Grid Brief

  • ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านเป็นได้ตั้งแต่คีย์บอร์ด คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงเครื่องซักผ้าและเครื่องฟอกอากาศ หากไม่คัดแยกแล้วทิ้งปะปนกับขยะอื่น ๆ ก็จะกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น ควรคัดแยกไว้แล้วจัดส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เวสต์ (e-waste) หรือ WEEE (Waste Electrical and Electronic Equipment) คือ ขยะที่มาจากอุปกรณ์ที่ใช้งานด้วยพลังงานไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมักจะเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แบ่งออกเป็นหลายประเภทตามลักษณะและขนาดของอุปกรณ์ ได้แก่

  1. ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และทีวี
  2. อุปกรณ์ในภาคเกษตร เช่น เครื่องปั่นลม และเครื่องตัดหญ้า
  3. อุปกรณ์ในภาคอุตสาหกรรม เช่น ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ
  4. อุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่องฟอกอากาศ และเครื่องช่วยหายใจ

ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มีมากถึง 62 ล้านตันในปี 2564 เพิ่มขึ้น 82% ในรอบ 1 ทศวรรษ จนกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง 

อันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์

ขยะในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยสารพิษหลายชนิด เช่น โลหะหนัก สารปรอท สารตะกั่ว แคดเมียม beryllium สารหน่วงไฟ CFCs เมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกทิ้งลงในพื้นที่ โลหะหนักจะปนเปื้อนในดินและน้ำ ส่งผลต่อระบบนิเวศที่จะย้อนกลับมาทำลายสุขภาพของมนุษย์ โดยก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง ส่งผลต่อระบบประสาทและกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก เป็นต้น 

นอกจากนี้ การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการเผาจะปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ และส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนที่กำลังสร้างผลกระทบต่อโลกในทุก ๆ ด้าน 

อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ใช้แล้วจะไปอยู่ที่ไหน?

ประเทศไทยเผชิญวิกฤตขยะที่สั่งสมมาจากครัวเรือนในชุมชนต่าง ๆ มากไม่แพ้กับประเทศอื่นโดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยประมาณ 4 แสนตันต่อปี ขณะที่มีการกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้องเพียง 20% เท่านั้น 

ขยะชิ้นเล็กต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ เมื่อเลิกใช้แล้วเป็นขยะ ส่วนหนึ่งถูกทิ้งไป แต่ผู้คน 35 – 40% เก็บโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วไว้ในบ้าน ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อเสียหรือหมดอายุการใช้จะขายให้ผู้รับซื้อของเก่า แต่ยังมีคน 15 – 20% ที่เก็บขยะเหล่านี้ไว้ที่บ้าน สะสมเพิ่มจำนวนขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปจึงโละทิ้งปะปนไปกับขยะทั่วไปโดยไม่คัดแยกและหาทางกำจัดขยะอย่างถูกต้อง

การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการไม่คัดแยกโลหะต่าง ๆ ในขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปรีไซเคิลให้กลับมาใช้งานได้ใหม่ ยังเป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอีกด้วย 


กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไรให้ถูกวิธี

การรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ถึง 12.6  กิโลกรัม แล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในชีวิตประจำวันที่ไม่ใช้แล้ว หากรีไซเคิลอย่างถูกต้องจะช่วยลดการปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศได้มากเพียงไร 

ทั้งนี้ หลักการง่าย ๆ ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทำได้โดย คัดแยกขยะรีไซเคิลกำจัดอย่างถูกวิธี

และเราทุกคนมีส่วนร่วมในการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการ ลดการใช้ซ่อมแซมบริจาครีไซเคิล


ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในบ้าน ส่งไปไหนดี? 

