Grid Brief
- หลายคนสูญเสียโอกาสดี ๆ ที่ปล่อยให้หลุดลอยไป เพียงเพราะกลัวว่าเอ่ยปากขอร้องแล้วจะโดนปฏิเสธ แต่รู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมนี่ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หรือเป็นบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะความใจกล้าเปรียบเหมือนกล้ามเนื้อที่เพาะสร้างและฝึกฝนได้ ขณะเดียวกันก็อาจฟีบฝ่อ หากว่าไม่หมั่นฝึกฝนกล้ามเนื้อส่วนนี้อย่างสม่ำเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขาย การตลาด ประชาสัมพันธ์ การเงิน ทรัพยากรบุคคล ไปจนถึงเป็นเจ้าของธุรกิจ (เล็ก กลาง ใหญ่ไม่เกี่ยง) ในการทำงานทุกตำแหน่งและทุกอาชีพ เรามักเจอกับคำว่า ‘ไม่’ (NO) มากกว่าคำว่า ‘ได้’ (YES) และเมื่อโดนปฏิเสธมากเข้า เราอาจค่อย ๆ ฝ่อไปเรื่อย ๆ จนไม่กล้าเสนอไอเดียใหม่ ๆ ต่อไปอีก และกลายเป็นคนทำงานประเภท ‘ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน’
ในแง่หนึ่งอาจทำให้เราอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แต่ในระยะยาวแล้ว ทัศนคติเช่นนี้ไม่ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในฐานะคนทำงานและต่อองค์กรที่เราทำงานด้วย
Jia Jiang ชายชาวปักกิ่งที่ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาแนะนำวิธี ‘สร้างกล้ามเนื้อหน้าหนา’ ไว้ในหนังสือ Rejection Proof : How I Beat Fear and Became Invincible through 100 Days of Rejection หรือในฉบับแปลภาษาไทยชื่อว่า ‘คัมภีร์หน้าหนา’ ซึ่งสกัดจากการทดลองเล่น ๆ (แต่ทำจริง) สร้างปฏิบัติการร้องขอเรื่องต่าง ๆ ต่อผู้อื่น 100 เรื่องใน 100 วัน เพื่อจะเอาชนะการโดนปฏิเสธ หลังจากตระหนักว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่คนเราหลีกเลี่ยงคือ ‘ความกลัวว่าจะโดนปฏิเสธ’ มากกว่าการโดนปฏิเสธจริง ๆ เสียอีก
เจียจึงถือกล้องออกไปถ่ายคลิปตัวเองทำปฏิบัติการฝึกกล้ามเนื้อหน้าหนาต่าง ๆ นานา 100 อย่าง อาทิ
- เคาะประตูบ้านใครก็ไม่รู้เพื่อขอเล่นฟุตบอลที่สนามหลังบ้าน
- ขอเป็นอาจารย์พิเศษเลกเชอร์นักศึกษามหาวิทยาลัย
- ขอให้พนักงานร้านอาหารเจ้าประจำร้องเพลงอวยพรวันเกิดให้ทั้งที่ไม่ใช่วันเกิดของเขา
- ขอเงินคนแปลกหน้า 100 ดอลลาร์สหรัฐ
- ขอเป็นพนักงานต้อนรับลูกค้าในร้านกาแฟสตาร์บักส์ 1 ชั่วโมง (ซึ่งทางร้านไม่มีตำแหน่งนี้)
- ขอประกาศเสียงตามสายในซูเปอร์มาร์เก็ต
- ขอเคล็ดลับการขายจากเซลส์แมนขายรถที่ทำยอดขายสูงสุดอันดับ 2 ของอเมริกา
- ขอเติมน้ำมันให้กับรถที่มารับบริการในปั๊ม
