Grid Brief
- อุซเบกิสสถานเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับ 10 ของโลก และเป็นแหล่งพลังงานมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ประกอบกับรัฐบาลจัดงบประมาณอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลมากที่สุดติด 25 อันดับแรกของโลก ค่าไฟจึงถูกที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ส่งผลให้อุซเบกิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก
- ธนาคารโลกส่งโครงการ iCRAFT เข้าไปช่วยเปลี่ยนให้อุซเบกิสถานเปลี่ยนถ่ายสู่พลังงานสีเขียว และมอบเงินจูงใจก้อนแรก 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหลังจากอุซเบกิสถานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 500,000 ตัน นับเป็นประเทศแรกในโลกที่รับเงินจากโครงการนี้
อุซเบกิสสถาน ประเทศในเอเชียกลางติดอันดับโลกในด้านพลังงานหลายประการ ทั้งอุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติระดับที่เป็นผู้ส่งออกระดับโลก เป็นหนึ่งในประเทศที่ค่าไฟถูกที่สุดโลก ล่าสุดยังเป็นประเทศแรกในโลกที่ได้รับเงินนับร้อยล้านบาทจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ใครให้ ให้ทำไม ไปหาคำตอบกัน
The Innovative Carbon Resource Application for Energy Transition Project for Uzbekistan (iCRAFT) คือโครงการ ‘เครดิตด้านนโยบาย’ โครงการแรกของธนาคารโลก ซึ่งจะมอบเงินจูงใจ 46.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,568 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้พลังงานลง
เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2566) โครงการ iCRAFT พุ่งเป้าไปที่อุซเบกิสถาน ซึ่งมีปริมาณการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ นับว่าสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนน้ำ จึงต้องนำเข้าน้ำที่ใช้ภายในประเทศมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และสถานการณ์น้ำยิ่งเลวร้ายขึ้นจากภาวะโลกเดือด
ในทางกลับกัน อุซเบกิสถานอุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติในระดับที่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 10 ของโลก และก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่มากมายยังเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ประกอบกับรัฐบาลจัดงบประมาณอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลมากที่สุดติด 25 อันดับแรกของโลก จึงเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีค่าไฟถูกที่สุดในโลก ส่งผลให้อุซเบกิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก
ความที่ค่าไฟที่ถูกมาก ประชาชนและภาคเอกชนเลยไม่สนใจถึงการลดการใช้พลังงาน หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าที่ควร ซึ่งสวนทางกับยุทธศาสตร์ชาติของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ.2573 หรือในระยะยาวคือ พ.ศ.2593
อย่างไรก็ตาม อุซเบกิสถานเป็น 1 ใน 197 ประเทศภาคีที่ลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันว่าจะร่วมจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยหนึ่งในวิธีการก็คือต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้
รัฐบาลอุซเบกิสถานจึงปลุกความตื่นตัวด้านพลังงานในหลายมิติ เช่น จากเดิมที่เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติคือเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า 80 – 93.3 เปอร์เซ็นต์ และมีการจ้างงานในด้านพลังงานมากถึง 150,000 คน ทว่า ในไม่กี่ปีมานี้ พลังงานหมุนเวียนในอุซเบกิสถานเติบโตขึ้นจาก 12 เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ และมีการจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ที่อัตราภาษีไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น รัฐบาลยังลดภาษีนำเข้ารถอีวีและรถไฮบริด ทำให้ราคารถทั้งสองประเภทถูกลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายรถอีวีในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า เนื่องจากรถอีวีถูกกว่ารถสันดาปที่เติมน้ำมัน และค่าไฟในการชาร์จรถอีวีที่บ้านยังถูกมาก เพียง 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 170 บาท) ก็ทำให้รถวิ่งได้ไกลถึง 500 กิโลเมตร
โครงการ iCRAFT ของธนาคารโลกยังช่วยให้อุซเบกิสถานเปลี่ยนถ่ายสู่ยุคสมัยของการใช้พลังงานสีเขียว และเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในระดับสากล เมื่อกลางปีที่ผ่านมา อุซเบกิสถานจึงได้รับเงิน 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 254 ล้านบาท) จากโครงการ iCRAFT เป็นเงินจูงใจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 500,000 ตัน โดยรัฐบาลอุซเบกิสถานตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซให้ได้ 60 ล้านตัน และอาจจะได้รับเงินจูงใจอีก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (678.5 ล้านบาท) จากโครงการนี้
เงินจูงใจที่ได้รับมานี้ รัฐบาลอุซเบกิสถาน กล่าวว่า จะใช้เป็นเงินชดเชยแก่กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีค่าไฟฟ้า
เงินจูงใจของโครงการ iCRAFT มาจาก Transformative Carbon Asset Facility (TCAF) กองทุนของธนาคารโลกเพื่อช่วยเหลือประเทศที่บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศได้ กองทุน TCAF ได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เช่น แคนาดา เยอรมนี นอร์เวย์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และ Climate Center Foundation ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ที่มา
- https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2024/06/21/uzbekistan-receives-7-5-million-in-carbon-credits-for-enabling-half-a-million-tons-of-emissions-reduction
- https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2023/06/30/innovative-world-bank-project-will-help-uzbekistan-reduce-emissions-and-access-international-carbon-markets
- https://edition.cnn.com/2024/08/29/business/uzbekistan-electric-cars-spc/index.html
- https://www.undp.org/uzbekistan/environment-and-climate-action
- https://gov.uz/en/emdra/news/view/13925