Grid Brief

  • Morgan Housel (มอร์แกน เฮาส์เซล) ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money ที่ขายได้กว่า 5 ล้านเล่ม แปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 50 ภาษา ถือกฎการออมอันเรียบง่าย 4 ข้อ ได้แก่ ออมเพื่อชีวิตที่มีอิสรภาพ ลงทุนในกองทุนดัชนี สร้างกองทุนเผื่อตกใจ และรักษาความมั่งคั่งไว้ให้ได้

Morgan Housel (มอร์แกน เฮาส์เซล) ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money ที่ขายได้กว่า 5 ล้านเล่มทั่วโลก และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 50 ภาษา โดยฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า ‘จิตวิทยาว่าด้วยเงิน’ สำนักพิมพ์ลีฟ ริช / Live Rich 

เขายังเคยเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความด้านการเงินให้กับหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal และปัจจุบันเป็นเป็นหุ้นส่วนของ The Collaborative Fund ซึ่งเป็น Venture Capital หรือนักลงทุน VC กลุ่มบริษัทร่วมทุนที่นำเงินไปลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัปและบริษัทขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินลงทุนของสถาบันการเงิน โดยบริษัทของเขาเลือกลงทุนในสตาร์ตอัปที่มุ่งทำกำไรควบคู่ไปกับทำให้โลกดีขึ้น (for-profit & for-good) 

ในฐานะที่เป็นนักเขียนหนังสือการเงิน (ที่อ่านง่าย) ขายดีระดับโลก และให้คำแนะนำผู้คนเป็นล้าน ๆ คนให้ออมเงินด้วยวิธีนั้นวิธีนี้ แล้วตัวเขาเองออมเงินอย่างไร? 

มอร์แกนไขความกระจ่างผ่านการเขียนไว้ในบทสุดท้ายถึง ‘วิธีการออมเงินฉบับมอร์แกน เฮาส์เซล’ ที่มีหลักการง่ายแสนง่ายกว่าที่คิด ดังนี้

1. ออมเพื่อชีวิตที่มีอิสรภาพ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 Charlie Munger (ชาร์ลี มังเกอร์) รองประธานบริษัท Berkshire Hathaway คู่หูธุรกิจคนสำคัญของ Warren Buffet (วอร์เรน บัฟเฟตต์) ได้จากไปในวัย 99 ปี นิตยสาร Forbes ประเมินว่า ชาร์ลี มังเกอร์ทิ้งทรัพย์สินมูลค่าราว ๆ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 94,000 ล้านบาท 

ชาร์ลีเคยกล่าวไว้ว่า “ผมไม่หวังรวย ผมแค่อยากมีอิสระ” 

นั่นได้กลายเป็นคำขวัญประจำใจของมอร์แกนด้วยเช่นกัน การไล่ล่าผลตอบแทนสูงที่สุด หรือทำอย่างไรก็ได้ให้สินทรัพย์เพิ่มพูนให้มากที่สุด เพื่อจะได้ใช้ชีวิตหรูหราที่สุดนั้น คือสิ่งที่เขาให้ความสนใจน้อยที่สุด ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เขาเพียรออมเพื่อที่ในทุก ๆ วัน เขาและครอบครัวจะได้ตื่นขึ้นมา ‘ทำในสิ่งที่อยากทำ ในเวลาที่อยากทำ กับคนที่อยากทำ ตราบนานเท่านานที่อยากทำ’ หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า มีอิสรภาพที่จะกำหนดชีวิตของตนเองได้ 

Credit: Freepik

2. ลงทุนในกองทุนดัชนี

จากการค้นคว้าประวัติศาสตร์การเงินในประเทศต่าง ๆ มอร์แกน พบว่า มีนักลงทุนน้อยมากที่สามารถเอาชนะตลาดได้ เขาจึงเลือกหนทางที่เรียบง่ายด้วยการลงทุนเฉพาะใน ‘กองทุนดัชนี’ หรือ Index Fund ซึ่งก็คือกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ประกอบกันเป็นดัชนี หรือกองทุนที่ลงทุนโดยพยายามเลียนแบบให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีที่มันลงทุนตาม 

ยกตัวอย่าง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีการจัดทำดัชนีที่เรียกว่า SET50 Index (หุ้น 50 ตัวที่ใหญ่ที่สุดของตลาด) ส่วนดัชนีของสหรัฐอเมริกามี 2 ตลาด คือ ดัชนีหุ้น S&P 500 หุ้นใหญ่ 500 ตัว และดัชนีหุ้น NASDAQ 100 หุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา 100 ตัวแรก ดัชนี FTSE100 ของอังกฤษ ดัชนี DAX ของเยอรมนี หรือตลาดหุ้นเวียดนามมีดัชนี VN Index และ VN 30 Index เป็นต้น

