ปัจจุบันพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่ใช้ระดมทุนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสังคมเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยมีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2563 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียนด้วย พันธบัตรครั้งนั้นสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เป็นผู้ดำเนินการและดูแล นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนได้รับความนิยมสูงจากนักลงทุนและสถาบันการเงินต่าง ๆ เพราะออกโดยรัฐบาลจึงมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก

Credit: PEA

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เองได้มีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเป็นครั้งแรกในชื่อ PEA Sustainability Bond for Better Life ในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2567 นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นประธาน โดยมีสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เป็นผู้ดำเนินการจัดหาเงินกู้ ส่วนธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการจัดจำหน่าย อายุพันธบัตร 5 ปี วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.67% ต่อปี ภายใต้ Sustainable Finance Framework ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นที่ปรึกษาการจัดทำและให้การรับรองการออก Sustainability Bond  โดย DNV (Thailand) Co.,Ltd.  เป็นผู้สอบทานภายนอกที่เป็นอิสระ (Second Party Opinion) ตามมาตรฐานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม 

PEA นับเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานแห่งแรกที่จัดทำ Framework สอดคล้องตามมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (ASEAN Taxonomy)

เงินทุนที่ระดมได้นำมาลงทุนในโครงการภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืนสองโครงการที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ โครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า และโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Micro Grid) บนพื้นที่เกาะพะลวย และเดินหน้าสู่บทบาทการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน พัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียวด้วยการออกพันธบัตร ESG Bond เพื่อดำเนินโครงการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศและของโลกเป็นสำคัญ เพื่อสร้างและส่งต่อโลกที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

Credit: PEA

นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ตอกย้ำการนำองค์กรมุ่งสู่เส้นทาง Green Finance สอดรับความมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Roadmap) ใน พ.ศ.2580 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน พ.ศ.2608 ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของ PEA ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investor :II) ที่สนใจลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนสามารถเสนอขายได้เต็มวงเงิน และมียอดจองซื้อสูงถึง 6 เท่าของวงเงินที่เสนอขาย

รูปโดย: PEA