ในปัจจุบันเป็นยุคของ Digital Transformation ที่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ การเตรียมพร้อมรวมถึงการปรับตัวให้ทันสถานการณ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้องค์กรอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Siametric และกรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ThailandFuture) เป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่สนใจและเชื่อมั่นในพลังการขับเคลื่อนอนาคตขององค์กรด้วย “ข้อมูล” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สร้างความได้เปรียบในทางธุรกิจ ตั้งแต่การใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ ตลอดจนการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่องค์กร แต่การจัดการข้อมูลอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด GRID ได้รับเกียรติจาก ดร.ณภัทร มาให้คำตอบนั้น
ทำไมในยุคนี้ข้อมูลถึงมีค่าดุจดั่งทองคำ
อันที่จริงข้อมูลมีคุณค่ามาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว เพียงแต่ในการทำธุรกิจในปัจจุบันมีการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการตัดสินใจต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าที่วางไว้มีมากขึ้น ลดความเสี่ยงในความผิดพลาดได้มากขึ้นตามไปด้วยสิ่งสำคัญที่ทำให้มีการนำข้อมูลมาใช้มากขึ้น เพราะต้นทุนในการได้มาซึ่งข้อมูลต่ำลง และมีเทคนิคในการเก็บสถิติรูปแบบใหม่ ๆ ที่แม่นยำมากขึ้น มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลยิ่งในอนาคตจะมี Quantum Computing (คอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมที่นำคุณสมบัติของอะตอมมาใช้ในการประมวลผลได้เร็วขึ้นมหาศาล)
ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ตามมาเช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักเศรษฐศาสตร์ข้อมูล
ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น จะมีความต้องการทักษะพิเศษเพื่อนำไปใช้กับเทคโนโลยีนั้น ๆ ในการผลิตสินค้าหรือบริการที่เป็นรูปแบบใหม่ ทำให้เกิดอาชีพที่หลากหลายขึ้น ในยุคที่เราพูดกันถึง Blockchain (เทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์) กับโลกของเว็บไซต์ อาชีพหลักอย่างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลและทดสอบสมมติฐานบางอย่างด้วยการพิสูจน์ทางสถิติ รวมถึงการนำเสนอผลลัพธ์ได้อย่างน่าเชื่อถือ ซึ่งในการทำงานควรจะปฏิบัติงานร่วมกับทีมที่ดูแลด้านธุรกิจขององค์กร เพื่อให้มาเสริมความรู้เฉพาะทางในธุรกิจนั้นเข้ากับข้อมูลทางสถิติที่ได้มาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ข้อมูล (Data Economist) ถ้าเป็นรุ่นเก่ามักให้ความสำคัญกับทฤษฎี ในขณะที่รุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับสถิติมากกว่า เพราะบางครั้งข้อมูลก็อาจหลอกเราได้ เช่น ข้อมูลด้านอาชญากรรมของไทยที่พบว่า เหตุร้ายมักเกิดละแวกสถานีตำรวจ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเป็นสถานที่รับแจ้งความเมื่อเกิดเหตุนั่นเอง หรือข้อมูลที่บอกว่าอุบัติเหตุมักเกิดบริเวณป้ายจราจร ซึ่งไม่ได้แปลว่าการมีป้ายจราจรทำให้เกิดคนขับรถชนกัน แต่จริง ๆคืออุบัติเหตุมักเกิดในบริเวณนั้นจึงมีการนำป้ายไปเตือนผู้ขับขี่ยานยนต์ให้เพิ่มความระมัดระวัง ในการวิเคราะห์ข้อมูลจึงต้องตระหนักถึงความเป็นจริงที่อยู่ในข้อมูลให้รอบด้านด้วย
ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Big Data
