Grid Brief
- สองดีไซเนอร์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์นำเศษวัสดุเหลือใช้ในไซต์งานมาประดิษฐ์เก้าอี้ที่ไม่เหมือนใคร และใช้งานได้จริง
- หน้าที่ของดีไซเนอร์ไม่ใช่แค่การออกแบบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความสำคัญในการเลือกใช้วัสดุให้คุ้มค่า เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม
- เปิดมุมมองให้เห็นถึง ‘คุณค่า’ จากการออกแบบ ความสวยงาม และการใช้งานมากกว่าการให้ ‘มูลค่า’ จากราคาวัสดุของสิ่งนั้น ๆ
- การฝึกสังเกตสิ่งรอบตัวให้มากขึ้น อาจทำให้เกิดแรงบันดาลใจ หรือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เราหลุดออกจากกรอบความคิดเดิม ๆ ได้ด้วย
ชวนมาสนทนากับคุณหยก – ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยาและคุณนิ – ชินภานุ อธิชาธนบดี สองดีไซเนอร์คนเก่งแห่ง Trimode Studio บริษัทแถวหน้าในแวดวงอินทีเรียร์และงานดีไซน์ ทั้งสองหยิบจับวัสดุเหลือใช้อย่าง ‘กล่องพักสายไฟ’ และ ‘ท่อร้อยสายไฟ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุหลักจากโปรเจกต์ตกแต่งร้านค้า มาใส่ความคิดสร้างสรรค์ จนกลายมาเป็นเก้าอี้สุดคูลสไตล์อินดัสเทรียลตัวนี้ ที่ไม่เพียงใช้งานได้จริง แต่ยังเป็นการแชร์ไอเดีย รวมทั้งยังเป็นต้นแบบชวนให้คนอื่นนึกอยากออกจากกรอบความคิดเดิม ๆ ได้อีกด้วย
ที่มาที่ไปของเก้าอี้ตัวนี้
คุณหยก “ตอนนั้นบริษัทเรารับออกแบบตกแต่งร้านอาหารแห่งหนึ่งในสไตล์อินดัสเทรียล วัสดุที่ใช้จึงเป็นพวกท่อร้อยสายไฟและกล่องพักสายไฟค่อนข้างเยอะ โดยให้ช่างไฟดัดท่อเป็นรูปทรงต่าง ๆ บางส่วนก็ใช้เป็นท่อร้อยสายไฟจริง ๆ บางส่วนก็เป็นการดัดเพื่อความสวยงาม การที่ไปดูงานที่ไซต์ทุกวัน ได้เห็นวัสดุเหล่านี้บ่อยเข้า ประกอบกับมีเศษวัสดุเหลือใช้ค่อนข้างเยอะ เลยรู้สึกสนใจ และคิดว่าน่าเอามาทำอะไรได้ และบริษัทเราก็รับออกแบบเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว จึงคิดว่าน่าจะนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ให้ลูกค้า จะได้เป็นกิมมิกที่เข้ากันกับสไตล์ร้านด้วย เลยลองนำเศษท่อและกล่องพักสายไฟที่เหลือใช้มาครีเอทต่อ”
คุณนิ “ในฐานะดีไซเนอร์ ผมคิดว่าถึงเวลาที่เราควรกลับมามองวัสดุที่อยู่บนโลกนี้อย่างจริงจัง เพื่อดูว่ามันจะเป็นอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากที่ถูกออกแบบให้เป็นอยู่ การทำงานของเราจึงดีไซน์โดยไม่ให้ความหมายกับวัสดุว่าคืออะไร มีหน้าที่อย่างไร แต่จะพยายามมองหาในมุมอื่น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คำว่า Flexible มีบทบาทกับเรามาก อย่างเก้าอี้ตัวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เห็นช่างดัดท่อร้อยสายไฟเพื่อใช้งานตามหน้าที่ของมัน เลยได้เห็นว่ามันดัดในมิติไหนได้บ้าง โค้งแบบไหน ในองศาไหนได้บ้าง ผมทึ่งในทักษะการเดินท่อสายไฟของช่างนะ เพราะเขาหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้”
การนำวัสดุมาใช้ประโยชน์นอกเหนือจากหน้าที่เดิม
คุณหยก “โจทย์ที่วางไว้คือเก้าอี้ไดน์นิ่ง (Dining) เพื่อเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เข้ากันกับคอนเซ็ปต์ร้าน เป็นการเปิดกว้างทางไอเดียมากกว่าเป็นข้อจำกัดนะ เราอยู่หน้างาน เห็นการทำงานของช่าง พอเห็นวัสดุเหลือใช้ เลยลองทำดู มีทั้งที่เวิร์กและไม่เวิร์ก จนมาลงตัวที่รูปทรงแบบนี้ที่ลองนั่งดูแล้วก็รู้สึกว่าสบาย”