เมื่อคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว สามารถจัดส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ    

  1. โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก (Chula Loves the Earth)

ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชนและหน่วยงานที่สนใจ แล้วส่งต่อให้บริษัทรับกำจัดและดำเนินการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง เป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบจากสารตกค้าง เกิดการปนเปื้อนของโลหะหนักชนิดต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพตามมา  โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รับ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต อุปกรณ์เสริม โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชิ้นเล็ก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก

การจัดส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปได้ที่ 

โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก

ชั้น 8 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน​ กรุงเทพฯ​ 10330

โดยขอความร่วมมือช่วยห่อพัสดุด้วยวัสดุกันกระแทกก่อนจัดส่ง เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่จัดเก็บและขนส่ง สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นใหญ่สามารถให้พนักงานเก็บขยะมูลฝอยนำไปส่งให้สำนักงานเขตหรือและงดรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือขยะอันตราย ดังนี้

1. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์/เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ เช่น ทีวี แอร์ ตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ (รับได้ชิ้นใหญ่สุดคือโน้ตบุ๊ก)

2. แบตเตอรี่รถยนต์ ถ่านไฟฉาย ถ่านกระดุม

3. หลอดไฟ

หากไม่มั่นใจว่าทางโครงการฯ รับอุปกรณ์ใดบ้าง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2218-3959 และ FB: https://www.facebook.com/ChulaLovestheEarth/?locale=th_TH 

  1. โครงการ WEEE HAPPY 

รับขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปจัดการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี โดยส่งพัสดุไปที่
โครงการ WEEE HAPPY 79/29 หมู่ 19 ซอยธนสิทธิ์ ถนนเทพารักษ์ บางพลีใหญ่ บางพลี สมุทรปราการ 10540 หรือนำไปส่งด้วยตนเองได้ที่
โครงการ WEEE HAPPY 79/29 หมู่ 19 ซอยธนสิทธิ์ ถนนเทพารักษ์ บางพลีใหญ่ บางพลี สมุทรปราการ 10540
Google Map: https://g.page/niquecorp?share

  1. E-Waste+ 

แพลตฟอร์มการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยี Blockchain ที่ช่วยให้เห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ตั้งแต่ ผู้ทิ้งขยะ (Customers) ผู้รับขยะ (Drop Point Agents) การขนส่ง ไปจนถึงปลายทางโรงงานจัดการขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ตามมาตรฐานแบบ Zero Landfill  

ประเภทของที่รับในการทิ้งผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste+

  • โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต 
  • อุปกรณ์เสริมมือถือ และแท็บเล็ต เช่น  หูฟัง ลำโพง สายชาร์จ อะแดปเตอร์
  • ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก  เมาส์ คีย์บอร์ด ฮาร์ดดิส ลำโพง
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่น ๆ เช่น กล้องถ่ายรูป เครื่องเล่นดีวีดี จอยเกม วิทยุสื่อสาร เครื่องคิดเลขโทรศัพท์บ้าน รีโมตคอนโทรล เครื่องเล่น MP3 เป็นต้น

ยกเว้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ พาวเวอร์แบงก์ และถ่านไฟฉายทุกประเภท 

วิธีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยแอปฯ E-Waste+ ทำได้โดย 

  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ‘E-Waste+’ ซึ่งรองรับทุกเครือข่ายและทั้งระบบ Android และ IOS ลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกผู้รักษ์โลก โดยกรอกชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์มือถือ และตั้งรหัสผ่าน หลังจากนั้นเข้าสู่ระบบ (โดยสามารถลงทะเบียนได้ทุกเครือข่าย) สามารถโหลดแอป E-Waste+ ได้ทาง https://m.ais.co.th/ApH8dgAi8
  • ลงทะเบียนและนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งที่จุดรับของ E-Waste+ โดยมีเจ้าหน้าที่ในการรับขยะถ่ายภาพและใส่ข้อมูลเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ผู้ใช้งานเห็นได้ว่าขณะนี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของคุณอยู่ในขั้นตอนไหน และแสดงผลลัพธ์การส่งขยะเสร็จสมบูรณ์ถึงโรงงานที่ได้มาตรฐานเพื่อทำการจัดการอย่างถูกวิธีแก่ผู้ทิ้งขยะ จนออกมาเป็น Carbon Score หรือปริมาณการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้แบบเรียลไทม์ 

ล่าสุด แอปฯ E-Waste+ คว้ารางวัล Winner of WSIS Prize 2024 ในสาขาสุดยอดเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (WSIS Action Lines C7 E-Environment) ได้สำเร็จ โดย WSIS Prize เป็นรางวัลที่จัดตั้งขึ้นโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union :ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations :UN) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนให้องค์กรทั่วโลกนำเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs