ตัวเลขจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ระบุว่าใน พ.ศ. 2562 มียอดขายยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) กว่า 2.1 ล้านคันทั่วโลก ทำให้ในปัจจุบันมีรถ EV อยู่บนท้องถนนกว่า 7.2 ล้านคัน จากที่เคยมีเพียง 17,000 คันใน พ.ศ.2553 โดยรุ่นที่มีผู้ใช้มากที่สุดคือ Model 3 ของค่ายรถยนต์ Tesla

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของบริษัท Tesla ผู้ปลุกกระแสให้รถพลังงานไฟฟ้าเป็นที่จับตามอง ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ‘บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก’ หลังจากมูลค่าหุ้นของ Tesla เพิ่มขึ้น 1,030 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้มัสก์มีทรัพย์สินประมาณ 188,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราวๆ 5.6 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน 

เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2564 Tesla เปิดยอดขายรถ EV ของปีที่ผ่านมาว่าได้ส่งมอบรถให้ลูกค้าได้ 499,647 คัน ผิดจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 500,000 คันไปเล็กน้อย ทำรายได้ทั้งหมด 31,500 ล้านเหรียญ (9 แสนล้านบาท) คิดเป็นกำไร 721 ล้านเหรียญ (2 หมื่นล้านบาท)

อีลอน มัสก์เข้าซื้อกิจการ Tesla ใน พ.ศ.2547 และใช้เวลาเพียง 16 ปีก็ทะยานสู่ความสำเร็จด้วยราคาหุ้นที่ขึ้นพรวดจนทะลุหุ้นละ 1,000 เหรียญฯ ทำให้ Tesla ก้าวไปเป็นผู้ผลิตรถที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในโลก แซงหน้าบริษัทผู้ครองตลาดรถยนต์มายาวนานอย่าง Toyota Motor Co., Ltd. ที่จดทะเบียนบริษัทเมื่อ พ.ศ.2480 สั่งสมประวัติศาสตร์มายาวนานถึง 83 ปี

แม้ว่า Toyota จะมีจำนวนรถที่ขายได้มากกว่า Tesla ถึง 30 เท่า และ มีรายได้มากกว่า 10 เท่า แต่นโยบายของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ผลักดันให้มีการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าทั้งในระบบขนส่งสาธารณะ และส่วนบุคคล ทำให้รถ EV กลายเป็นอนาคตที่น่าคาดหวังของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ผลพลอยได้จึงตกแก่ Tesla ที่ครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งในสังเวียนรถพลังงานทางเลือก ด้วยเทคโนโลยี และดีไซน์ที่ล้ำสมัย 

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทยังมาจากตัวซีอีโอผู้นี้ที่ขยันปั้นโครงการหลากหลายทั้ง Hyperloop อุโมงค์รถโดยสารความเร็วสูง SpaceX จรวดพาคนไปอยู่บนดาวอังคาร Powerpack และ Powerwall แบตเตอรีเก็บพลังงานไฟฟ้า SolarCity อุปกรณ์ผลิตและจ่ายพลังงานสะอาด ฯลฯ 

ในปี พ.ศ.2564 นี้ ทางบริษัทมีกำลังการผลิตรถ EV ได้ 1.05 ล้านคัน เพราะมีโรงงานผลิตทั้งที่เมืองฟรีมอนต์ในแคลิฟอร์เนียและโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโรงงานผลิตใหม่อีก 2 แห่งที่เมืองออสติน รัฐเทกซัสและที่เมืองบรันเดินบวร์ค ประเทศเยอรมนี ซึ่งหากไม่ถูกศาลสั่งระงับการก่อสร้างชั่วคราว โรงงานในเยอรมนีจะเป็นโรงงานผลิตรถ EV ที่ใหญ่และล้ำยุคที่สุดในโลก แต่เพราะที่ตั้งโรงงานเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของงูและกิ้งก่าบางสายพันธุ์ จึงต้องยุติการก่อสร้างไปก่อน จนกว่าจะหาทางแก้ไขปัญหานี้ได้ 

Cover Illustration โดย Anothernum