ฟาร์มปศุสัตว์กลายเป็นอาชญากรสิ่งแวดล้อมในยุคที่ทั่วโลกต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน เนื่องจากมูลของวัว ควาย แกะ แพะและปศุสัตว์ทั้งหลายมีก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีอานุภาพทำลายชั้นบรรยากาศมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า ส่งผลให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์มีส่วนในการก่อปัญหาโลกร้อน 16 เปอร์เซ็นต์
ที่ผ่านมาถึงแวดวงปศุสัตว์ไม่ได้นิ่งเฉย แต่พยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่ตัวเองมีส่วนก่อขึ้น และข่าวดีมากก็มาถึงเมื่อ มีการค้นพบว่า สาหร่ายทะเลสีแดงที่ชื่อว่า Asparagopsis สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง และเมื่อไปเป็นอาหารแก่ปศุสัตว์ก็ช่วยลดก๊าซมีเทนได้ถึง 98 เปอร์เซ็นต์
การค้นพบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นข่าวใหญ่ในแวดวงพลังงานและอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกเมื่อ 2 ปีก่อน แต่เรื่องใหม่ก็คือ ออสเตรเลียซึ่งพบสาหร่ายกู้โลกร้อนได้มากตามชายฝั่ง ได้สร้างธุรกิจใหม่ในรูปแบบฟาร์มเพาะสาหร่ายทะเลสีแดงและมุ่งเป้าตีตลาดอาหารปศุสัตว์ระดับโลก ผลพลอยได้คือเกิดการสร้างอาชีพใหม่ในอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่เกษตรกรเพาะสาหร่ายไปจนถึงผู้แปรรูปสาหร่าย
CSIRO หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียให้ข้อมูลว่า หากฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เปลี่ยนมาใช้อาหารสัตว์ที่ทำจากสาหร่ายทะเลสีแดง ก็จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 120 เมกะตัน หรือ 120,000,000,000 กิโลกรัมต่อปี เทียบเท่าการเอารถออกจากท้องถนน 50 ล้านคันเลยทีเดียว
คาเรน แอนดรูว์ส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของออสเตรเลีย เร่งรัดให้ผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลสีแดงออกวางจำหน่ายโดยเร็วที่สุด เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสุขภาพของโลกให้ดีขึ้นด้วย