ในปัจจุบัน “โดรน” ได้เข้ามามีบทบาทในหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการการถ่ายภาพ การใช้งานในภาคเกษตรกรรม หรือแม้กระทั่งด้านภูมิสารสนเทศ มีขนาดตั้งแต่วางบนฝ่ามือได้ หนักไม่กี่ร้อยกรัม ไปจนถึงมีความยาวเป็นเมตร น้ำหนักหลายสิบกิโลกรัม แต่วันนี้เราจะมาชวนคุยกันถึง “โดรนถ่ายภาพ” ขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยขนาดที่กะทัดรัด น้ำหนักเบา พกพาง่าย ราคาไม่แพง แต่สามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายในมุมสูงแปลกตา ที่เราไม่สามารถถ่ายได้เลยหากยืนอยู่บนพื้นดิน

ภาพพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ภาพนี้ถ่ายด้วยโดรนของ DJI รุ่น Mavic Air 2
ภาพ: สำราญ พรมรัตน์

การจะหาซื้อโดรนสักตัวไม่ใช่เรื่องยาก สามารถกดในแอปฯ ขายของไม่กี่คลิกก็ซื้อหามาได้แล้ว แต่ทางการบ้านเราได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการใช้งานโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อส่วนรวม และเป็นการจัดระเบียบผู้ใช้งานโดรนด้วย

หลายท่านคงคุ้นเคยกับภาพของ “หินสามวาฬ” ที่ จ.บึงกาฬ สำหรับท่านที่เคยไปมาแล้ว คงพอจะทราบว่าหากเราไปยืนถ่ายรูปบนหลังวาฬ เราก็จะได้ภาพเหมือนยืนอยู่บนหน้าผาหิน ไม่สามารถจินตนาการถึงวาฬได้ จึงต้องอาศัยโดรน บินขึ้นไปเก็บภาพมุมสูง เพื่อให้ได้เห็นเป็น “วาฬ” จริงๆ
ภาพ: สำราญ พรมรัตน์ 

โดยทั่วไป หากเราตัดสินใจจะซื้อโดรนมาถ่ายภาพสักตัว ยี่ห้อที่ครองตลาดอยู่คงหนีไม่พ้น DJI ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของเทคโนโลยี การออกแบบ และผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก โดรนของ DJI จะมีให้เลือกหลายรุ่น หลายขนาดและคุณสมบัติต่างกันไป มีตั้งแต่รุ่นที่เหมาะสำหรับมือสมัครเล่น ราคาต่ำกว่าหมื่น ไปจนถึงราคาหลายหมื่นและหลายแสน มีความสามารถในการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ ความละเอียดของไฟล์ภาพก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและลักษณะของงานที่นำไปใช้ เริ่มต้นที่ 12 ล้านพิกเซล ไปจนถึง 48 ล้านพิกเซล ความละเอียดของไฟล์วิดีโอเริ่มตั้งแต่ Full HD ไปจนถึง 5.4 K/30p ระยะเวลาที่สามารถบินได้สูงสุดกี่นาที มีเซ็นเซอร์กันชนหรือไม่ คุณสมบัติทั้งหลายเหล่านี้ ผู้ใช้จะต้องพิจารณาตัดสินใจก่อนที่จะซื้อ

องค์พระใหญ่ของสำนักวิปัสสนาวัดพระธาตุศรีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ สูงสง่าท่ามกลางขุนเขา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ภาพนี้ต้องถ่ายจากสูงจากพื้นดินประมาณ 60 เมตร ซึ่งหากไม่มีโดรนแล้ว การถ่ายภาพในมุมนี้จะไม่สามารถทำได้เลย
ภาพ: จุลล์ จูงวงศ์

เมื่อเราตัดสินใจซื้อ ส่วนใหญ่ผู้ขายจะอำนวยความสะดวกในการดำเนินการเรื่องเอกสารต่าง ๆ เพื่อลงทะเบียนอากาศยานและขอใบอนุญาตบินตามที่ทางหน่วยงานผู้ควบคุมได้กำหนดไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 หน่วยงานหลักคือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เพื่อขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรน และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขึ้นทะเบียนขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ในการควบคุมโดรน ซึ่งการลงทะเบียนโดรนจะเป็นไปตามข้อกำหนดเหล่านี้

  • โดรนน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม และไม่มีกล้อง ไม่ต้องขึ้นทะเบียน
  • โดรนมีกล้องต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี
  • โดรนที่มีน้ำหนัก 2-25 กิโลกรัมต้องขึ้นทะเบียน
  • ส่วนโดรนที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 25 กิโลกรัมขึ้นไปจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นรายกรณี

โดยหนังสือการขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรนจะมีอายุ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกหนังสือ ในส่วนของผู้ที่จะสามารถบังคับโดรนได้ ก็จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ด้วย คือ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไม่มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ และไม่เคยได้รับโทษจำคุก ยาเสพติด หรือศุลกากร

การถ่ายภาพสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี หรืออาคารสำนักงานของหน่วยราชการอื่นใดก็ตาม ท่านจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานนั้น ๆ ก่อนเสมอ
ภาพ: สำราญ พรมรัตน์