คุณนิ “เราสเก็ตช์หยาบ ๆ ยังไม่ได้ดูเรื่องสัดส่วน เพื่อดูทักษะการดัดท่อร้อยสายไฟของช่างมากกว่า แม้เขาเองก็ไม่เคยทำแต่ก็มีความชำนาญกว่าเรา เลยเป็นการทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ไปด้วยกันระหว่างเราคนออกแบบกับช่างไฟที่เป็นคนช่วยเราดัด”
อุปสรรคในการทำเก้าอี้ตัวนี้คืออะไร
คุณหยก “อย่างแรกเลยคือเครื่องมือดัด ซึ่งดัดได้ในองศาที่จำกัด เลยต้องลองทำแล้วค่อยปรับแก้กันไป ต่อมาก็พบว่าเก้าอี้ที่ทำเสร็จแล้วมีน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งไม่เหมาะในการใช้งานจริง ก็ต้องมาปรับโครงสร้าง ลดทอนฟังก์ชันบางอย่างไป ในขณะเดียวกันเราพยายามทดลองว่าตัวกล่องพักสายไฟอยู่ในระนาบที่นั่งได้หรือไม่ ก็เลยทดลองทำเก้าอี้หลายรูปแบบ”
การฝึกสังเกตสิ่งรอบตัวให้มากขึ้น อาจทำให้เกิดแรงบันดาลใจ หรือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เราหลุดออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ได้ด้วย
จากเก้าอี้ต้นแบบมีโอกาสพัฒนาเป็นโปรดักต์ไหม
คุณนิ “เราเพิ่งมารู้ทีหลังว่ามีหลายคนอยากได้เก้าอี้ตัวนี้นะ (หัวเราะ) แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าวัตถุประสงค์ในการทำเก้าอี้ตัวนี้คือการนำเอาวัสดุเหลือใช้กลับมาทำประโยชน์ ให้มันกลับไปมีการใช้งาน เหมือนเป็นของขวัญคืนกลับไปให้ที่ไซต์งาน”
“เราเลยไม่อยากเอาวัสดุที่ถูกผลิตมาเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างหนึ่ง มาแปลงเป็นอย่างอื่นโดยไม่จำเป็น นอกเสียจากว่ามันเป็นของเหลือใช้แล้ว ไม่อย่างนั้นจะผิดจากความตั้งใจที่เราอยากทำให้ขยะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง จากของเหลือใช้ให้กลับมามีประโยชน์ได้มากที่สุด”
ทำลายข้อจำกัดทางความคิด ในการนำวัสดุมาใช้ประโยชน์ให้ต่างไปจากเดิม
คุณนิ “เป็นสิ่งที่ผมสอนน้อง ๆ ในทีมและนักศึกษาที่มีโอกาสได้ไปสอนว่า ให้สังเกตสัญชาตญาณที่บ่งบอกพฤติกรรมตัวเองก่อน เช่น เดินอยู่บนถนน ถ้าเริ่มอยากนั่ง เราจะมองหาอะไร พฤติกรรมอย่างฉับพลันคือการนั่งบนบันได หรืออะไรก็ได้ที่มีการยกระดับขึ้นมาจากพื้น หรือถ้าอยากทิ้งขยะแต่ไม่มีถังขยะ เราจะมองหาอะไร บางคนอาจหาซอกหลืบมุมตามเสา ซึ่งการสังเกตนี้อาจไม่ต้องทำพฤติกรรมนั้นจริง แต่แค่ให้สังเกตและขบคิดกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราให้มากขึ้น เป็นการมองกายภาพที่บ่งบอกถึงจิตใจมนุษย์ พยายามฝึกแบบนี้บ่อยเข้า เราก็จะเจอสิ่งใกล้ตัวที่เคยมองข้ามไป”
คุณหยก “ก่อนหน้านี้เราไม่ได้คำนึงถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่สักเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับแต่ละโปรเจกต์มากกว่าว่ามีคอนเซปต์ยังไง แต่มาช่วงหลังเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น อาจด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบและใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะดีไซเนอร์ที่ทำหน้าที่ออกแบบ เราเลยต้องใส่ใจในการใช้วัสดุให้คุ้มค่ามากขึ้น”
เปิดมุมมองให้เห็นถึง ‘คุณค่า’ จากการออกแบบ ความสวยงาม และการใช้งานมากกว่าการให้ ‘มูลค่า’ จากราคาวัสดุของสิ่งนั้น ๆ
