“ทุ่งลาดกระบัง” แปลงนาที่เหลืออยู่ไม่กี่แปลงในพื้นที่ของแขวงทับยาว เขตลาดกระบัง จังหวัดกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกข้าวที่กำลังลดน้อยถอยลงของเมืองหลวงแห่งนี้ ทุกปีในช่วงที่ข้าวกำลังออกรวง (ช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม) จะมีเหล่าผู้อิงอาศัยน้อยใหญ่บินมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้ในการหาอาหาร จับคู่ และสร้างครอบครัว

ภาพนกกระติ๊ดแดงคู่ ถ่ายด้วยเลนส์ทางยาวโฟกัส 800 มิลลิเมตร จากบลายด์ที่ตั้งอยู่ห่างจากนกราว 20 เมตร นกตัวขวาคือเพศผู้ ส่วนตัวซ้ายคือเพศเมีย มีลักษณะต่างกันอย่างชัดเจน
ภาพ: จุลล์ จูงวงศ์

หนึ่งในนั้นคือ “นกกระติ๊ดแดง” (Red Avadavat) นกขนาดเล็กที่ดูเผิน ๆ มีขนาดไล่เลี่ยกับนกกระจอก แต่อวบกว่าและสั้นกว่านิดหน่อย สีสันก็ใกล้เคียง แต่ความโดดเด่นจะอยู่ที่ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ตัวผู้จะเปลี่ยนสีขนของตัวเองให้เป็นสีแดงสะดุดตา จนได้รับฉายาว่า “สตรอว์เบอร์รี” เพราะดูแล้วละม้ายคล้ายกับผลสตรอว์เบอร์รีสุก มีจุดสีขาวกระจายอยู่ตามตัว ซึ่งบางทีต่างชาติก็เรียกมันว่า “Strawberry Finch” ทั้งนี้ ก็เพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามให้มาตกล่องปล่องชิ้น สร้างครอบครัวร่วมกันนั่นเอง

ภาพนกกระติ๊ดแดงเพศผู้ ชุดขนผสมพันธุ์ ถ่ายด้วยเลนส์ทางยาวโฟกัส 800 มิลลิเมตร จากบลายด์ที่ตั้งอยู่ห่างจากนกราว 20 เมตรอีกเช่นกัน
ภาพ: จุลล์ จูงวงศ์

นกกระติ๊ดแดงเป็นนกประจำถิ่น พบได้ตามทุ่งนาหรือกอหญ้าสูงตามพื้นที่ชุ่มน้ำ มักพบเป็นฝูง พบได้ในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก สถานะตามหนังสือ “คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล – นกเมืองไทย” ระบุว่าเป็นนกที่ “พบไม่บ่อย” ยิ่งปีหลัง ๆ มานี้จะพบเห็นได้ยากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการขยายของเมือง พื้นที่ปลูกข้าวกลายเป็นหมู่บ้านบ้าง โรงงานบ้าง ถนนหนทางบ้าง ทำให้พื้นที่หากินของนกกระติ๊ดแดงและนกชนิดอื่น ๆ ลดลง จึงส่งผลให้จำนวนของพวกมันลดลงไปด้วย

ภาพนกกระติ๊ดแดง 3 ภาพนี้ ถ่ายด้วยเลนส์ทางยาวโฟกัส 300 มิลลิเมตร
ประกบกับเทเลคอนเวอร์เตอร์ขนาด 2X ทำให้เพิ่มทางยาวโฟกัสได้อีกเท่าตัวไปอยู่ที่ 600 มิลลิเมตร
ถ่ายจากบลายด์ที่ตั้งอยู่ห่างจากนกราว 10 เมตร
ภาพ: กรวิชญ์ เส้นแก้วใส

การถ่ายภาพนก โดยเฉพาะนกที่มีขนาดเล็กอย่างเจ้านกกระติ๊ดแดง การเข้าใกล้ตัวนกให้ได้มากที่สุดเป็นเรื่องจำเป็น เทคนิคที่ได้รับความนิยมในหมู่ช่างภาพคือการใช้บังไพร หรือเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “บลายด์” (Blind) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายเต็นท์ทรงสูง มีช่องเปิดได้รอบด้าน สามารถนั่งส่องนกจากด้านในได้สบาย และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ “โชค” เพราะเราไม่สามารถกะเกณฑ์ได้เลยว่านกจะมาใกล้เราไหม และจะมาตอนไหน หลายครั้งที่นั่งในบลายด์กันหลายชั่วโมงแต่ก็ไม่ได้ภาพอะไรกลับมาเลย แต่สำหรับ “คนถ่ายนก” แค่ได้ไปนั่งในบลายด์สักพักใหญ่ ๆ ก็มีความสุขแล้ว

ข้อมูลนกกระติ๊ดแดง:

ตัวผู้ชุดขนผสมพันธุ์ ปากและขนลำตัวแดงสด แถบตาดำแคบ หลังสีแกมน้ำตาล ปีกและหางดำ มีจุดขาวกระจายที่ลำตัวด้านล่าง ปีก และตะโพก 

ตัวผู้นอกฤดูผสมพันธุ์ คล้ายตัวเมีย แต่จุดขาวใหญ่กว่า ตะโพกมีจุดขาว ตัวเมีย แถบตาดำ ปากและตะโพกแดง ลำตัวด้านบนและล่างน้ำตาล ปีกสีเข้มมีจุดขาวเล็กๆ ถิ่นอาศัย ทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าละเมาะ ที่ราบถึงความสูง 1,525 เมตร ส่วนใหญ่พบในที่ราบ นกประจำถิ่น พบไม่บ่อย ขนาดลำตัวยาว 9.5-10 เซนติเมตร

แหล่งข้อมูล: หนังสือคู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล – นกเมืองไทย

เรื่องโดย จุลล์ จูงวงศ์
ภาพถ่ายโดย กรวิชญ์ เส้นแก้วใส และ จุลล์ จูงวงศ์