ส่วนตัวผมรู้สึกเสียดายที่กระแสการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเกิดขึ้นเพราะคำว่า Big Data เพราะจริง ๆ แล้วผมไม่ได้สนใจว่าข้อมูลจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหน ตราบใดที่ข้อมูลสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้ บางครั้งที่เห็นเป็นผลงานอาจไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นการสร้างระบบมาจัดการข้อมูล แต่ข้อมูลนั้นไม่ได้ทำให้เกิดผลลัพธ์ จึงเป็นการลงทุนด้านการจัดเก็บข้อมูลเท่านั้น ถ้าจะวัดความก้าวหน้าขององค์กรด้วยการดูที่งบในการลงทุนด้านการจัดการ Big Data ไม่ถือเป็นความสำเร็จที่แท้จริง แต่ต้องดูที่ผลลัพธ์ทางธุรกิจต่างหากว่าดีขึ้นหรือไม่
คำว่า Big Data เป็นแค่การบอกให้รู้ว่าข้อมูลมีขนาดใหญ่ขึ้นมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งแม้แต่ใบหน้า รูป หรือเสียงก็ถือเป็นข้อมูลได้หมด ผมไม่อยากให้มองเป็นเรื่องไกลตัว เพราะแค่ข้อมูลในมือถือของตัวเองก็เป็น Big Data ได้เหมือนกัน
ทำอย่างไรให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการกับ Big Data
ผมเปิดบริษัทที่ปรึกษาเพื่อนำคุณค่าที่ซ่อนอยู่ของข้อมูลมาใช้ให้มากที่สุด เพราะเห็นว่าเมืองไทยมีข้อมูลเยอะมากที่ยังไม่มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างดีที่สุด ทำให้ผมได้เห็นว่าในธุรกิจหรือองค์กรจะมีคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เชื่อว่าการตัดสินใจที่ถูกต้องคือการใช้ข้อมูล แต่อีกกลุ่มจะเชื่อมั่นในประสบการณ์ ความได้เปรียบทางธุรกิจ หรือใช้อุดมการณ์มากกว่า ซึ่งแต่ละองค์กรก็ต้องหาจุดสมดุลให้เจอ
ถ้าเป็นองค์กรขนาดเล็ก ผมคิดว่าไม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่อง Big Data เลย เพราะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนในการจัดการข้อมูล ควรทำธุรกิจด้วยความสามารถเองเลยดีกว่า แต่ถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่มาก แค่การปรับเปลี่ยนบางอย่าง เช่น สีของโลโก้ ย้าย
ตำแหน่งบางปุ่มในการใช้งาน แม้อาจสร้างรายได้เล็กน้อยต่อผู้ใช้หรือลูกค้าแต่ละคน แต่อย่าลืมว่าธุรกิจคุณขนาดใหญ่มาก ฉะนั้น เงินจำนวนเล็กน้อยนี้จะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ มีบางองค์กรที่ก่อตั้งมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณพ่อสร้างอาณาจักรและประสบความสำเร็จทางธุรกิจโดยไม่ต้องใช้ข้อมูลอะไรเหล่านี้เลย ผมอยากฝากให้คิดต่อสักนิดว่า ถึงจะประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก็ควรตั้งเป้าในการก้าวไปข้างหน้า หรือเติบโตให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ต้องรักษาความมั่นคงที่มีอยู่ไว้ให้ได้ ที่สำคัญต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย ถ้าคนในองค์กรมองกันคนละทาง ธุรกิจก็ไปต่อลำบาก นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสตาร์ทอัพขึ้น เพราะแนวความคิดไม่ตรงกัน
ท่ามกลางข้อมูลที่มีมากมาย องค์กรควรจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สิ่งที่สำคัญที่สุด ผมแนะนำว่าต้องร่าง Data Strategy Plan ขึ้นมาพร้อมกับแผนธุรกิจ แล้วก็จะเห็นทิศทางเองว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร ผมจะย้ำเสมอว่า การจัดการข้อมูลนอกจากต้องใช้งบลงทุนแล้ว ยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ฉะนั้น ต้องพิจารณาดูว่าส่วนไหนขององค์กรหรือของธุรกิจมีความจำเป็นที่ต้องจัดการข้อมูลมากที่สุด รู้ว่าจะทำอะไร ทำไปทำไม เมื่อหาเจอแล้ว จากนั้นวิธีการจัดการจะตามมาเอง ซึ่งแต่ละองค์กรมีกลยุทธ์ต่างกัน การกำหนดเป้าหมายไว้จะทำให้เห็นว่าการจะไปถึงจุดนั้นต้องทำอย่างไร
คำว่า Big Data เป็นแค่การบอกให้รู้ว่าข้อมูลมีขนาดใหญ่ขึ้นมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งแม้แต่ใบหน้า รูป หรือเสียงก็ถือเป็นข้อมูลได้หมด ผมไม่อยากให้มองเป็นเรื่องไกลตัว เพราะแค่ข้อมูลในมือถือของตัวเองก็เป็น Big Data ได้เหมือนกัน
อุปสรรคในการบริหารจัดการข้อมูล
