Grid Brief
- Ergonomics หรือ ‘การยศาสตร์’ คือการทำงานให้สอดคล้องกับสรีระร่างกายของมนุษย์ เพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้นและไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเอง
- หลักของการนั่งหรือยืนทำงานที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ให้โฟกัสที่ 4 จุด ได้แก่ คอและศีรษะ, มือและข้อมือ, ก้นกบและหลัง สุดท้ายคือการเปลี่ยนพฤติกรรม
ตั้งแต่มนุษย์เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ด้วยดิจิทัล มุ่งหวังให้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแบ่งเบาภาระให้เราทำงานน้อยลง แต่กลายว่าเทคโนโลยีสุดล้ำเหล่านั้นช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้นเพียงเพื่อจะได้ทำงานเพิ่มมากขึ้น
ยิ่งในยุคที่การงานต่าง ๆ สามารถทำที่ไหนก็ได้ เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบออนไลน์ได้ ก็ยิ่งทำให้เราทำงานอย่างไม่รู้จักเวลาปิดสวิตช์กันเลยทีเดียว ดังนั้น สิ่งที่มาควบคู่กับยุคดิจิทัลก็คือคำว่า ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ที่มนุษย์ทำงานทั้งหลายประสบอยู่
การทำงานกับสรีระ
Ergonomics หรือ ‘การยศาสตร์’ หมายถึง การทำงานให้สอดคล้องกับสรีระร่างกายของมนุษย์ เพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น และไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเอง
Carolyn Herkenham ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมแห่ง Boston University ทั้งยังเป็นนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม มาแนะนำถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรทำระหว่างนั่งทำงาน ดังนี้
อย่านั่งหลังค่อม
ไม่ว่าจะนั่งทำงานเอกสารหรือพิมพ์งานบนคอมพิวเตอร์ อย่าเผลอค้อมหลังราวกับจะคำนับงานอันเป็นที่รักอยู่ร่ำไป และควรใช้ขาตั้งวางแล็ปท็อปเพื่อให้หน้าจออยู่ตำแหน่งเสมอกับสายตา เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องก้มหรือเงยหน้ามองจอคอมพิวเตอร์อยู่ตลอด
ปรับระดับความสูงของโต๊ะให้เหมาะสม
ควรทดลองนั่งหรือยืนเพื่อหาความสูงที่ทำให้คุณวางแขนและศอกพาดไปโต๊ะได้อย่างสบายขณะทำงาน โดยที่ข้อศอกไม่ลอย ถ้าใช้โต๊ะทำงานที่ปรับระดับได้ก็จะช่วยหาความสูงที่เหมาะกับสรีระของคุณได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะนั่งหรือยืนทำงานก็ตาม ข้อศอกควรวางพาด 90 องศาบนโต๊ะ จึงแนะนำให้ใช้คีย์บอร์ดแยกออกมาสำหรับคนที่ใช้แล็ปท็อป และเวลาจับเมาส์ให้จับตรง ๆ อย่าบิดข้อมือ
ควรใช้เก้าอี้สำนักงาน
เก้าอี้สำนักงานโดยทั่วไปมักปรับระดับสูง-ต่ำได้เพื่อให้เหมาะกับสรีระของแต่ละคน ทั้งยังมีเบาะและที่วางแขนอันเป็นตัวช่วยรักษาสุขภาพของหลัง ไหล่และแขนขณะทำงานได้
อย่าทิ้งเก้าอี้ธรรมดา
