ได้ยินมาว่า ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีร้านน้ำชาชื่อเก๋ ในบรรยากาศบ้านสวนแสนอบอุ่นเหมือนไปจิบน้ำชาบ้านเพื่อน ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ไม่ได้เสิร์ฟชาเหมือนร้านทั่วไป แต่เป็นการเบลนด์ชาสูตรเฉพาะตัวของผู้ดื่มแต่ละคน ซึ่งได้รับความสนใจและสร้างมิติใหม่ให้วงการน้ำชาฟรีของชาวปักษ์ใต้ ทั้งยังเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ลบภาพจำเดิม ๆ ว่า ชาเป็นเครื่องดื่มของคนรุ่นใหญ่อย่างอากงอาม่าเท่านั้น
กำเนิดบ้านใบ
เฟรม – รัตมา เกล้านพรัตน์ เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้เธอชวนสามีกลับบ้านเกิดตัวเองที่พังงา แล้วเปิดร้าน ‘บ้านใบ’ ในคอนเซปต์ ‘บ้าน สวน อิ่ม สุข’ ที่มีโซนต้นไม้ โดยเฉพาะบอนไซจิ๋วที่บอส – ชัยพร เวชไพรัตน์ ผู้เป็นสามีถนัด ให้เลือกชมเลือกช้อปกันตามอัธยาศัย
ส่วนเฟรมรับหน้าที่ดูแลด้านอาหารและครีเอทีฟดริงก์อย่างชา เครื่องดื่มชูโรงประจำร้าน ซึ่งเธอมีความสนใจเรื่องชาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำในสิ่งที่ชอบ
ทว่า ด้วยวิถีชีวิตของคนใต้ตามร้านต่างๆ จะมีชาฟรีให้ดื่มอยู่แล้ว และมักเป็นคนรุ่นใหญ่ที่นิยมดื่มกัน จึงเป็นโจทย์ท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้คนหันมาสนใจดื่มชาของเธอ และจะลบภาพจำว่าชาเป็นเครื่องดื่มของคนมีอายุได้ไหม
คอมมูนิตี้ชา
ความที่บ้านใบไม่มีสูตรชาเบลนด์เป็นของตัวเอง การชงชาจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งที่นี่เน้นชาจีนและชาเบลนด์ เฟรมบอกว่า “ชาจีนมีความสนุกในตัวเอง รสชาติมีการขึ้นลงและหลากหลาย ปรุงได้เยอะมาก ๆ และส่วนตัวชอบกลิ่นของชาสมุนไพรด้วย จึงชอบชาแถบเอเชียมากกว่าชายุโรป”
เฟรมยังบอกอีกว่า การชงชาอาจดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ แล้วต้องใช้ความละเมียดละไมใส่ใจมาก ๆ เพราะทุกองค์ประกอบมีผลต่อรสชาติ ไม่ว่าจะอุณหภูมิน้ำ สัดส่วนของวัตถุดิบที่นำมาผสมกับใบชา ระยะเวลาที่ชง รอบการชง เป็นต้น
นอกจากนี้ สภาพอากาศของพังงาที่ฝนตกเกือบทั้งปี ทำให้มีความชื้นค่อนข้างสูง เป็นตัวแปรสำคัญในการเบลนด์ชา ทำให้ไม่สามารถทำในปริมาณเยอะได้ เพราะเสี่ยงกับการขึ้นราได้
“ชาจีนมีความสนุกในตัวเอง รสชาติมีการขึ้นลงและหลากหลาย ปรุงได้เยอะมาก ๆ และส่วนตัวชอบกลิ่นของชาสมุนไพรด้วย จึงชอบชาแถบเอเชียมากกว่าชายุโรป”
สู่แบรนด์ชาเบลนด์ของตัวเอง
ทั้งคู่เล่าว่า เมื่อปี 2565 ได้ร่วมจัดมินิเวิร์กช้อปโปรเจ็กต์ ‘อุดมสมดุล’ ที่มีหมอจีนตรวจร่างกายของผู้เข้าร่วมงานเพื่อเป็นข้อมูลให้ร้านมรกตโฮมคุ้กกิ้งปรุงอาหาร และร้านบ้านใบชงชา เพื่อเสิร์ฟให้แต่ละคนได้กินอาหารและดื่มชาเพื่อปรับสมดุลร่างกาย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมากจากผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป
เป็นที่มาของการต่อยอดเป็นแบรนด์ชาของตัวเองชื่อ CHUBAICHA ที่มีทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่
- ชาแบบดั้งเดิมที่ไม่ผ่านการเบลนด์ เช่น ชาอู่หลง ชาแดง ชาดำ ชาเขียว
- ชาเบลนด์สูตรของร้านที่ทำไว้แล้ว เช่น ชาซอง ชาสกัดเย็น
- ชาเบลนด์ตามลักษณะอาการเฉพาะของแต่ละคน เช่น อาการนอนไม่ค่อยหลับ หรือต้องการความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
- Cha by You ชาที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกวัตถุดิบเบลนด์เอง เป็นชาตามคาแรกเตอร์ของผู้ดื่ม บอสเสริมว่า “สิ่งที่เราอยากขายไม่ใช่ชาสำเร็จรูปใส่ขวด แต่อยากชงให้เห็นว่า เราไม่ได้ใส่อะไรลงไปนอกเหนือจากที่คุณเลือกและเห็นอยู่ตรงหน้า ได้พูดคุย แนะนำ แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน”
ก่อนโบกมือลา ได้เห็นสาวน้อยหนูชูใบ ลูกสาวของทั้งคู่ เลยทำให้ได้รู้ถึงที่มาของชื่อร้านที่คนรู้จักมักติดปากเรียกบ้านนี้ว่า ‘บ้านใบ’ แล้วยังเข้ากับร้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นบอนไซของพ่อ ใบชาของแม่ และสลัดผักในเมนู ล้วนแล้วแต่เป็นพืชตระกูลใบทั้งสิ้น
ใครแวะเวียนมาที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา อย่าลืมหาโอกาสไปเยือนบ้านใบดูนะ รับรองว่าไม่ผิดหวัง
บ้านใบ
24 22 ม.1 ถ. เพชรเกษม ต.โคกเคียน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
เวลาเปิด-ปิด : 08.30 -17.00 น
โทร : 098-578-2695
Facebook : บ้านใบ
Instagram : baanbai.takuapa