Grid Brief

  • นวัตกรรมที่ดี ควรเริ่มจาก Design Thinking โดยคำนึงถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการแล้วนำมาออกแบบใหม่ จำไว้ว่า นวัตกรรมที่ยั่งยืน จะแก้ปัญหา Pain Point และสร้าง Gain ใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้ชีวิตผู้คนง่ายขึ้น
  • องค์กรที่เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการหรือนวัตกรรมเป็นดิจิทัล (Digitalization) จะสามารถนำนวัตกรรมไปสู่ผู้คนได้อย่างแพร่หลาย ขยายตัวรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กร
  • Mindset เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด ที่อาจทำให้นวัตกรรมล้มเหลว ดังนั้น จงกล้าท้าทายกับสิ่งที่เคยทำมาหรือเป็นมาในอดีต กล้าเปลี่ยนแปลง และกล้าคิดนอกกรอบเพื่อให้สิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น

เมื่อการแข่งขันในโลกธุรกิจ ไม่เคยหยุดนิ่ง องค์กรต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจ (Cooperate Innovation) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ในงาน PEACON & Innovation 2020 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จัดขึ้นโดย PEA ในหัวข้อ “PEA Digital Utility : Moving Toward the New Normal” ซึ่งมีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมในองค์กรให้ประสบความสำเร็จ โดยคุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Innovation Officer แห่งบริษัท SCG Cement-Building Materials จำกัด ที่มาแชร์แนวคิดจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา

โดยทีมงาน GRID ได้สรุป 9 ประเด็นสำคัญ ที่เราเชื่อว่าจะเป็นแนวทางให้องค์กรต่าง ๆ นำไปใช้พัฒนานวัตกรรมให้ยั่งยืนและประสบความสำเร็จต่อไป

ภาพมือจับที่เกลียวหมุนของหลอดไฟกลม ความโค้งของอุ้งมือมองคล้ายเป็นหลอดไฟ

1. นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่เสมอไป

ของเดิมที่มีอยู่แล้วหรือสิ่งรอบตัวเราอาจนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบใหม่ได้ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้ดีกว่าเดิม เช่น สมาร์ทโฟน เป็นนวัตกรรม ที่นำเอาของที่มีอยู่เดิมมาผสานรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ กล้อง โทรศัพท์ เครื่องเล่น MP3 ฯลฯ มาพัฒนาจนกลายเป็นสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์ได้ดีกว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้แยกกันอยู่ นอกจากนี้ นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีก็ได้ อาจเป็นนวัตกรรมทางการเงิน นวัตกรรมด้านบุคลากร หรือนวัตกรรมในแง่ Cooperation

เครื่องบินกระดาษหลายลำบินสวนไปมา

2. นวัตกรรมที่ยั่งยืน จะพัฒนาจาก New Normal เป็น Normal ในที่สุด 

นวัตกรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือนวัตกรรมที่เป็นนวัตกรรมตลอดไป หมายถึง นวัตกรรมที่ไม่ตอบโจทย์ใด ๆ ต่อผู้คน กับนวัตกรรมที่มีประโยชน์ ถูกใช้ในวงกว้าง และพัฒนาจาก ‘New Normal’ เป็น ‘Normal’ เช่น แก้วน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ เมื่อเกิดขึ้นครั้งแรกมันคือนวัตกรรมหรือเป็น New Normal จนเวลาผ่านไป จึงกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวัน 

3. นวัตกรรมที่ดี ควรแก้ปัญหา Pain Point และสร้าง Gain ใหม่ๆ ให้กับผู้คน 

สำนวนที่ว่า “No Pain No Gain” หรือ “ถ้าไม่ยอมลำบาก ก็จะไม่มีวันได้มา” เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างดีเยี่ยม หากไม่พบกับปัญหา การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็จะไม่เกิด ดังนั้น นวัตกรรมที่จะประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มจาก Desirable หรือตอบโจทย์ Pain Point (ปัญหาของลูกค้าที่เกิดจากสาเหตุบางอย่าง) และสร้าง Gain ใหม่ ๆ ที่ทำให้ชีวิตผู้คนง่ายขึ้น สองคือ Practical ต้องเข้าถึงผู้คนได้ง่าย การใช้งานไม่ซับซ้อนจนเกินไปนัก และ Feasible หมายถึง การให้ผลตอบแทนที่ยั่งยืนต่อธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่ในแง่ผลกำไร แต่เป็นการสร้างแบรนด์หรือภาพลักษณ์องค์กรให้ดีขึ้นกว่าเดิม 

