‘Carbon Neutrality’ คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมา

จะเห็นว่า หลายองค์กรหันมาทำ Carbon Neutrality กันมากขึ้น ไม่เพียงแต่จะช่วยปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยประหยัดต้นทุน เพิ่มชื่อเสียงของแบรนด์ เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันอีกด้วย และยังเป็นเครื่องมืออันทรงพลังช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนากลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ด้วย

ดังนั้น Carbon Neutrality สำคัญต่อโลกเรามาก เพราะจะช่วยให้โลกของเราน่าอยู่ต่อไปได้อย่างยาวนานและยั่งยืน ทว่า การบรรลุเป้าหมายนั้น อาจเป็นทั้งระดับบุคคล องค์กร หรือประเทศ ซึ่งสามารถทำผ่าน 3 กลไก ได้แก่

1.“ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การลดหรือละกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เช่น โลจิสติกส์ การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดขึ้น หรือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลมแทน

2.“ดูดกลับ” ก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ การใช้เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมากักเก็บใต้พื้นดิน หรือใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ

3.“ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีความสามารถในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เราสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออีก 20 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต และหากยังมีการปล่อยคาร์บอนอยู่ ก็ “ชดเชย” หรือ offset คาร์บอนที่ยังปล่อยอยู่ผ่านกิจกรรมที่ไปลดคาร์บอนที่อื่น เช่น การปลูกป่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นต้น


รูป: Freepik