‘บ้านขุนแปะ’ เมื่อหลายทศวรรษก่อนคือพื้นที่บนภูเขาสูงชันทางภาคเหนือที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอและม้งที่มีอาชีพปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย
กระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดตั้งมูลนิธิโครงการหลวงบ้านขุนแปะขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526 ชาวเขากว่า 500 หลังคาเรือนของบ้านขุนแปะจึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยการหันมาทำการเกษตร ปลูกผัก ผลไม้ พืชไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ และสมุนไพรต่างๆ ส่งไปจำหน่ายยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ สร้างรายได้และพาชุมชนออกห่างจากปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนบ้านขุนแปะ ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก บ้านขุนแปะ ในปี พ.ศ. 2532 เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำที่มีไหลต่อเนื่องตลอดปี มาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ โรงเรียนบ้านขุนแปะ และหมู่บ้านในพื้นที่กว่า 10 แห่ง ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ การดำเนินชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายขึ้นมีระบบการสื่อสารที่ช่วยพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ ที่ต้องใช้ห้องเย็นในการจัดเก็บผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ให้สามารถใช้งานสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยได้มากขึ้น และเด็กนักเรียนเองก็ได้ใช้แสงสว่างเพื่อศึกษาหาความรู้ในเวลากลางคืนได้
การวัดคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนั้น ไม่ได้มีรายได้ครัวเรือนเป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว หากยังมีตัวชี้วัดอื่นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น การพัฒนาระบบการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้และทักษะที่จะสร้างอาชีพของตนเองและพัฒนาอาชีพของครอบครัว นี่จึงเป็นภารกิจหลักที่โรงเรียนบ้านขุนแปะยึดเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาการเรียนการสอน
ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “เป็นครูใช่ไหม ขอฝากเด็กๆ ด้วยนะ ช่วยสอนให้เขาเป็นคนดี”
ทำให้ใน พ.ศ. 2557โรงเรียนบ้านขุนแปะได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รุ่นที่ 4 ซึ่งนับเป็นรุ่นสุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์
นอกจาก PEA แล้วก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาสนองพระราชดำริในส่วนงานที่รับผิดชอบด้วย ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน (จัดระบบและจัดสรรพื้นที่ทำกินให้เกษตรกร) กรมชลประทาน (สร้างฝายเก็บน้ำและอ่างเก็บน้ำโดยรอบหมู่บ้าน) อำเภอจอมทอง (จัดทำทะเบียนราษฎร์ ทำบัตรประชาชน ดูแลการปกครองในท้องถิ่น) และสาธารณสุขอำเภอจอมทอง (สร้างสถานีอนามัยบ้านขุนแปะ)
ในส่วนของ PEA เองนั้น การที่มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก บ้านขุนแปะเพียงแหล่งเดียว ส่งผลให้เกิดไฟตก ไฟดับ และต้องจำกัดช่วงเวลาการใช้กระแสไฟฟ้า
จึงมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่บ้านขุนแปะมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2541 PEA ได้เพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล และระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ช่วยให้กำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ได้สร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้ายิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ PEA ยังมุ่งมั่นพัฒนาระบบไฟฟ้าบ้านขุนแปะให้เป็นระบบอัจฉริยะทำงานทั้งในโหมดแยกตัวอิสระ (Islanding) และในโหมดเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก (Grid Connected) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าเป็นระบบไฟฟ้าแบบ Smart Microgrid แบบสมบูรณ์ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องไฟตก ไฟดับได้เป็นอย่างดี และไม่ต้องจำกัดการใช้ไฟฟ้าเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในการรักษาผลผลิต หน่วยงานได้ใช้ไฟฟ้าดำเนินงานให้บริการประชาชน โรงเรียนได้ใช้ไฟฟ้าในการเรียนการสอน และเด็กๆ ได้ใช้ไฟฟ้าเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้อย่างต่อเนื่อง
กระทั่งในปี พ.ศ. 2560 PEA ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาระบบไฟฟ้าโดยเน้นการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ เป็นที่มาของการพัฒนากังหันพลังน้ำประสิทธิภาพสูงแต่ใช้น้ำน้อย มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น และติดตั้งระบบควบคุมการจ่ายไฟ (Microgrid Controller) รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ด้วย
ตลอด 30 ปีของการพัฒนาระบบไฟฟ้าบ้านขุนแปะที่มีจุดเริ่มต้นจากพระเมตตาของพระราชาที่ทรงมีต่อพสกนิกรในพื้นที่ห่างไกล PEA ได้สานต่อพระราชปณิธานของพระองค์และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทยต่อไป
เรื่องโดย กรองทอง แก้วบุญเรือง PEA Creator