชิ้นจะออกมามีประสิทธิภาพแน่นอน ที่สำคัญอย่าลืมหาเวลาพักสัก 10-15 นาที เพื่อออกไปเดินเล่น พักสมอง และพักสายตาด้วย


2. ลำดับความสำคัญของงาน

บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราหมดเวลาในแต่ละวันไปกับการทำสิ่งที่ไม่สำคัญ ลองสำรวจตัวเองว่าวันหนึ่งเราเข้าโซเชียลมีเดียเพื่ออ่านและดูเรื่องของคนอื่นกี่ครั้ง คนที่ Super Productive จะสามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิตได้ ซึ่งวิธีการทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเขียนสิ่งที่ต้องทำออกมา แล้วจัดลำดับการทำงานตามความสำคัญ และความเร่งด่วน จากนั้นให้ลงมือทำทีละอย่าง ชีวิตที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายก็จะจบไป กลายเป็นชีวิตที่มีเวลาว่างเหลือเฟือแทนก็เป็นได้ 


3. ทำงานยาก ๆ ก่อน

โดยธรรมชาติมนุษย์มักหลีกเลี่ยงการทำเรื่องยาก แล้วเลือกทำเรื่องง่ายก่อน  ทำให้เราหมดพลังเมื่อต้องเจอกับปัญหาหรืออุปสรรค ลองปรับสลับมาเลือกทำเรื่องยากก่อนดูบ้าง หากทำได้ในตอนเช้าก็จะดีมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองกำลังแล่น แล้วให้เวลากับงานนั้นเพิ่มสักหน่อย แต่แบ่งทำเป็นช่วง ๆ แทนการทำรวดเดียวจบ วิธีนี้ก็จะช่วยให้เรามีกำลังใจมากขึ้น เมื่องานเสร็จ นอกจากได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว คุณยังได้ความภูมิใจในตัวเองแบบสุด ๆ ไปเลยด้วย


4. ขอความช่วยเหลือบ้าง

หลายคนมีความรับผิดชอบสูงจนรับทุกงานที่ได้รับมอบหมายมาทำเองคนเดียว ข้อดีคือได้คุณภาพงานอย่างที่ตั้งใจ แต่ข้อเสียคือคุณจะรู้สึกหมดพลังและสะสมความเครียด รวมถึงความกดดันไว้กับตัวเอง เปรียบเหมือนระเบิดเวลาที่รอจังหวะปล่อยตูมออกมาในที่สุด เพราะคุณจะทำงานเกินกำลังตัวเองจนเกินรับไหว ฉะนั้น คุณต้องรู้จักจัดสมดุลชีวิตตัวเองให้ได้ อย่าอายหรือกลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการเป็นคน Super Productive ช่วยป้องกันอาการหมดไฟในการทำงานได้

5. ดูแลตัวเอง

อย่าละเลยการดูแลตัวเอง ทั้งร่างกายและจิตใจ  และจำไว้ว่าการทำงานหนักโดยไม่สนใจสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องระวังและควรหลีกเลี่ยง ทุกคนควรจัดสรรและแบ่งเวลาสำหรับการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะหลังเลิกงาน หรือการออกกำลังกายเบา ๆ ไปกับคลิปทางยูทูบ ที่สำคัญควรใช้เวลาสั้น ๆ สัก 5 – 10 นาทีในตอนเช้าสำหรับการทำสมาธิ เพื่อให้ตัวเองจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำในแต่ละวันได้เต็มที่ สละเวลาไม่มากในแต่ละวันเพื่อดูแลร่างกายและจิตใจตัวเอง แล้วคุณจะประหลาดใจกับผลลัพธ์ที่ได้และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง


6. เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 

ความรู้ต่าง ๆ อยู่รอบตัวเราเสมอ และการเรียนรู้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต คงไม่มีใครอยากยํ่าอยู่กับที่ โดยไม่พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม ‘จงทำตัวเป็นนํ้าครึ่งแก้ว’ เป็นคติประจำใจที่ใช้ได้ดีเสมอ เพราะเราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในทุกวันของการทำงาน และองค์กรทุกวันนี้ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรอยู่ไม่น้อย เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 


7. วางแผนชีวิต 

ใครยังไม่เคยมีแผนในชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาว เราแนะนำให้ต้องลองทำ วิธีง่าย ๆ เริ่มจากการวางแผนชีวิตในวันรุ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงเข้านอน เพื่อให้คุณค่อย ๆ เห็นภาพรวมชีวิตในแต่ละวันของตัวเองมากขึ้น จากนั้นค่อย ๆ เขยิบไปลองวางแผนชีวิตในแต่ละเดือน แต่ละปี แล้วจึงเป็นการวางแผนระยะยาว จำไว้ว่าทุกแผนสามารถปรับเปลี่ยนได้เสมอ ค่อย ๆ เริ่มทำทีละข้อก่อน ส่วนใครที่ทำได้ทุกข้อแล้ว อย่าลืมส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนใกล้ตัว ทีนี้ไม่ว่าจะเจอวิกฤตครั้งใด คุณจะยืนหยัดสู้กับปัญหาได้อย่างมั่นคงขึ้นกว่าเดิม


ที่มา