4. Design Thinking คือจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรม 

สิ่งสำคัญก่อนเริ่มต้นพัฒนานวัตกรรม คือการทำความเข้าใจลูกค้าถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ (Empathy) เพื่อนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ (Creativity) ซึ่งอาจเป็นการสร้างสรรค์ทางด้าน Process หรือวิธีการปฏิบัติใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหา Pain Point ได้อย่างตรงจุด และท้ายที่สุดแล้ว นวัตกรรมชิ้นนั้นอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี (Technology) เลยก็เป็นได้ 

คนใช้นิ้วชี้ไปที่ภาพวาดหลอดไฟกลมที่ข้างในเป็นเส้นร่างหน้าคนและสมอง

5. นวัตกรรมที่ดี ตอบโจทย์บางอย่าง แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง 

นวัตกรรมราคาถูก ไม่ใช่เรื่องดี และนวัตกรรมที่ดี จะตอบโจทย์บางอย่างให้กับผู้คน ซึ่งการตอบโจทย์บางอย่าง ทำให้นวัตกรรมมีมูลค่า และคุณค่าในตัวเอง เพราะฉะนั้น การสร้างสรรค์นวัตกรรม จึงไม่ควรมองแค่ฟังก์ชั่นพื้นฐาน (Functional) เช่น ทนทาน สะดวก รวดเร็ว แต่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (Emotional) และ Spiritual ในการออกแบบ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา และเพิ่มคุณค่าให้กับนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน 

คำว่า innovation ที่มีสัญลักษณ์เป็นหลอดไฟกลมกำลังส่องแสง

6. เข้าถึงผู้คนง่าย แต่ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการ Digitalization 

การเข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้าง เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยให้นวัตกรรมประสบความสำเร็จ ซึ่งวิธีที่ได้ผลดีที่สุด คือเปลี่ยน ‘วิธีการ’ หรือการทำให้บริการเป็นดิจิทัลทั้งหมด (Digitalization) ซึ่งจะทำให้นวัตกรรมขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงผู้คนได้ง่าย โดยที่ค่าใช้จ่ายไม่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่น Netflix, Uber, Grab เป็นตัวอย่างองค์กรธุรกิจที่เปลี่ยนวิธีการให้บริการเป็น Digitalization ได้อย่างประสบผลสำเร็จ 

7. กล้าท้าทายกับสิ่งที่เคยเป็นมา (Challenge the “Status” Quo)

ระบบความคิด (Mindset) คืออุปสรรคสำคัญที่อาจทำให้นวัตกรรมล้มเหลวไม่เป็นท่า โดยเฉพาะหากติดอยู่กับความเคยชินหรือสิ่งที่เคยทำมาในอดีต ย่อมทำให้ไม่เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อองค์กร เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความกล้าที่จะท้าทายกับสิ่งที่เคยทำมา (Challenge the “Status” Quo) จึงเป็นคุณสมบัติที่ดีของนวัตกร ที่สำคัญ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน พฤติกรรมของลูกค้า การเข่งขัน ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงตาม ดังนั้น จงอย่ากลัวที่จะกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ ถึงแม้จะต้องลองผิดลองถูกสักกี่ครั้งก็ตาม

ภาพวาดคนกำลังใช้ไฟฉายส่องไปบนฟ้าที่มีดาวเสาร์กำลังหมุน

8. คิดนอกกรอบ (Reframe) 

ความกล้าที่จะคิดนอกกรอบ (Reframe) มักนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่โลกต้องจดจำหรือผู้คนต้องร้องว้าว  นอกจากนี้ นวัตกรที่ดี ยังควรมีมุมมองที่หลากหลาย และสวมหมวก 3 ใบในเวลาเดียวกัน คือ ต้องมีความเป็นนักออกแบบในตัว มีมุมมองด้านธุรกิจ และมีความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด

9. อย่ามองข้าม Bad Idea 

ใครจะไปรู้ว่า Bad Idea ที่ฟังแล้วไม่เข้าท่าในตอนแรก อาจกลายเป็นไอเดียที่ดีที่สุดในเวลาต่อมา เพราะไอเดียที่ฟังแล้วคิดว่าใช่ในครั้งแรก มักเป็น Common Idea ที่ใคร ๆ ก็คิดกัน เพราะฉะนั้น จงรับฟังและให้ความสนใจกับทุกไอเดียที่ได้ยิน