คนเท่านั้นเลยครับ หนึ่งคือผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในทักษะด้านนี้ยังมีน้อย ทำให้ขาดบุคลากรด้านนี้ กับสองการมีคนเข้ามามีส่วนร่วมในการเกิดข้อมูลมากเกินไป ทำให้มีโอกาสผิดพลาดได้ เช่น การให้คนไปเก็บข้อมูล อาจเกิดความผิดพลาดในกระบวนการทำงานได้ แต่ถ้าใช้ AI แทนอาจจะได้ข้อมูลที่แม่นยำกว่า เป็นต้น
ข้อมูลเหล่านี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพพนักงานในองค์กรได้อย่างไร
ที่เห็นชัดเจนคือด้าน KPI Management / Incentive / Retention แต่ผมไม่ได้เสนอให้ปฏิบัติกับพนักงานเหมือนเป็นนอตตัวหนึ่งในระบบ เพราะนั่นไม่ใช่วัฒนธรรมองค์กรที่ดีและก็คงไม่มีพนักงานคนไหนอยากทำงานในองค์กรนั้น แต่การบริหารงานก็จำเป็นต้องมีระบบที่มีมาตรฐาน ในอนาคตองค์กรจะไม่ได้สร้างรายได้ขึ้นจากการผลิตของเครื่องจักรเสมอไป แต่ส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรบุคคลต่างหาก ฉะนั้น องค์กรที่ดีจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะพนักงานให้เก่งขึ้น และสร้างแรงจูงใจให้อยู่กับองค์กรนาน ๆ
ผมขอยกตัวอย่างการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากเดิมที่พนักงานต้องคอยนั่งจ้องจอเพื่อเฝ้าระวังการแทรกแซงราคาหุ้น ผมทำระบบ AI เพื่อจับ Market Manipulation (การสร้างราคาหลักทรัพย์ หรือปั่นหุ้น) ทำให้ประหยัดเวลาลงได้ครึ่งหนึ่งจากที่เคยใช้ ทำให้พนักงานมีเวลาไปตรวจสอบการทุจริตที่ซับซ้อนได้มากขึ้น เมื่อทำงานได้มากขึ้น ดีขึ้น แต่ใช้เวลาน้อยลง ยังส่งผลให้พนักงานมีเวลาส่วนตัวในการพัฒนาทักษะให้ตัวเองได้ ทั้งยังช่วยให้ไม่ต้องทำงานซ้ำจำเจในทุก ๆ วันอีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมจากการได้บริหารจัดการข้อมูล
ผมเป็นที่ปรึกษาให้ True Digital Group บริษัทในเครือของ True Corporation ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการทำ Digital Transformation ให้แก่องค์กรและธุรกิจในเมืองไทย ตอนนั้นทั้งบริษัทมีทีมงานแค่ 7 คน และยังไม่มีโปรดักต์เลย กระทั่งปัจจุบันมี 4 บริการหลัก ได้แก่ บริการแพลตฟอร์มด้านไลฟ์สไตล์ แอปพลิเคชันขายสินค้าออนไลน์ บริการโซลูชันดิจิทัลสำหรับองค์กรและธุรกิจ และเปิดสถาบันพัฒนาความรู้ในการทำ Digital Transformation
Dashboard สำคัญและจำเป็นหรือไม่
ผมบอกได้เลยว่า Dashboard ไม่ควรเป็นงานแรกที่ทำเพราะถือเป็นโปรเจกต์ปราบเซียนเลย เป็นงานที่ดูเหมือนง่ายและเป็นที่คาดหวังของผู้บริหาร ซึ่งในการนำข้อมูลทั้งองค์กรมาแสดงผล ต้องอาศัยความถูกต้องแม่นยำและนำเสนออย่างมีสไตล์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ส่วนใหญ่ข้อมูลมักอยู่กระจัดกระจาย ทำให้การรวบรวมข้อมูลมีโอกาสผิดพลาดได้สูง หากไม่ชำนาญจะส่งผลให้ Dashboard นั้นขาดความน่าเชื่อถือ แต่หากมีความพร้อมแล้ว Dashboard เป็นสิ่งที่ดีที่ควรมี และควรนำเสนอข้อมูลเพียงอย่างหรือสองอย่างเท่านั้น แม้การผูกรวมข้อมูลต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันเป็นไอเดียที่ดี แต่เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ข้อมูลถูกต้องและมีความเสถียร เพราะหากผิดพลาดจะกระทบถึงความน่าเชื่อถือขององค์กร
สิ่งที่อยากฝากไว้
ผมไม่ห่วงเรื่องความตื่นตัวของสังคมในการให้ความสำคัญและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มี เพราะกระแสเรื่องนี้ค่อนข้างดี เพียงแต่จะได้ดำเนินการหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะมีหลายองค์กรที่ตื่นตัวแต่ยังทำไม่ได้หรือยังไม่ได้ทำแต่ที่ผมกังวลใจคือการดำเนินการมากกว่า อย่างที่บอกไว้ว่าบุคลากรที่มีความสามารถด้านนี้ยังมีน้อยมาก นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่จะทำได้ดีได้ยากมากในโครงสร้าง วัฒนธรรม หรือนโยบายแบบเดิม ๆ เราต้องเปิดใจให้กว้างรับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปของโลกในปัจจุบันให้ได้