Grid Brief

  • Die With Zero หนังสือที่แนะนำให้คนเราเก็บออมมากพอ เพื่อจะได้มีเงินใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็น แต่อย่าออมมากไป เราควรเก็บออมเงินส่วนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายกับการหาประสบการณ์ชีวิตบ้าง หากออมเงินเราได้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผล แต่หากหมั่นเก็บออมประสบการณ์ เราก็จะได้รับ ‘ความทรงจำปันผล’ ที่ประทับใจไปจนชั่วชีวิต

ต้อนรับสังคมผู้สูงอายุด้วยหนังสือจิตวิทยาการเงินแหวกกระแสอินฟลูเอนเซอร์ทางการเงินทั้งหลายที่แนะนำว่า จงออมเงินกันเถิด เราจะได้ไม่จนก่อนแก่ ป่วยก่อนตาย ทว่า ตายที่ 0 (DIE WITH ZERO)’ ของบิล เพอร์กิน (Bill Perkins) กลับบอกว่าอย่าออมมากเกินไปแต่ให้ใช้เงินซื้อประสบการณ์เยอะเลิกออมเงิน xx% ของรายได้และเป้าหมายสูงสุดคือ“ให้ตายโดยไม่เหลือเงินติดบัญชี” 

เรียกว่าอ่านแล้วต้องเกาหัวแกรกแหวกกฎการเงินทุกข้อเลยทีเดียว

บิล เพอร์กิน ผู้เขียนหนังสือ ตายที่ 0 ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ Your Money Your Life ของ Joseph R. Dominguez และ Vicki Robin (ฉบับแปลภาษาไทยชื่อ เงินหรือชีวิต สำนักพิมพ์ Openbooks) ที่ใจความสำคัญคือ เงินคือพลังงานชีวิตที่เราใช้เพื่อแลกมา ดังนั้น เราจะใช้ชีวิตที่มีจำกัดไปกับการสิ่งที่ไม่มีความหมายต่อเราหรือ? 

บิล เพอร์กินจึงเขียน Die With Zero โดยขยายผลต่อว่า 

“เราหาเงินไปเพื่ออะไร?”

“เราจะใช้ชีวิตอย่างไร?” 

เฉลยเลยก็ได้ว่าคือ ประสบการณ์ 

แต่ต้องหมายเหตุไว้ก่อนว่า Die With Zero เหมาะกับคนที่มีรายได้งาม มีความมั่นคงทางการเงิน และมีเงินออมพอมากพออยู่แล้ว และสำหรับคนอายุน้อยที่วางแผนชีวิตในระยะยาว 

แต่หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะเลยสำหรับคนมือเติบที่เก็บออมไม่เป็น คนที่มีคติประจำใจว่า ‘คนเราเกิดมาหนเดียว’ และคนที่คิดว่า ‘ใช้ชีวิตเหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้’ เพราะถึงอย่างไร เราต้องเก็บออมไว้ให้พอใช้จ่ายในยามเกษียณ และไม่เหมาะกับคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน หาเช้ากินค่ำ และได้เงินเดือนชนเดือนแทบจะไม่พอ คนที่อยู่ในสถานะเช่นนั้น ผู้เขียนกล่าวว่า “ย่อมพยายามเต็มที่อยู่แล้วที่จะใช้เงินไปกับชีวิตของตนเอง” 

Credit: cookie_studio

Die With Zero เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า หากคุณมีเงินเหลือติดบัญชีในวันที่คุณตายก็หมายความว่าคุณต้องทำอะไรผิดไปแน่ๆละตอนที่ยังมีชีวิตอยู่” 

ประโยคนี้ทำให้ Die With Zero ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ยึดโยงกับความเป็นจริง แต่ในหนังสือหลายร้อยหน้า ผู้เขียนได้ขยายความแนวคิดนี้ของตนว่า เขาอยากให้คนเก็บออมประมาณหนึ่งที่มากพอจะทำให้เรารอดชีวิต ส่วนเงินนอกเหนือจากนั้น จงนำไปใช้ซื้อประสบการณ์ชีวิต เพราะคนส่วนใหญ่อาจมองข้ามหรือไม่ตระหนักว่ามีคำว่า ‘ความทรงจำปันผล ที่มีค่าเสมือนดอกเบี้ยหรือเงินปันผลที่ได้จากการออมเงิน  

เพราะจะมีประโยชน์อะไรกับการเก็บออมมากเกินไปโดยไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรเมื่อเราตายไป หรือพูดง่าย ๆ ว่า อย่าเป็นคนที่รวยที่สุดในสุสาน 

และนี่คือข้อสรุปจากหนังสือ ตายที่ 0 : Die With Zero ‘วิธีใช้ชีวิตที่นักเศรษฐศาสตร์ให้การยอมรับ’ 