  ผู้จัดการกองทุนเพียงแต่เคลื่อนไหวไปตลาดหุ้น กำไร-ขาดทุนที่ได้รับเหมือนกัน ค่าธรรมเนียมของกองทุนดัชนีจึงต่ำ เหมาะแก่การถัวเฉลี่ยต้นทุนด้วยการทำ DCA (Dollar Cost Average) ซึ่งเป็นการลงทุนแบบสม่ำเสมอ โดยนำเงินจำนวนเท่า ๆ กันทุกงวดไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนไว้ในระยะเวลาเท่า ๆ กัน เช่น ซื้อกองทุนดัชนีหุ้น S&P 500 ของสหรัฐอเมริกา 1,000 บาท ทุกวันที่ 25 ของเดือน หรือทุกวันจันทร์ หรือแม้แต่ทุกวันก็ยังได้ แต่คนทั่วไปนิยมลงทุนถัวเฉลี่ยอย่างสม่ำเสมอเดือนละครั้ง 

การลงทุนแบบนี้ใช้พลังของกำไรทบต้น (Compound Effect) จากเงินลงทุนเดือนละ 1,000 บาทก็สามารถพอกพูนขึ้นเป็นเงินหลักล้านได้ 

Credit: Freepik

3. สร้างกองทุนเผื่อตกใจ

จากประสบการณ์ด้านการเงินส่วนบุคคล บทเรียนหนึ่งที่มอร์แกนถอดออกมาได้ก็คือ ทุกคน-ไม่เว้นใครทั้งสิ้น จะเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ต้องจ่ายเงินก้อนโตที่ไม่เตรียมไว้ก่อน เพราะไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องจ่ายเงินก้อนนี้ แม้ไม่มีทางป้องกัน แต่เราเตรียมฟูกไว้รองรับเพื่อให้ความเสียหายบรรเทาลงได้ด้วยการออม

บางคนถามมอร์แกนว่า เขาออมเงินไปทำไมมาเป็นสิบ ๆ ปี ออมไว้ซื้อรถ บ้าน นาฬิกา เรือยอชต์ หรืออยากจะซื้ออะไรหรือ คำตอบเดียวที่มอร์แกนมีให้คือ “ออมเงินเพื่อออมโดยไม่มีเป้าหมายการออมเฉพาะเจาะจง” ซึ่งเขาเสริมด้วยว่า ไม่มีความตั้งใจจะนำก้อนนี้มาใช้จ่ายหากว่าไม่จำเป็นจริง ๆ จนถึงขั้นที่ชีวิตตกระกำลำบากอย่างสุดแสน

เหตุผลอื่น ๆ นอกเหนือไปจากนี้แล้ว มอร์แกนยึดถือคติตามไอดอลทางการเงินของเขา คือชาร์ลี มังเกอร์ที่เคยกล่าววรรคทองไว้ว่า “กฎข้อแรกของการออมคือ ออมแล้วออมเลย อย่าไปแตะต้องมัน”  

Credit: Jcomp

4. รักษาความมั่งคั่ง

แม้จะบรรลุอิสรภาพทางการเงินมานานแล้ว แต่มอร์แกนก็เป็นเช่นเดียวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้ร่ำรวยมหาศาลถึง 135.6 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท ทว่า ยังอยู่อาศัยในบ้าน 2  ชั้น 5 ห้องนอนในเนบราสกาที่เขาซื้อมาในปี 2501 ด้วยสนนราคา 31,500 เหรียญ 

รายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกดอลลาร์ มอร์แกนและภรรยาจะนำไปเก็บออมหรือลงทุนในกองทุนดัชนี โดยยังคงใช้วิถีชีวิตดุจเดิม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ตนพอใจแล้ว เพราะเขาเชื่อว่า คนเราอาจร่ำรวยขึ้นมาได้ แต่น้อยคนที่จะรักษาความมั่งคั่งเอาไว้ได้ เขายังเชื่อด้วยว่าความมั่งคั่งอยู่ในรถพอร์ชคันงามที่เขาไม่ได้ซื้อ อยู่ในเรือยอชต์หรูที่เขาไม่เคยมี อยู่ในกระเป๋าแบรนด์เนมที่ไม่คิดจะแตะ และอยู่ในวิถีชีวิตโก้หรูที่ทำไปเพื่อให้คนอื่นมองว่าเราร่ำรวย ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่เคยทำเช่นนั้น  

เมื่อเขามีบ้านของตัวเอง ไม่มีหนี้สิน มีเงินสดสำรองเผื่อเหตุฉุกเฉิน มีเงินออม มีกองทุนเผื่อตกใจ และมีอิสระที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ ตราบใดที่เขาปฏิบัติเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เขาย่อมรักษาความมั่งคั่งเอาไว้ได้ตราบนานเท่านาน


รูป: Freepik