Grid Brief

  • มารู้จักต้นไม้ที่มีคุณสมบัติ ‘ปลูกง่ายตายยาก’ ที่เหมาะสำหรับปลูกที่คิดอยากลองเริ่มปลูกต้นไม้ดูบ้าง
  • การปลูกต้นไม้นอกจากเป็นกิจกรรมคลายเหงาแล้ว ยังให้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ช่วยดูดสารพิษ ให้ออกซิเจน ให้ความสบายตา และช่วยตกแต่งบ้านให้น่าอยู่ขึ้นได้
  • การเฝ้ามองความอึดและอดทนของต้นไม้ อาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเราเองในยามท้อแท้หมดกำลังใจก็เป็นได้

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ หลายคนมองหากิจกรรมไว้แก้เบื่อและคลายเหงา  ซึ่งการปลูกต้นไม้เป็นหนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมของหลาย ๆ คน แต่ถ้าใครยังนึกไม่ออกว่าควรเริ่มต้นปลูกต้นอะไรดี เรามีต้นไม้ที่เหมาะกับ ‘มือใหม่หัดปลูก’ เช่นคุณมาฝากกัน พร้อมเรื่องราวดี ๆ จากต้นไม้เหล่านั้นด้วย

สุดยอดไม้อึด

เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้ที่อาจยังไม่มีทักษะการปลูกต้นไม้ อยากให้เริ่มด้วยต้นกระบองเพชร ในหนังสือ My Voice Will Go With You: The Teaching Tales of Milton H. Erickson (Edited and with Commentary by Sidney Rosen)

ได้เล่าไว้ว่า จิตแพทย์ผู้หนึ่งได้รักษาชายติดสุราเรื้อรังให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งได้ด้วยการให้เขาไปดูต้นกระบองเพชรในสวนพฤกษชาติที่อยู่รอดมาได้ถึง 3 ปี โดยไม่มีใครรดน้ำให้เลย นอกจากเป็นการยืนยันความ ‘อึด ถึก ทน’ ของกระบองเพชรที่เหมาะเป็นไม้ต้นแรก ๆ ของคุณแล้ว เมื่อใดที่คุณท้อ รู้สึกติดหล่มชีวิต ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ ขอให้นึกถึงความไม่ยอมแพ้ของต้นกระบองเพชร

ต้นไม้ของคน ‘ขี้ลืม’

หากคุณมีกิจกรรมเยอะจนอาจหลงลืมการรดน้ำให้ต้นไม้ที่คิดจะปลูกล่ะก็ ไม้เหล่านี้เหมาะกับคุณ

ถ้าอยากได้ต้นใหญ่หน่อย อาจเลือกเป็นเฟื่องฟ้า สะเดา ไผ่ตงลืมแล้ง โดยเฉพาะไผ่ตงลืมแล้ง ชื่อก็บอกชัดเจนว่า ต่อให้แล้งก็ยังแทงหน่ออ่อนขึ้นมาให้ได้เก็บกิน  และในทางกลับกัน ต่อให้น้ำท่วมต้นเป็นเวลานาน ๆ ไผ่ตงก็ไม่ตาย จึงเป็นสัญลักษณ์ความอึดในทุกสภาพแวดล้อมที่ให้แรงบันดาลใจชีวิตเราได้เช่นกัน

ส่วนไม้ต้นเล็กที่รดน้ำเพียงวันละครั้งได้ ก็มีต้นกระบองเพชรดาวล้อมเดือน ต้นดาวเรือง หมากผู้หมากเมีย ส่วนชวนชมที่ถือเป็นไม้เสริมความมั่งคั่ง ก็เป็นไม้ที่ทนแล้งได้ดี เพราะลำต้นจะอุ้มน้ำไว้เลี้ยงตัวเองยามไม่มีน้ำ 