บินโดรนที่ไหนได้บ้าง

พื้นที่ที่เราสามารถบินโดรนได้จะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง หากไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ ก็ต้องไม่เป็นพื้นที่หวงห้ามตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าจะบินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะต้องขออนุญาตก่อน และถ้าเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลก็จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่นั้นเสียก่อน สำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ จะหาสถานที่บินโดรนได้ยากมาก เนื่องจากกรุงเทพฯ มีการกำหนดเขตห้ามบินโดรน โดยยึดเอาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วัดระยะทางเป็นรัศมีวงกลม 19 กิโลเมตร ถ้าขึ้นไปทางทิศเหนือก็จะเจอสนามบินดอนเมือง ซึ่งก็จะห้ามบินในรัศมี 9 กิโลเมตรอีก และถ้าไปทางทิศตะวันออกก็จะเจอสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งก็จะห้ามบินในรัศมี 9 กิโลเมตรเช่นเดียวกัน หากใครฝ่าฝืนบินในอาณาบริเวณที่ห้ามไว้จะต้องรับโทษ นอกจากนั้นยังมีการกำหนดพื้นที่ห้ามบินเพิ่มเติมได้แก่ เขตพระราชฐานสถานที่ราชการ และย่านชุมชนอีกด้วย

นอกจากใช้โดรนถ่ายภาพเพื่อการท่องเที่ยวและนันทนาการแล้ว ยังสามารถนำมาใช้บันทึกภาพการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงได้อีกด้วย ดังตัวอย่างในภาพนี้คือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบนระบบจำหน่ายแรงสูง 115 กิโลโวลต์
ภาพ: สำราญ พรมรัตน์

นอกจากนั้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ยังได้ประกาศเงื่อนไขการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน   (ออกตามมาตรา 24  แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497) ประกอบด้วยเงื่อนไขก่อนทำการบิน และเงื่อนไขระหว่างทำการบิน ซึ่งเราจะต้องศึกษาและนำไปปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดด้วย

เงื่อนไขก่อนทำการบิน

  1. ให้ตรวจสอบว่าอากาศยานอยู่ในสภาพที่สามารถทำการบินได้อย่างปลอดภัย ซึ่งรวมถึงตัวอากาศยาน และระบบควบคุมอากาศยาน
  2. ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ที่จะทำการบิน
  3. ให้ทำการศึกษาพื้นที่และชั้นของห้วงอากาศที่จะทำการบิน
  4. ต้องมีแผนฉุกเฉิน รวมถึงแผนสำหรับกรณีเกิดอุบัติเหตุ การรักษาพยาบาล และการแก้ปัญหา กรณีไม่สามารถบังคับอากาศยานได้
  5. ต้องมีการบำรุงรักษาตามคู่มือของผู้ผลิต
  6. ต้องมีความรู้ความชำนาญในการบังคับอากาศยานและระบบของอากาศยาน
  7. ต้องมีความรู้ความเข้าใจในกฎจราจรทางอากาศ
  8. ให้นำหนังสือการขึ้นทะเบียนผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยาน (ประเภทที่ควบคุมการบินจากภายนอก) ติดตัวไว้ตลอดเวลาที่ทำการบิน
  9. ต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่สามารถใช้งานได้ติดตัวตลอดเวลาที่ทำการบิน
  10. ต้องมีการประกันภัยอากาศยานโดยรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดแก่ร่างกาย ชีวิตตลอดจนทรัพย์สิน ของบุคคลที่สาม ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท/อุบัติเหตุ/ครั้ง และกรมธรรม์ประกันภัยต้องอยู่ติดกับหนังสือ การขึ้นทะเบียนผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานและต้องต่ออายุกรมธรรม์

เงื่อนไขระหว่างทำการบิน

  1. ห้ามทำการบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และรบกวนความสงบสุขของบุคคลอื่น
  2. ห้ามทำการบินเข้าไปในบริเวณเขตหวงห้าม เขตกำกัด และเขตอันตรายตามที่ประกาศในเอกสารแถลงข่าวการบินของประเทศไทย (Aeronautical Information Publication – Thailand หรือ AIP – Thailand) รวมทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
  3. แนวการบินขึ้นลงของอากาศยานจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง
  4. ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทำการบินและห้ามทำการบังคับอากาศยาน โดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง
  5. ต้องทำการบินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน
  6. ห้ามทำการบินเข้าใกล้หรือเข้าไปในเมฆ
  7. ห้ามทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตร (5 ไมล์ทะเล) จากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต 
  8. ห้ามทำการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตร (300 ฟุต) เหนือพื้นดิน 
  9. ห้ามทำการบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่
  10. ห้ามบังคับอากาศยานเข้าใกล้อากาศยานซึ่งมีนักบิน
  11. ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น
  12. ห้ามทำการบินโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความรำคาญแก่ผู้อื่น
  13. ห้ามส่งหรือพาวัตถุอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรืออุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ติดไปกับอากาศยาน
  14. ห้ามทำการบินโดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง อาคาร ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการบินน้อยกว่า 30 เมตร (100 ฟุต) ในกรณีอากาศยานที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม และ 50 เมตร (150 ฟุต) ในกรณีอากาศยานที่มีน้ำหนักเกินกว่า 2 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม
  15. เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแก่อากาศยานให้ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานแจ้งอุบัติเหตุนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า     (ในเวลาราชการ โทร 0-2568-8800 ต่อ 1504, 1505 โทรสาร 0-2568-8848 นอกเวลาราชการ 08-1839-2068      หรือ email : uav@caat.or.th)

ข้อมูลเพิ่มเติม เว็บไซต์สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย https://www.caat.or.th/th/archives/36515

เรื่องโดย: จุลล์ จูงวงศ์
ภาพถ่ายโดย: สำราญ พรมรัตน์, จุลล์ จูงวงศ์