Grid Brief

  • บริษัทผลิตของเล่นชั้นนำของโลกหลายแห่งได้ตื่นตัวในการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการคิดค้นวัสดุรักษ์โลกเพื่อมาใช้เปลี่ยนแทนพลาสติก รวมถึงเปลี่ยนกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
  • อุตสาหกรรมของเล่นเด็กเป็นธุรกิจที่ใช้พลาสติกมากที่สุดในโลก ทั้งยังอาจมีส่วนประกอบของโลหะหนักอย่างตะกั่วกับแคดเมียมในพลาสติกด้วย

เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ตลาดหลักทรัพย์ฮั่งเส็งของฮ่องกงมีการเปิดขายหุ้นของ Pop Mart บริษัทผลิตของเล่นสัญชาติจีน ด้วยมูลค่าหุ้น 676 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,300 ล้านบาท สร้างความแตกตื่นให้ตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะ Pop Mart ก่อตั้งมาได้ประมาณ 10 ปี สินค้าสร้างชื่อคือของเล่นใน ‘Blind Box’ หรือกล่องปริศนาที่มองไม่เห็นข้างในว่ามีของเล่นแบบใดอยู่

Credit: Unsplash

ของเล่น : ผู้บริโภคพลาสติกรายใหญ่สุดของโลก 

‘อุตสาหกรรมของเล่นเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลาสติกมากที่สุดในโลก คือประมาณ 40 ตันต่อรายได้ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยของเล่น 90% ในท้องตลาดล้วนทำจากพลาสติกทั้งสิ้น ซึ่งในพลาสติกอาจมีส่วนประกอบของโลหะหนัก เช่น ตะกั่วหรือแคดเมียมไปจนถึงสารประกอบเคมีอันตรายอย่างไดออกซิน เป็นต้น’ 

ข้อความข้างต้นนี้มาจากรายงาน ‘Valuing Plastics’ จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ของเล่นเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลาสติกในปริมาณมหาศาล 

ยิ่งในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ยอดจำหน่ายของเล่นยิ่งพุ่งทะยาน อาทิ LEGO ผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ของโลกจากเดนมาร์ก เปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2563 มียอดขายเพิ่มขึ้น 7% กวาดรายได้ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ BANDAI NAMCO ผู้ผลิตของเล่นเจ้าตลาดสัญชาติญี่ปุ่นกวาดรายได้ในปีนี้ไปถึง 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ 

Credit: Lego

ของเล่นสีเขียว 

ผู้บริหารของ Lego กล่าวว่า บริษัทตื่นตัวที่จะทำตามคำขอร้องของเด็ก ๆ ที่อยากให้เลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยเมื่อ 5 ปีก่อน Lego ทุ่มเงิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐจ้างผู้เชี่ยวชาญนับร้อยคนให้คิดค้นวัสดุรักษ์โลก เพื่อใช้แทนพลาสติกในการผลิตชิ้นส่วนของเล่นประมาณ 60,000 ล้านชิ้น 

ล่าสุด Lego เพิ่งประกาศว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จะใช้กระดาษรีไซเคิลห่อของเล่น และยังทุ่มเงินอีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเปลี่ยนระบบการผลิตทั้งหมดให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่ม เปลี่ยนไปใช้หลอดไฟแอลอีดีในโรงงานผลิต และหาวิธีลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต เป็นต้น 

Credit: Bandai Namco

ส่วน Bandai Namco ผู้ผลิตหุ่นยนต์กันดั้ม ทามาก็อตจิ ไปจนถึง Hello Kitty ในประเทศญี่ปุ่น ตั้งเป้าผลิตของเล่นรักษ์โลกทั้งหมดในสายพานการผลิตของบริษัท โดยใน พ.ศ. 2563 บริษัท Bandai Namco ได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 58,169 ตัน และเริ่มใช้ ‘เหรียญรักษ์โลก’ หรือ Eco Medal กับของเล่นที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในส่วนต่าง ๆ เช่น ชิ้นส่วนของเล่น บรรจุภัณฑ์หรือคู่มือ นอกจากนี้ การที่ Bandai Namco เป็นผู้ผลิตของเล่นในตู้หยอดเหรียญรายใหญ่ด้วย บริษัทจึงเก็บแคปซูลพลาสติกที่บรรจุของเล่นกลับมาได้ 7 ตัน ก่อนนำไปรีไซเคิลเป็นกระถางต้นไม้หรือถาดใส่เครื่องเขียน เป็นต้น 

Credit: Mattel

ขณะที่ Mattel บริษัทที่โด่งดังจากการผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ก็ตื่นตัวในการรักษ์โลกเช่นกัน โดยเริ่มจากเปลี่ยน ‘ห่วงเรียงซ้อน’ หรือ Rock-a-Stack ที่ผลิตมาตั้งแต่ พ.ศ.2503 ไปใช้พลาสติกที่ทำจากชานอ้อยส่วนบรรจุภัณฑ์ของเล่นทุกชนิดก็จะใช้วัสดุรีไซเคิลแทน 

กลับมาที่บริษัท Pop Mart เองก็หันไปใช้ถุงห่อของเล่นที่ทำจากฟิล์ม CPP ซึ่งย่อยสลายได้และไม่มีสารพิษ และยังปลอดภัยในระดับที่นำถุงนี้ไปใช้ใส่อาหารได้ ส่วนกล่องบรรจุภัณฑ์ก็เปลี่ยนไปใช้กล่องกระดาษรีไซเคิลทั้งหมด 

ต้องขอบคุณเด็ก ๆ ที่ห่วงใยและใส่ใจโลกใบนี้ โดยเริ่มจากของเล่นที่อยู่ใกล้ตัวพวกเขา และโชคดีที่ผู้ใหญ่ในบริษัทผลิตของเล่นเหล่านี้ไม่มองข้ามคำร้องขอของลูกค้าตัวน้อย