นอกจากนี้ ก็มีต้นอากาเว่ (รดน้ำสัปดาห์ละครั้ง) ต้นพลูด่าง (รดน้ำ 3 วันครั้ง) ต้นยางอินเดีย (รดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้งหรือเมื่อสังเกตว่าดินแห้ง) กระบองเพชรมิกกี้เมาส์ (รดน้ำเมื่อดินแห้ง) มะยมเงินมะยมทอง (รดน้ำ 2- 3 วันครั้ง) วาสนากับโมก (รดน้ำ 5-7 วันครั้ง) ส่วนต้นบัวบกโขด (รดน้ำประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หรือรดแค่ให้ดินชุ่มก็เพียงพอ) ถ้ารดน้ำมากไปเหง้าจะราขึ้นได้

ต้นไม้ดูดสารพิษ

ถ้าจะหาไม้ที่ทั้งช่วยดูดสารพิษดั่งเครื่องฟอกอากาศตามธรรมชาติ แล้วยังปลูกง่ายตายยากด้วยล่ะก็ แนะนำเศรษฐีเรือนใน เพราะสามารถกำจัดมลพิษในอากาศได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในเวลา 2 วัน รดน้ำเพียงสัปดาห์ละครั้ง หรือเมื่อสังเกตว่าดินแห้ง แค่นี้ต้นเศรษฐีเรือนในก็อยู่ได้แล้ว

ลิ้นมังกร นอกจากช่วยดูดสารพิษแล้วยังช่วยคายก๊าซออกซิเจนในเวลากลางคืน เป็นไม้เลี้ยงง่าย ทนทาน แข็งแรง อยู่ได้ในทุกสภาพแวดล้อม แต่ไม่ค่อยชอบแสงแดดและน้ำมากนัก ส่วนว่านหางจระเข้เหมาะที่จะปลูกในอาคาร เพราะช่วยดูดสารฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีนที่เป็นส่วนผสมของสีทาบ้านและสารที่ใช้เคลือบเฟอร์นิเจอร์ได้ 


ต้นไม้กินอากาศ

ทิลแลนด์เซีย เป็นต้นไม้ที่ชวนให้นึกถึงความอัศจรรย์ในการดำรงชีวิตของมัน เพราะดูดซับความชื้นและหาอาหารจากอากาศได้เอง แค่หาท่อนไม้สักท่อนให้ยึดเกาะ และแขวนไว้ในที่มีแสงแดดสัก 50-70 เปอร์เซ็นต์ รดน้ำบ้างไม่รดบ้างได้ตามสะดวก ก็ยังเติบโตได้ แต่ถ้าช่วงฝนชุกต้องย้ายมาแขวนในที่อากาศถ่ายเทได้ดีและไม่โดนฝน แค่นี้ทิลแลนด์เซียก็พร้อมดูแลตัวเองได้แล้ว

ต้นไม้ใบสวยดั่งนางงาม 

เช่น กวักมรกต ฟิโลเดนดรอน และบอนดำ โดยเฉพาะฟิโลเดนดรอนที่กลายเป็นไม้ยอดฮิตในบ้านเราที่นั้น ชอบแดดรำไร ปลูกในร่มได้ เหมาะมากกับผู้ที่อยู่ในคอนโด  ไม้ที่ใบสวยอีกชนิดก็คือจั๋ง  เป็นพืชตระกูลปาล์ม ขึ้นเป็นกอ ใบเขียวสดเป็นแฉกคล้ายพัด ทนแล้งทนแดดได้ดี เติบโตได้แม้ขาดน้ำหลายวัน 

ใบบอนดำนั้น จะเปลี่ยนสีไปตามระดับแสงแดดที่ได้รับ ถ้าปลูกกลางแจ้ง ใบจะออกสีดำเข้ม แต่ถ้าปลูกในร่ม ใบจะออกเขียว อยากได้ใบสีไหน ก็เลือกวางกระถางให้เหมาะ ส่วนไม้ใบสวยที่ไม่ชอบแดดจัด ๆ ขอแดดลรำไร และทนทานต่อการเลี้ยงในร่ม จะเป็นต้นมอนสเตอราและต้นซานาดู คอยรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็เพียงพอแล้ว

Cover Illustration โดย ANMOM