‘คุณค่าเหนือมูลค่า’ คือเทรนด์ปี 2564 ในมุมมองของนักสร้างสรรค์
คุณนิ “อย่างที่คุณหยกบอกว่า เราเป็นดีไซเนอร์ หน้าที่เราคือผู้ออกแบบและเป็นผู้ที่ใช้วัสดุมากมายเลย ฉะนั้น การที่เราจะทำอะไรกับวัสดุที่อยู่บนโลกใบนี้ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ต้องใส่ใจเรื่องการลดปริมาณวัสดุ รวมถึงลดกระบวนการขั้นตอนในการทำงาน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยอีกทางหนึ่ง ดังนั้น ‘คุณค่า’ ของวัสดุจึงอยู่ที่ระบบความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์สิ่งนั้นขึ้นมา ซึ่งเราสามารถหามุมมองของคุณค่าสิ่งนั้นได้ จะด้วยการออกแบบ ความงาม การใช้งาน หรือแง่มุมอื่นใดก็ได้ มากกว่าที่จะไปให้ ‘มูลค่า’ ตามราคาวัสดุที่นำมาใช้
อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น สมมติว่ามีสร้อยอยู่สองเส้น เส้นหนึ่งเป็นทอง อีกเส้นเป็นงานคราฟต์ที่ถักทอจากพลาสติก โดยตั้งราคาขายสร้อยทั้งสองเท่ากัน คนที่ให้ความสำคัญกับมูลค่าก็อาจเลือกสร้อยทอง แต่คนที่ให้คุณค่ากับไอเดียความคิดสร้างสรรค์มากกว่าก็อาจจะเลือกสร้อยพลาสติก”
คุณหยก “เราจะแปลงสิ่งที่อยู่ในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยข้อจำกัดที่เปลี่ยนไปตามทางเลือกที่มีอยู่ เพื่อให้ปรับตัวให้ได้ในทุกบริบท ซึ่งในการเป็นนักออกแบบ เราตีความการเพิ่มพูนคุณค่าให้เหนือมูลค่า ด้วยการใส่ใจในการเลือกใช้วัสดุและสร้างคุณค่าใหม่ให้กับวัสดุธรรมดา เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยต้องการความ ‘มาก’ กลายเป็นต้องการความ ‘เหมาะสม’ ทั้งในแง่คุณภาพสินค้าและฟังก์ชันการใช้งาน”
การหาแรงบันดาลใจ หรือการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์
คุณหยก “ส่วนตัวแล้วแรงบันดาลใจมากจากการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเห็นอะไรก็เป็นแรงบันดาลใจได้หมดเลย ไอเดียที่เกิดขึ้นของเราจึงมักมาจากสิ่งใกล้ตัวเสมอ”
คุณนิ “ผมว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนมองเห็นและเข้าถึงได้ง่ายที่สุด และเราสามารถสื่อสารเพื่อจุดประกายไอเดียให้คนอื่นได้ ด้วยการลองให้เขาสังเกตสิ่งใกล้ตัวให้มากขึ้นว่ามันนำมาทำอะไรได้มากกว่าที่คิด รวมถึงลองมองในมุมอื่นดูบ้างว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นทำอะไรได้อีก นอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยเดิมที่มันถูกผลิตมา อย่างเช่น เรามองเก้าอี้ธรรมดาตัวหนึ่ง ก็รู้ว่านี่คือสิ่งที่ถูกออกแบบมาให้นั่ง แต่ถ้าผมเปลี่ยนมุมมองให้เก้าอี้เป็นแค่วัตถุชนิดหนึ่งที่นั่งได้ หากนำมาเรียงต่อกันยาว ๆ แล้ววางแผ่นไม้ลง ก็จะกลายเป็นตู้ หรือเอาไปไว้ติดผนังเพื่อวางพระพุทธรูป เก้าอี้ก็จะกลายเป็นหิ้งพระ ฉะนั้น คุณค่าของวัตถุนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ไว้นั่งอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว”
ว่าแล้วก็อย่าลืมฝึกการสังเกตสิ่งรอบตัว และลองมองในมุมใหม่ ๆ กันดู เผื่อจะจุดประกายความคิดใหม่ ๆ ที่อาจสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและสิ่งแวดล้อมได้อย่างคาดไม่ถึง
เรื่องโดย Nid Peacock
ภาพถ่ายโดย อรุโณทัย พุทธรักษา