แรก ๆ ที่โดนปฏิเสธ เจียซึ่งเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตอับอายมากจนถึงกลับวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน ในแต่ละครั้งที่โดนคำว่า ‘ไม่’ กระแทกหน้า เขาพบว่าตนเองเริ่มหน้าหนาขึ้น เริ่มกล้าตื๊อ ปักหลักต่อรอง มีลูกเล่นในการร้องขอมากขึ้น นี่เองที่ทำให้เขาตระหนักได้ว่า ความใจกล้าหน้าหนาของคนเราไม่ใช่สิ่งที่แต่ละคนมีมาแต่กำเนิด หรือเป็นบุคลิกภาพที่แปรเปลี่ยนไม่ได้ แต่เปรียบเสมือนกล้ามเนื้อที่สร้างเสริมขึ้นมาได้ต่างหาก
และนี่คือเคล็ดลับ 3 ประการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการโดนปฏิเสธที่เห็นผลจากผู้ใช้งานจริง
- เปลี่ยนการโดนปฏิเสธให้เป็นโอกาส ในแต่ละครั้งที่โดนปฏิเสธ อย่าเพิ่งถอดใจ ให้มองว่าเป็นสนามฝึกซ้อมให้เราเรียนรู้และพัฒนาวิธีการสื่อสารและการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นทั้งในระดับส่วนบุคคล ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ไปจนถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่น
- ต้องหมั่นฝึกฝน เมื่อได้ทักษะความใจกล้าหน้าหนามาแล้วก็หาใช่เป็นสิ่งที่คงอยู่ถาวร แต่หากไม่ใช้ไปนาน ๆ กล้ามเนื้อความหน้าหนาของเราย่อมฟีบฝ่อลงเหมือนกับกล้ามเนื้อที่ร้างลาจากการออกกำลังกาย ดังนั้น การร้องขอคนอื่นแต่ละครั้งเปรียบได้กับการเพิ่มน้ำหนักดัมเบล เพื่อให้กล้ามเนื้อความใจกล้าหน้าหนาแข็งแรงขึ้น
- มูลค่าของการเสียโอกาส ถ้ารู้สึกกลัว อาย ไม่กล้า ลองคิดอีกมุมหนึ่งว่า ‘กี่ครั้งแล้วที่เราพลาดโอกาสดี ๆ ไปเพราะเรากลัวว่าจะโดนปฏิเสธ’ เป็นต้นว่า ‘ถ้าตอนนั้น เราเอ่ยปากไปละก็ ตอนนี้เราอาจจะได้เงินเดือนมากกว่าที่เป็นอยู่ หน้าที่การงานอาจจะเติบโตกว่านี้ สถานการณ์คงจะดีกว่านี้ เราคงได้เริ่มธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุ 25 ฯลฯ’ อย่ากลายเป็นคนประเภท ‘รู้งี้’ เมื่อโอกาสหลุดลอยไปแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สายเกินไป เพราะช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มฝึกกล้ามเนื้อใจกล้าหนาก็คือ ‘ตอนนี้’
แต่ละครั้งที่ใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ก่อนจะเอ่ยปากร้องขออะไรใคร ให้ระลึกไว้ว่า ไม่มีใครเก่งกล้าสามารถได้ในชั่วข้ามคืน แต่หากไม่ย่อท้อถอดใจไปเสียก่อน เราย่อมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเองและสภาพแวดล้อมรอบตัว เราจะกลายเป็นคนที่กล้าพูดกล้าทำมากขึ้น กล้าขอขึ้นเงินเดือนกับหัวหน้า กล้าเสนอไอเดียใหม่ ๆ ในที่ประชุม แม้อาจเสี่ยงต่อการโดนตีตก กล้าแนะนำสิ่งที่เหมาะสม ไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าอยากได้ยินเท่านั้น กล้าเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง หรือกล้าลาออกเมื่อตระหนักว่างานที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์กับเราอีกต่อไป
การโดนปฏิเสธนั้นเจ็บปวดแน่ แต่จะเจ็บปวดยิ่งกว่าหากว่าเรานั่นแหละคือคนแรกที่ปฏิเสธความต้องการของตัวเราเอง
ที่มา
รูปโดย Freepik