Grid Brief
- Volkswagen Wallbox คือเครื่องชาร์จ 2 ทาง ที่ทั้งเก็บและจ่ายคืนพลังงานได้แบบ 2 in 1
- เครื่องชาร์จนวัตกรรมนี้จะดึงไฟจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านมาเก็บไว้ในแบตเตอรีรถอีวี ขณะเดียวกันแบตเตอรีรถอีวีก็ป้อนพลังงานให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้
- มีการทดลองเครื่องชาร์จ 2 ทางกับอะพาร์ตเมนต์โครงการหนึ่งที่มีผู้อยู่อาศัยหลายพันรายในเยอรมนีแล้ว
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ Volkswagen ผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก จัดงาน Virtual Event ในชื่อ ‘Power Day’ ซึ่งได้เปิดตัว ‘Volkswagen Wallbox’ นวัตกรรมเครื่องชาร์จที่ทั้งเก็บและจ่ายคืนพลังงานได้ในหนึ่งเดียว โดยกูรูเทคโนโลยีวิเคราะห์ว่า นี่จะเป็นการปฏิวัติหลายอุตสาหกรรม ทั้งรถพลังงานไฟฟ้า (รถอีวี) พลังงาน ที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ไฟฟ้า
วิกฤตพลังงาน
เหตุการณ์พายุหิมะถล่มทำให้ประชาชนในรัฐเทกซัสพากันกระหน่ำเปิดเครื่องทำความร้อน จนโรงไฟฟ้าต้องตัดกระแสไฟ เพื่อรักษาสมดุลเครื่องจักรไม่ให้ทำงานหนักจนพังไปเสียก่อน ผู้คนหลายล้านชีวิตในประเทศมหาอำนาจจึงต้องตกอยู่ในสภาพหนาวยะเยือกเท่ากับอลาสกา นี่จึงนับเป็นสัญญาณเตือนที่เด่นชัดว่า นับแต่นี้วิกฤตโลกร้อนจะก่อให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งคลื่นความร้อน พายุเฮอร์ริเคน พายุหิมะและพายุฝนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วย
ขณะเดียวกันก็มีความย้อนแย้งอย่างเหลือเชื่อ เมื่อมีกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานสะอาดมากถึง 6,500 กิกะวัตต์ต่อปีที่สูญเปล่าไป เนื่องจากไม่มีที่เก็บพลังงาน ซึ่งกระแสไฟเท่านี้สามารถทำให้รถอีวี 2.7 ล้านคันแล่นไปตามท้องถนนได้สบาย ๆ ไปทั้งปี
ทางออกคือรถอีวี
นับจาก พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป Volkswagen (VW) จะผลิตรถอีวีและเครื่องชาร์จที่รองรับการชาร์จไฟแบบ 2 ทาง (Bi-Directional Wallbox Charger) ซึ่งเก็บไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านมาไว้ในแบตเตอรีรถอีวี แล้วเมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็สามารถต่อปลั๊กจากรถอีวีเข้ากับเครื่องชาร์จ เพื่อให้ไฟฟ้าจากแบตเตอรีรถที่ใช้มาทั้งวันไหลคืนกลับไปที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านให้ใช้งานได้
เครื่องชาร์จไฟแบบ 2 ทางนี้จะทำให้ผู้ใช้รถกลายเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดย่อมที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองในครัวเรือนได้ ถือเป็นการ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และจะไม่มีการปล่อยให้กระแสไฟฟ้าสูญเปล่าอย่างแต่ก่อนอีก ผู้บริหารของค่ายรถ VW กล่าว
นอกจากนี้ ทาง VW ยังทำโครงการทดลองประสิทธิภาพของเครื่องชาร์จไฟแบบ 2 ทางนี้กับอะพาร์ตเมนต์สร้างใหม่ในเมืองวอลฟ์สบวร์ก ประเทศเยอรมนี (เมืองที่มีรถยนต์ VW Beetle คันแรกที่ผลิตออกมาใน พ.ศ. 2481) ซึ่งมีห้องพัก 1,250 ยูนิต มีผู้อยู่อาศัยราว ๆ 3,000-4,000 คน มีกำลังการเก็บไฟฟ้าได้ 2 เมกะวัตต์ชั่วโมง ติดตั้งเครื่องชาร์จไฟแบบ 2 ทางหรือเครื่องวอลล์บ็อกซ์ 270 เครื่อง และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 720 กิโลวัตต์ ลองคิดดูว่าถ้าโครงการทดลองนี้ขยายผลจากโครงการอะพาร์ตเมนต์ เป็นทั้งเมือง ทั้งประเทศ ทั้งทวีปและทั้งโลก โฉมหน้าอุตสาหกรรมรถอีวีและพลังงานในโลกใบนี้จะพลิกผันไปมากเพียงไร
Volkswagen Wallbox คือเครื่องชาร์จ 2 ทาง ที่ทั้งเก็บและจ่ายคืนพลังงานได้แบบ 2 in 1
ทางตันที่ (อาจ) เกิดขึ้น
จะว่าไปเครื่องชาร์จไฟแบบ 2 ทางไม่ใช่เรื่องใหม่ คนในวงการรถอีวีคุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้กันอยู่แล้ว เพียงแต่เครื่องชาร์จไฟแบบ 2 ทางยังไม่เคยมีการผลิตใช้งานในเชิงพาณิชย์มาก่อน อันเนื่องมาจากข้อจำกัดบางประการ
- แบตเตอรีรถอีวีแพง : ก่อนหน้านี้ส่วนหนึ่งที่ทำให้รถอีวีมีราคาแพง เพราะต้นทุนแบตเตอรี่ค่อนข้างสูง เพิ่งจะไม่กี่ปีมานี้เองที่รถอีวีขนาดกลางถึงขนาดเล็กมียอดขายพุ่งพรวด ทำให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรีจึงลดลงตามไปด้วย และการที่มีผู้ใช้รถอีวีมากขึ้นนี่เองที่ทำให้ค่ายรถยนต์มั่นใจว่าถ้าผลิตเครื่องชาร์จไฟแบบ 2 ทางก็จะมีผู้ใช้งานจำนวนมากพอ หรือคุ้มค่ากับการลงทุนนั่นเอง
- ยิ่งใช้มาก แบตยิ่งเสื่อมไว : นี่คือข้อจำกัดที่ยังไม่มีค่ายรถยนต์ใดจัดการได้ แล้วยิ่งใช้แบตเตอรีทั้งจ่ายไฟให้รถอีวีและ จ่ายไฟให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วย แบตเตอรีจะไม่ยิ่งเสื่อมไวขึ้นหรือ นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ใช้รถอีวีอาจคิดหนักและลังเลใจ
- กฎหมาย : หากมีการใช้งานเครื่องชาร์จไฟแบบ 2 ทางอย่างแพร่หลายจริง ๆ นั่นคือการดิสรัปโรงไฟฟ้ากันเลยทีเดียว แต่ดูเหมือนว่า VW จะมั่นใจว่ากฎหมายที่จะมากำกับดูแลเครื่องชาร์จไฟแบบ 2 ทาง ซึ่งเปรียบเสมือนโรงไฟฟ้าส่วนบุคคลนี้จะผ่านฉลุยอย่างแน่นอนในปีหน้าที่จะเปิดใช้งานเทคโนโลยีใหม่นี้