Grid Brief

  • ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี องค์กรในยุคดิจิทัลจึงจำเป็นต้องหาแนวทางการรับมือ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายหนึ่งในนั้นคือความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจส่งผลให้การทำธุรกิจมีการแข่งขันกันมากขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ทุกองค์กรควรเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการองค์กรและปรับตัวรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอาศัยเครื่องมือสำคัญ คือ นวัตกรรม ที่จะช่วยรักษาความมั่นคงขององค์กรและส่งเสริมการพัฒนาองค์กรให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บุคลากรทุกระดับชั้นในองค์กรต้องร่วมมือกันและมีใจเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน เปิดใจรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองอยู่เสมอ

Credit: tirachardz

นวัตกรรมคืออะไร

นวัตกรรม คือสิ่งใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา โดยใช้ความรู้ ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์นอกกรอบข้อกำหนดเดิม ๆ หมายรวมถึงการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงพัฒนา หรือประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ แต่ต้องสร้างความแตกต่างจากสิ่งเดิมที่เคยมีหรือเคยปฏิบัติอยู่ เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต แบ่งประเภทหรือรูปแบบของนวัตกรรมไว้ 4 รูปแบบ ดังนี้

  1. นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) คือ การนำข้อมูลลูกค้าทั้งด้านความต้องการ ไลฟ์สไตล์ และความคาดหวังมาประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
  2. นวัตกรรมบริการ (Service Innovation) เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการบริการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการใช้นวัตกรรมบริการนี้อาจไม่ได้นำมาซึ่งรายได้เสมอไป บางครั้งอาจเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรหรือธุรกิจให้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และเป็นผลดีต่อองค์กรในระยะยาวที่ได้ลูกค้าประจำ
  3. นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหรือพัฒนากระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ด้านการผลิต สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในเวลาที่น้อยลง ทำให้ส่งมอบสินค้าได้ตรงเวลามากขึ้นและช่วยลดต้นทุนการผลิตได้
  4. นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ (Business Model Innovation) การหากลยุทธ์ใหม่ ๆ หรือการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากเดิม
Credit: Freepik

ทำไม…ต้องพัฒนานวัตกรรม

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เทคโนโลยีและความรู้ต่าง ๆ พัฒนาก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การพัฒนานวัตกรรมจึงเกิดขึ้นด้วยความจำเป็น 3 ประการ ดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงการบริหารและการปฏิบัติงาน เพื่อรองรับความซับซ้อนของข้อมูลที่มีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องจัดระบบข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
  2. การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เทคโนโลยีใหม่ที่ก้าวหน้าพัฒนากว่าเดิม ทำให้สิ่งที่ใช้อยู่อาจล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าด้านงบประมาณ เช่น มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง หรือองค์กรต้องการลดต้นทุน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการของลูกค้านวัตกรรมจึงช่วยปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือนำเสนอทางเลือกใหม่เพิ่มเติมให้ลูกค้าได้
  3. สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและการทำงานในองค์กร ไม่เพียงช่วยให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปได้ แต่ยังเสริมความมั่นคงและความแข็งแกร่งให้พร้อมสำหรับการแข่งขันทางธุรกิจอีกด้วยเพราะนวัตกรรมจะช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างหรือการให้บริการรูปแบบใหม่ ทำให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายรับให้องค์กร

การสร้างองค์กรแห่งความสร้างสรรค์ให้สำเร็จ ปัจจัยที่ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดเป็นองค์กรนวัตกรรมประกอบด้วย

  1. วัฒนธรรมองค์กร (Organization Culture) องค์กรใดที่บุคลากรมีการแลกเปลี่ยนความคิด มุมมองซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ชอบที่จะคิดนอกกรอบเพื่อสร่างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ย่อมทำให้เกิดวัฒนธรรมของการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กรซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ดีในการสร้างนวัตกรรมองค์กร
  2. ทรัพยากร (Resource) ในที่นี้หมายถึง เวลา สถานที่งบประมาณ บุคลากร เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่เสมอไป อาจเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาปรับประยุกต์หรือพัฒนาให้เกิดรูปแบบใหม่ที่ใช้งานได้ดีกว่าเดิมก็ได้
  3. โครงสร้าง (Structure) ควรมีความยืดหย่นที่พร้อมปรับเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ โดยไม่ยึดติดกับขั้นตอนหรือรูปแบบการทำงานแบบเดิม ๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม เพราะนวัตกรรมจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากขึ้น จากการทำงานร่วมกันของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายด้าน
  4. แรงจูงใจ (Motivation) องค์กรหรือผู้บริหารต้องรู้จักใช้จิตวิทยาเพื่อสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้บุคลากรคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้น ซึ่งสิ่งตอบแทนไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเสมอไป อาจเป็นเกียรติยศ ชื่อเสียง ตำแหน่ง หรือความภูมิใจ นอกจากนี้ ยังต้องให้กำลังใจผู้ที่คิดจะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กล้าที่จะทำ กล้าลองผิดลองถูก อย่าเพิ่งถอดใจยอมแพ้ไปก่อน
  5. สิ่งแวดล้อม (Environment) ควรสร้างบรรยากาศในการทำงาน และใส่ใจสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม
  6. การสื่อสาร (Communication) ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม เพราะเป็นสื่อกลางให้บุคลากรในองค์กรเข้าใจถึงเป้าหมายตรงกัน นำมาซึ่งการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน จึงควรเน้นให้เกิดการสื่อสารที่ดี คือ ข้อมูลถูกต้อง ชัดเจน ใช้ภาษาสุภาพและกระชับได้ใจความ

ถึงเวลาแล้วที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมองค์กร ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน และนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จที่วางไว้อย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ในที่สุด