Grid Brief
- พ.ศ.2564 ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เราจึงควรเรียนรู้วิธีการบริหารเงินให้เป็นระบบเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อชีวิตเกษียณที่เป็นสุข
แม้ ‘เงิน’ อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ทว่า การมีรายได้ก็ไม่ได้การการันตีว่าอนาคตของคุณจะมั่นคงและปลอดภัย เพราะชีวิตคนเรานั้นไม่แน่นอน ไม่ว่าจะจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงในสังคม หรือจากปัจจัยภายใน เช่น สุขภาพของเรา หรือแม้แต่การเกษียณอายุ ฉะนั้น เราทุกคนจึงควรรู้จักการบริหารเงินให้เป็น เพื่ออนาคตที่เป็นสุขของตัวเอง
1. ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว
ปี 2564 โครงสร้างสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เต็มรูปแบบ โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปี ถึง 13 ล้านคน หรือ 20 % ของจำนวนประชากร และอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2583 จะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมด ดังนั้น ถ้าไม่เริ่มต้นวางแผนการเงินให้ตัวเองตั้งแต่วันนี้ การจะใช้ชีวิตให้เกษียณสุขถือเป็นเรื่องลำบาก จะหวังพึ่งลูกหลานวัยทำงานที่ปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงกว่ายุคที่ผ่านมาคงเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นวัยที่มีหน้าที่รับผิดชอบหนักอยู่แล้ว
2. เงินเฟ้อกินเรียบ แถมดอกเบี้ยต่ำ
การมีเงินนิ่งในบัญชีธนาคารไม่ได้แปลว่าปลอดภัย เพราะอนาคตอาจถูกเงินเฟ้อลดมูลค่าลง ปกติเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่กว่า 2% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากแบงก์ไม่เกิน 2% จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เห็นราคาข้าวหรือก๋วยเตี๋ยวที่เคยกินปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นควรหาวิธีบริหารจัดการเงินที่ไม่ทำให้เงินเฟ้อกินเราอยู่เพียงฝ่ายเดียว นั่นคือนำไปฝากพิเศษ หรือ ไปลงทุน
3. โลกแข่งขันสูง ความเสี่ยงยิ่งเพิ่ม
ยุคที่โลกแห่งความเป็นจริงถูกเชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็วด้วยข้อมูล การแข่งขันของประเทศขนาดใหญ่ก็ย่อมเข้มข้นตาม กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบนอกเหนือจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะผลทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากตัวอย่างสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ (Trade War) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก
4. ชีวิตต้องการจุดหมาย
ชีวิตที่ไม่มีจุดหมายอาจกลายเป็นการทำงานหารายได้อย่างเลื่อนลอย ทำให้มองไม่เห็นความสำคัญของการบริหารจัดการเงินอย่างรัดกุม ในทางกลับกัน การมีความฝันหรือการกำหนดเป้าหมายในชีวิต จะช่วยให้เราอยากวางแผนการเงินอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อนำเงินไปต่อยอดความฝันให้เป็นจริง
5. ความมั่นคงการเงินเป็นสิ่งสำคัญ
ในทุกช่วงของชีวิต แต่ละคนย่อมมีภาระการใช้เงินที่แตกต่างกันไปตามหน้าที่ และ สถานะของตัวเอง การรู้จักบริหารจัดการเงินที่ดีจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน แต่หากไม่มีการจัดสรรการใช้จ่ายให้ดี เกิดการกู้หนี้ยืมสิน หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่งผลกระทบต่อชีวิตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว หน้าที่การงาน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกันก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย