ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความไฮเทคมาแต่ไหนแต่ไร เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์สุดล้ำมากมายภายใต้แบรนด์ ‘Made in Japan’ ก็เป็นที่รู้จักทั่วโลก เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ได้อ่านบทความนี้ก็น่าจะมีสินค้าของญี่ปุ่นอยู่ในบ้านอย่างน้อยสัก 1 ชิ้น
ล่าสุดญี่ปุ่นกำลังจะมีโครงการต้นแบบ ‘เมืองแห่งอนาคต’ ที่จะรองรับผู้อยู่อาศัยราว ๆ 2,000 คน เพื่อร่วมทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเมืองอัจฉริยะ โดยแบ่งเป็นที่พักอาศัยราว 360 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นประชากรสูงอายุ ครอบครัวที่มีเด็ก รวมถึงทีมงานวิจัย และพนักงานของโตโยต้า อาจเรียกได้ว่านี่เป็น ‘ห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต’ซึ่งเปิดให้คนได้อยู่อาศัยจริง และทดลองใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ภายใต้สิ่งแวดล้อมของสมาร์ตซิตี้เต็มรูปแบบ
Woven City เมืองแห่งอนาคต
เมืองแห่งนี้มีชื่อว่า Woven City ริเริ่มโดย ‘โตโยต้า’ บริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่งเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างบนพื้นที่ 442 ไร่ บนที่ตั้งโรงงานเดิมของโตโยต้าบริเวณเชิงภูเขาไฟฟูจิ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา
โดยในเมืองต้นแบบแห่งนี้มีจุดเด่นในการสร้างระบบนิเวศขึ้นใหม่ แบบที่มีคนอยู่อาศัยจริง ๆ เพื่อให้สามารถนำ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพมาใช้แก้ปัญหาและตอบโจทย์การใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ การเชื่อมต่อภายในบ้านอัจฉริยะ (สมาร์ตโฮม) และยานพาหนะขับขี่อัตโนมัติ
ภายใต้แผนแม่บท ภายในเมืองนี้จะออกแบบการใช้ถนนเป็น 3 ประเภท รองรับการใช้งานที่แตกต่างกัน ได้แก่ 1. ยานพาหนะอัตโนมัติที่ใช้ความเร็ว 2. ยานพาหนะส่วนบุคคล เช่น สกูตเตอร์ และ 3. ถนนเฉพาะคนเดิน ส่วนการขนส่งสินค้าจะใช้เส้นทางถนนใต้ดิน และการเดินทางภายในเมืองก็จะใช้รถอัตโนมัติที่ไม่ปล่อยมลภาวะ โดยเฉพาะรถพลังงานทางเลือกจากโตโยต้าที่จะได้เมืองแห่งนี้เป็นเวทีทดสอบ เช่น โตโยต้า e-Pallete
นอกจากนี้ Woven City ยังจะใช้พลังงานอย่างยั่งยืน 100% ทั้งการสร้างอาคารจากไม้เป็นส่วนใหญ่ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์ รวมทั้งบางส่วนจะใช้หุ่นยนต์ในการก่อสร้าง หลังคาก็จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ และใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ส่วนผู้อยู่อาศัยจะได้ใช้งานเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์ ตั้งแต่หุ่นยนต์ในบ้านสำหรับช่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้ AI ผ่านเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในบ้าน สำหรับตรวจสอบสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ดูแลความต้องการพื้นฐาน อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ
’Smart Home’ ตอบโจทย์ชีวิต
