Grid Brief
- ถอดบทเรียนจากการเผชิญซูเปอร์ไต้ฝุ่นจนไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้นานนับสัปดาห์ และโดนถล่มซ้ำด้วยคลื่นความร้อน จนผู้ประสบภัยต้องเสียชีวิตเพราะอากาศร้อนจัด ญี่ปุ่นฝ่าภัยธรรมชาติรุนแรงได้ด้วยการติดตั้งพลังงานทางเลือกสำรองทั้งในโรงเรียน โรงพยาบาลและบ้านเรือน
ไต้ฝุ่นฟ้าใสขึ้นฝั่งที่จังหวัดชิบะด้วยความเร็วลม 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเดือนกันยายน 2562 เป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นรุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ ตามมาด้วยคลื่นความร้อนที่ทำให้ผู้คนล้มตายจากฮีตสโตรก ญี่ปุ่นจะรับมือภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นและโจมตีคู่กันอย่างไรในอนาคต ไปดูกรณีศึกษา ‘การควบคุมความเสียหาย’ จากภัยธรรมชาติสุดขั้วของชาวญี่ปุ่นกัน
ซูเปอร์ไต้ฝุ่นฟ้าใสโค่นเสาไฟฟ้ามากกว่า 2,000 ต้น ที่เกิดเหตุส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชิบะ ส่งผลให้ครัวเรือนนับแสนไม่มีไฟฟ้าใช้หลายวัน หรือบางพื้นที่เป็นสัปดาห์ ขณะที่ครัวเรือน 140,000 หลังคาเรือนไม่มีน้ำประปา หลังเจอไต้ฝุ่น ยังผ่านพ้นไป ยังตามมาด้วยคลื่นความร้อนสูงกว่า 38 องศาเซลเซียสที่ทำให้ผู้ประสบภัยล้มตายจากอาการฮีตสโตรก
ในช่วงเวลาสุดวิกฤต ชาวญี่ปุ่นรอดชีวิตมาได้ ส่วนหนึ่งด้วย ‘พลังงานสำรองทางเลือก’
การเตรียมแหล่งพลังงานทางเลือกสำรองไว้ยามฉุกเฉินนับเป็นส่วนสำคัญยิ่งเมื่อถึงฤดูภัยธรรมชาติ โรงเรียนรัฐ 19,500 แห่งที่รัฐบาลวางให้เป็นศูนย์พักพิงยามฉุกเฉินต่างติดเครื่องปรับอากาศแบบใช้พลังงานจากแก๊สโพรเพน ซึ่งยังเดินเครื่องต่อได้แม้ไฟดับ โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่นจึงกักตุนแก๊สโพรเพนแบบกระป๋องไว้มากพอให้ใช้งานยามฉุกเฉินได้ 3 วัน เนื่องจากมีบทเรียนมาแล้วจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นฟ้าใสที่ศูนย์พักพิงไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่งผลให้ใช้เครื่องปรับอากาศไม่ได้ จึงมีผู้ประสบภัยอย่างน้อย 4 รายเสียชีวิตจากฮีตสโตรก
โรงพยาบาลเป็นสถานที่เสี่ยงต่อความเป็นความตายเช่นกัน ซึ่งล้วนได้รับบทเรียนจากเหตุสึนามิตามด้วยแผ่นดินไหวถล่มในปี 2554 มาแล้ว จึงเตรียมแผนสำรองล่วงหน้า เช่น โรงพยาบาลในจังหวัดชิซูโอกะที่โดนไต้ฝุ่นจ่ามีถล่มในปี 2561 ส่งผลให้บ้านเรือน 710,000 หลังไม่มีไฟฟ้าใช้ สถานพยาบาล 49 จาก 73 แห่งในจังหวัดไฟดับนานกว่า 12 ชั่วโมง บางกรณีแพทย์ต้องทำคลอดโดยให้เจ้าหน้าที่ส่องไฟฉาย
หลังเหตุการณ์นั้น กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งให้โรงพยาบาล 776 แห่งทั่วญี่ปุ่นเป็นโรงพยาบาลฐานในช่วงวิกฤต ต้องรักษาผู้ประสบภัยในพื้นที่และรับคนไข้จากโรงพยาบาลอื่นด้วย โรงพยาบาลฐานเหล่านี้ยังต้องติดตั้งเครื่องปั่นไฟสำรองให้ใช้งานได้อย่างน้อย 3 วัน และโรงพยาบาลบางแห่งมีการฝึกเจ้าหน้าที่ให้คิดแผนลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 40% เผื่อไว้ยามไฟดับด้วย
ส่วนประชาชนคนทั่วไปในจังหวัดชิบะที่เคยเจอเหตุการณ์ไฟดับนานเป็นสัปดาห์เพราะฤทธิ์ไต้ฝุ่น หลายบ้านติดตั้งเครื่องปั่นไฟสำรองและแผงโซลาร์เซลล์ ในยามวิกฤตเช่นนี้ พลังงานทางเลือกเหล่านี้ช่วยได้มาก นอกจากจะมีไฟไว้เดินเครื่องตู้เย็นให้แช่น้ำเย็น ๆ ไว้แจกเพื่อนบ้านช่วงคลื่นความร้อนถล่มแล้ว ยังได้แช่ผักสดที่ปลูกไว้เอง ซึ่งไม่เพียงให้สารอาหารต่อร่างกาย แต่สำคัญกว่านั้นคือได้เติมพลังความมีชีวิตชีวาให้จิตใจ หลังจากต้องกินอาหารแห้งมาหลายวันช่วงไฟดับอีกด้วย ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดไว้นั้นไม่ได้เพื่อตัดขาดการใช้ไฟฟ้าตามปกติ แต่เป็นตัวเลือกที่ช่วยให้อุ่นใจว่าเรามีไฟฟ้าใช้เมื่อไรก็ได้ตามต้องการ
ญี่ปุ่นประสบภัยธรรมชาติรุนแรงมาตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา และเมื่อโลกรวนก็ยิ่งเจอกับหายนะภัยรุนแรงและถี่ขึ้น โยชิเทรุ มุโรซากิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงจากหายนะภัยแห่งมหาวิทยาลัยโกเบ กล่าวว่า ไม่มีที่ใดในโลก จากฮาวายถึงชิลี ไปถึงฝรั่งเศส ทุกแห่งอาจเจอแผ่นดินไหวและฝนตกหนัก มนุษย์ยิ่งต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้โลกรวนไปมากกว่านี้ และหนึ่งในวิธีการก็คือการใช้พลังงานหมุนเวียน
ที่มา
Photo: Jussi Toivanen