17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 กลายเป็นวันเลวร้ายของชาวอเมริกัน เมื่อพื้นที่ 1 ใน 4 ของรัฐเทกซัสตกอยู่ในความมืดมิดและความหนาวเย็น เนื่องจากพายุฤดูหนาวพัดถล่มทางตอนใต้ของสหรัฐ หอบมาทั้งหิมะ ฝนและลูกเห็บ บางพื้นที่อุณหภูมิลดต่ำถึง -15 องศาเซลเซียส และมีหิมะหนา 2 นิ้วปกคลุมถนนในชั่วข้ามคืน ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อความอบอุ่นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าระบบจะรับไหว จน The Electric Reliability Council of Texas หรือ ERCOT ผู้ผลิตไฟฟ้าในเทกซัสต้องหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าชั่วคราว เพื่อรักษาสมดุลของพลังงานไฟฟ้า
ขณะที่พลังงานทางเลือกอย่างพลังลมและพลังงานแสงอาทิตย์ก็กลายเป็นอัมพาตไปด้วย เนื่องจากไม่มีแสงแดดและใบพัดของกังหันลมก็ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง จนไม่อาจหมุนผลิตพลังงานลมได้ ขณะที่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันก็โดนหิมะเล่นงานจนไม่อาจลำเลียงพลังงานได้เช่นกัน ลามไปถึงท่อน้ำประปาที่กลายเป็นน้ำแข็ง บางท่อถึงกับระเบิด ทำให้รัฐเทกซัสเจอกับวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ประชากรในเทกซัสกว่า 4.3 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ และวิกฤตไฟดับก็ยังลามไปกระทบชีวิตผู้คนอีก 400,000 คน ในลุยเซียนา โอไฮโอและเวอร์จิเนีย 300,000 คนในโอเรกอน และอีก 24,000 คนในนิวเจอร์ซีย์ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเทกซัสอย่างเม็กซิโกก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เมื่อชาวเม็กซิกันกว่า 4.7 ล้านคนต้องใช้ชีวิตแบบไร้ไฟฟ้าใช้
เหตุการณ์ไฟดับในเทกซัสครั้งนี้ทำให้สภาคองเกรสให้ผู้เกี่ยวข้องไปชี้แจง เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ภัยธรรมชาติก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมต่อชีวิตผู้คนซ้ำอีก จะว่าไปนี่ก็คือผลพวงล่าสุดของปัญหาโลกร้อน รวมไปถึงพายุฤดูฝน พายุฤดูหนาวหรือพายุฤดูร้อนที่ร้ายแรงขึ้นทั่วโลกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้โรงไฟฟ้าในหลายประเทศได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ญี่ปุ่น ปากีสถาน ไปจนถึงฝรั่งเศส
วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตพลังงานหลายต่อหลายครั้ง กลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ว่า นอกจากเดินหน้าเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกกันมากขึ้นแล้ว การสร้างแหล่งกักเก็บพลังงานปริมาณมหาศาลให้ได้และการบริหารการจ่ายพลังงานให้สมดุลกับความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นปัญหาเร่งด่วนไม่แพ้กัน