เก้าอี้ตัวเก่าที่มีอยู่แล้ว หากไม่ได้เป็นแบบที่ปรับระดับได้เหมือนเก้าอี้สำนักงานก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่ควรหาหาเบาะรองนั่งและใช้ผ้าขนหนูม้วนให้ไม่สูงเกินกว่าหนึ่งกำปั้นมารองนั่ง เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักของร่างกายท่อนบนไม่ให้กดทับลงไปที่ก้นกบและช่วยดันให้กระดูกสันหลังให้โค้งอย่างถูกต้องตามธรรมชาติได้
อย่ายืนทำงาน
ว่ากันว่าบรรดา Geek ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ในซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) นิยมใช้โต๊ะทำงานแบบยืนทำงาน แต่แท้จริงแล้วการยืนทำงานจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตึงมากกว่าการนั่ง ฉะนั้น การนั่งทำงานบนเก้าอี้จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายได้ด้วย
ควรใช้สูตร 20-20-20-2
แม้การนั่งทำงานจะดีกว่าการยืนทำงานก็ตาม แต่สิ่งที่แย่กว่าการยืนทำงาน ก็คือการนั่งทำงานท่าเดิมเป็นเวลานาน จึงมีคำแนะนำว่า ทุก ๆ 20 นาทีของการทำงาน ให้ละสายตาจากงานแล้วมองเหม่อไปไกล 20 ฟุตเป็นเวลา 20 วินาที เพราะระหว่างจ้องหน้าจอคอมพ์ คุณจะกะพริบตาน้อยมาก ทำให้สายตาเมื่อยล้า และนอกจากพักบริหารสายตาแล้ว ก็ถือโอกาสเปลี่ยนท่านั่งหรือลุกเดินเพื่อยืดเส้นยืดสายสัก 2 นาทีแล้วค่อยกลับไปทำงานต่อ
อย่าปล่อยให้เท้าลอย
ถ้าโต๊ะทำงานสูงในระดับที่ต้องการแล้ว ข้อศอกไม่ลอยแล้ว แต่กลายเป็นเท้าลอยไม่แตะพื้น ให้วางเท้าบนกล่องเพื่อให้ต้นขาเกือบขนานไปกับพื้น ให้สะโพกอยู่สูงกว่าเข่าเล็กน้อย ท่านี้จะช่วยลดน้ำหนักกดทับที่กระดูกสันหลังช่วงเอวได้
ควรเปิดรับแสงธรรมชาติ
แสงที่เหมาะสมกับการทำงานที่สุดคือแสงสว่างจากธรรมชาติ ควรจัดพื้นที่ทำงานให้ใกล้หน้าต่างเพื่อรับแสงสว่างและช่วยลดแสงสะท้อน หากแสงธรรมชาติไม่พอควรใช้โคมไฟช่วย และสิ่งที่สว่างที่สุดในพื้นที่นั้นควรเป็นแสงจากหน้าจอเสมอ
Alan Hedge อาจารย์ด้านการออกแบบและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมแห่ง Cornell University ได้ให้ความสำคัญในการนำ ‘การยศาสตร์’ เข้ามาปรับใช้ในบ้าน ในโฮมออฟฟิศ หรือขณะที่ต้อง Work from Home ดังต่อไปนี้
- คอและศีรษะ: ตั้งคอและศีรษะให้ตรงอยู่เสมอ
- มือและข้อมือ: ยื่นแขนและมือไปข้างหน้าแล้วพาดลงกับโต๊ะ
- ก้นกบและหลัง: ท่านั่งที่ถูกวิธีคือนั่งพิงเบาะเอนไปข้างหลังนิด ๆ เหมือนตอนนั่งขับรถ
- การเปลี่ยนพฤติกรรม: เปลี่ยนท่านั่งหรือท่ายืนบ่อย ๆ อย่าแช่อยู่ท่าเดิม ๆ นานเกินไป
ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อคุณทำทุกข้อร่วมกัน โดยไม่ตกหล่นหรือละเลยข้อใดข้อหนึ่งไป เพราะการทำซ้ำ จะทำให้ร่างกายจดจำ จนกลายเป็นพฤติกรรมที่ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ
คงไม่มีใครอยากให้ธรรมชาติของตัวเราคือการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมที่ปวดหลัง คอ ไหล่ไปจนตลอดชีวิตการทำงานเป็นแน่
Cover Illustration โดย ANMOM