เทรนด์ที่อยู่อาศัยแบบ ‘Smart Home’ จะกลายเป็นกระแสหลักในอนาคตอันใกล้ ถ้าใครนึกภาพไม่ออก ลองคิดถึงการใช้สมาร์ตโฟนสั่งเปิดไฟหรือเครื่องปรับอากาศตั้งแต่ยังเดินทางอยู่บนถนน พอถึงบ้านก็ไม่ต้องอยู่กับความมืด และพร้อมเดินเข้าบ้านที่เย็นฉํ่า
ทุกวันนี้ ความฉลาดของ Smart Home ไปไกลกว่าการรับคำสั่งของมนุษย์ แต่มันสามารถตัดสินใจแทนได้จากข้อมูลมากมาย เช่น อุณหภูมิในบ้านควรอยู่ที่เท่าไร การปรับความสว่างและแสงของไฟในห้องอัตโนมัติ ระบบรดนํ้าต้นไม้ที่คำนวณปริมาณนํ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ
แม้แต่ตู้เย็นก็ฉลาดลํ้า เพราะมีเซ็นเซอร์สำหรับวัดอุณหภูมิและความชื้น ทำให้สามารถคำนวณได้ว่าของสดในตู้เย็นใกล้หมดอายุหรือยัง รวมถึงตรวจสอบผ่านมือถือได้ว่าอาหารที่ตุนไว้ใกล้หมดหรือยัง และสั่งเพิ่มได้ผ่านหน้าจอที่ติดตั้งบนตู้เย็น หรือถ้าใครอยากลองทำอาหารเมนูใหม่ ๆ ที่ไม่ถนัด ก็สามารถเปิดคลิปช่วยสอนได้จากหน้าจอบนตู้เย็น อุปกรณ์ไฮเทคภายในบ้านไม่ใช่แค่ของเล่นสุดลํ้าอีกแล้ว แต่จะเป็นผู้ช่วยที่ทำ ให้แต่ละบ้านใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนค่าไฟลง และช่วยรักษ์โลกไปในตัว สำหรับอุปกรณ์ที่ทำงานได้อัตโนมัติและสั่งงานได้จากระยะไกลที่ช่วยให้บ้านธรรมดากลายเป็นสมาร์ตโฮม มีทั้งกล้องวงจรปิด อุปกรณ์ล็อกบ้าน หลอดไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเล่นวิดีโอและเสียง ระบบรดนํ้าต้นไม้ เครื่องควบคุมอุณหภูมิ เครื่องปรับอากาศ พัดลม เครื่องทำความร้อน แผงพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบแบตเตอรี่
’Internet of Things-AI’ ขับเคลื่อนความ Smart
Internet of Things หรือ IoT เป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต และพัฒนาไปอย่างรวดเร็วประเมินว่า ใน พ.ศ. 2563 จำนวนอุปกรณ์ไฮเทคที่เชื่อมต่อผ่าน IoT ทั่วโลก น่าจะมีจำนวนราว 5 หมื่นล้านชิ้น หรือมากถึง 2 แสนล้านชิ้น เช่นเดียวกับ AI ที่ทำงานควบคู่ไปกับ Machine Learning ทำให้มีอัลกอริธึมในการแยกแยะและวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
บริษัทวิจัยมาร์เก็ตส์แอนด์มาร์เก็ตส์ ประเมินว่า อุตสาหกรรม AI และ IoT มีแนวโน้มขยายตัวอย่างมาก โดยมูลค่าตลาดน่าจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จาก 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ.2562 เป็น 1.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2567 สะท้อนถึงทิศทางที่เคลื่อนสู่ความสมาร์ต
แม้จะยังไม่เป็นรูปร่างชัดเจนในขณะนี้ แต่อย่างน้อยเมืองแนวคิดสมาร์ตแห่งใหม่ก็ได้เริ่มถักทอความฝันตามชื่อ Woven City แล้ว‘อากิโอะ โตโยดะ’ บิ๊กบอสโตโยต้ากล่าวไว้ตอนเปิดตัวโครงการว่า โตโยต้ามีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจทอผ้า ก่อนจะผลิตรถยนต์ และพร้อมจะใช้เทคโนโลยีทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อถักทอให้เกิดเมืองแห่งใหม่ และวิถีใหม่ในการใช้ชีวิต
“อุปกรณ์ไฮเทคภายในบ้านไม่ใช่แค่ของเล่นสุดลํ้าอีกแล้ว แต่จะเป็นผู้ช่วยที่ทำให้แต่ละบ้านใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนค่าไฟลง และช่วยรักษ์โลกไปในตัว”
เรื่องโดย: โอเมก้า
รูปภาพโดย: Toyota/Bjarke Ingels Group