ทำไมเราจึงควรออมเงินให้น้อยลง 

  • อำนาจในการหาเงินของเราจะเพิ่มขึ้นตามวัยทำงานไป ตำแหน่งก็ยิ่งสูง ได้เงินเพิ่ม ดังนั้น อย่ามัวงกกับเงินนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ยอมพรากความสุขหรือประสบการณ์ดี ๆ เมื่อตอนยังเยาว์วัยไป 
  • ได้รับความทรงจำปันผล ไม่เหมือนกับการครอบครองวัตถุที่เราจะรู้สึกดีตอนได้มาแรก ๆ พอเลิกเห่อ ของชิ้นนั้นก็หมดความหมาย ส่งผลให้เราไล่ล่าหาของชิ้นอื่นมาทดแทนความสุขชั่วคราวนั้นเรื่อยไป ต่างจากความทรงจำที่ยิ่งเพิ่มคุณค่าและมอบความสุขให้ได้เสมอแม้เวลาผ่านไปนาน การขับรถไปโรดทริปกับเพื่อนสมัย 20 ต้นแล้วเจอเรื่องพลาดตลอดทางนั้นเรียกเสียงหัวเราะให้เรากับผองเพื่อนได้ทุกครั้งตราบจนสิ้นชีวิต และนั่นไม่ต่างกับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยที่พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ หรอกหรือ 
  • อายุไม่รอท่า เราคิดว่าตอนหนุ่มสาวที่ยังมีแรงและอดนานได้หลายวันโดยไม่ตายนั้น คือ ช่วงเวลาที่ควรทุ่มเทให้กับการหาเงินเพื่อจะได้สบายในบั้นปลาย แต่เมื่อถึงเวลานั้น สิ่งที่เราคิดฝันอยากทำ เราจะไม่มีพลังชีวิตหรือเรี่ยวแรงพอจะไปทำ ที่ร้ายคือบางคนได้โรคร้ายหรือแลกชีวิตไปกับการทุ่มเททำงานหาเงินที่มากเกินไป แต่จริง ๆ แล้วคนวัยหนุ่มสาวคือ มหาเศรษฐีแห่งเวลา แล้วทำไมไม่ใช้เวลาไปกับหาประสบการณ์ให้ตัวเองเยอะ ๆ ล่ะ 
Credit: Freepik

จะทำอย่างไรถ้าใช้เงินหมดก่อนตาย

สิ่งนี้เรียกว่า ความเสี่ยงจากการอายุยืน 

แน่ละว่าไม่มีใครอยากตายตั้งแต่ยังหนุ่มสาว แต่ใคร ๆ อยากตายหลังใช้เงินหมดหลังเกษียณกันทั้งนั้น ผู้เขียนแจกแจงไว้ในหนังสือว่า มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่พูดถึงแนวคิดเรื่อง ‘การรู้จักยุคทองของตนเอง’ นั่นละคือเวลาที่เราควรจะเลิกออมเงินและเกษียณ  

ผู้เขียนยังบอกด้วยว่า เรากลัวว่าเงินจะหมดมากกว่าเงินจะหมดไปจริง ๆ คนเรามักออมเงินเผื่ออนาคตมากเกินไป และรอให้ถึงบั้นปลายสุด ๆ ของชีวิตแล้วจึงจะเริ่มใช้เงิน และนั่นก็สายไปเสียแล้ว 

แต่ต้องหมายเหตุไว้ตัวโต ๆ ด้วยว่า นี่คือกรณีของคนที่มีเงินออมมากพอแล้วเท่านั้น

“หากคุณมีเงินเหลือติดบัญชีในวันที่คุณตายก็หมายความว่าคุณต้องทำอะไรผิดไปแน่ๆละตอนที่ยังมีชีวิตอยู่”

จะไม่เหลือเงินมรดกไว้ให้ลูกหลานบ้างหรือ

การตายโดยไม่เหลือติดบัญชีเลยไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวหรอกหรือ แล้วลูก ๆ ล่ะ? ไม่เหลือเงินมรดกไว้ให้สักหน่อยหรือ 

ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าคุณแจกเงินมรดกตอนที่คุณตายไปแล้ว ตอนนั้นลูก ๆ ของคุณก็อายุปาเข้าไป 50-60 กันแล้ว ลูก ๆ ของคุณอยู่ในวัยที่มีหน้าที่การงาน อำนาจในการหาเงิน และมีเงินออมของตัวเองแล้วละ ดังนั้น การยกมรดกก้อนโตให้ลูก ๆ ในวัยนี้ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเขาเลย  

แต่ถ้าคุณยกมรดกให้ลูก ๆ ตอนที่พวกเขาอายุ 25 – 35 ปี เงินก้อนนี้จะช่วยลูก ๆ ได้มากกว่าไปให้ตอนลูกแก่แล้วเป็นไหน ๆ พวกเขาจะได้นำเงินมรดกที่คุณยกให้ไปทำประโยชน์ได้มากมาย อาทิ เอาเงินไปโปะค่าบ้าน จะได้ลดเงินต้นไปได้เยอะ ๆ มีบ้านของตัวเองได้ นำเงินไปตั้งกิจการของตัวเอง มีเงินทุนไว้สำหรับลูกของตัวเอง หรือดีที่สุดคือได้เลือกทำอาชีพที่อยากทำโดยไม่ต้องเสียพลังชีวิตไปกับงานแย่ ๆ ที่อดทนทำไปวัน ๆ 

ดังนั้น จงยกมรดกให้ลูกตอนที่คุณยังมีชีวิตอยู่  

ยังมีรายละเอียดอีกมากในหนังสือ Die With Zero ที่เชื่อแน่ว่าจะเป็นหนังสือที่คุณอ่านไปเห็นแย้งไปมากที่สุดเล่มหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า ณ ตอนที่คุณอ่านหนังสือเล่มนี้ สถานการณ์ทางการเงินของคุณเป็นอย่างไรด้วย 

แต่ข้อสรุปสำหรับหนังสือขายดีเล่มนี้ก็คือ เราควรหาสมดุลให้กับทุกอย่าง ออมมากไปจนไม่ได้ใช้ชีวิตเลยก็อาจพร่องไปเรื่องประสบการณ์ หรือประสบการณ์หลาย ๆ อย่างก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อให้ได้มาก็มี 

หนังสือเล่มนี้ชวนคนอ่านร่วมถกเถียง โดยไม่เรียกร้องให้เห็นด้วย ถึงอีกมุมมองหนึ่งในเรื่องการเงินและการใช้ชีวิต…เท่านั้นเอง


รูปโดย Jcomp