Grid Brief
- การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของกรุงปารีสของ อานน์ อิลดัลโก (Anne Hidalgo) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกรุงปารีส โดยเฉพาะนโยบายผลักดันด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นเมืองสีเขียวที่เป็นมิตรกับผู้คน
- ภารกิจสู่การเป็นเมืองสีเขียวของปารีส ทั้งการเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้ ลดการปล่อยมลพิษ และแนวคิดเมือง 15 นาที การเป็นเมืองที่มีความยั่งยืนของปารีสสอดรับกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2567 ที่ตั้งใจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ภาพจำของ ‘กรุงปารีส’ คงหนีไม่พ้นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม แหล่งประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมเก่าแก่ และนครแห่งศิลปะที่ผู้คนจำนวนมากใฝ่ฝันจะได้ไปเยือนสักครั้ง แต่อีกบทบาทหนึ่งที่ปารีสโดดเด่นไม่แพ้กัน คือการเป็น ‘เมืองสีเขียว’ ที่อาศัยการขับเคลื่อนอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์ว่า ‘เมืองท่องเที่ยวก็มีหัวใจสีเขียวได้’ โดยไม่จำเป็นต้องทำร้ายสิ่งแวดล้อมเสมอไป
ความเปลี่ยนแปลงแบบผิดหูผิดตาของเมืองหลวงฝรั่งเศสที่มีความเขียวขจีและเป็นมิตรกับผู้คนมากขึ้น ต่างจากเดิมที่เต็มไปด้วยมลพิษและปัญหาการจราจรติดขัด เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของ ‘อานน์ อิลดัลโก’ (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของกรุงปารีสที่ผลักดันเรื่องนี้ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งสมัยแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557 และยังเดินหน้าต่อเนื่องหลังดำรงตำแหน่งสมัย 2 เมื่อปี พ.ศ. 2563
แหล่งกำเนิด ‘ความตกลงปารีส‘
อิดัลโกรับตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงปารีส พร้อมกับเป้าหมายในการสร้างโอกาสอย่างเป็นธรรม โดยไม่แบ่งแยกในสังคม (Social Inclusion) การสร้างนวัตกรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
แนวทางของเธอสอดรับกับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เมื่อปี พ.ศ.2558 และบรรลุ ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ในขณะนั้นเจ้าภาพปารีสถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเมืองหลวงที่ไม่น่าอยู่ ทั้งใช้พลังงานสิ้นเปลือง และปล่อยควันพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป 6 ปี ภาพของปารีสได้พลิกไปจากเดิม และมีชื่อติด 1 ใน 54 เมืองชั้นนำทั่วโลกที่มีแนวโน้มจะบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส จากการศึกษาของเครือข่ายเมืองใหญ่ด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ C40
ขณะที่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เพิ่งปิดฉากไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 โดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการของภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ยังบรรลุข้อตกลงกลาสโกว์ว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศ นับเป็นข้อตกลงฉบับแรกที่ระบุชัดเจนเกี่ยวกับแผนการลดใช้ถ่านหิน ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด รวมถึงจะใช้พลังงานสะอาดที่ราคาไม่แพงในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนและร้านค้า
ภารกิจเพิ่มพื้นที่สีเขียว
หนึ่งในแผนสู่การเป็นเมืองสีเขียวของปารีส คือ การปลูกต้นไม้เพิ่มให้เป็นป่าในเขตเมือง ไม่ว่าจะบริเวณสถานที่สำคัญอย่างหอไอเฟล รวมถึงริมแม่น้ำแซน เมื่อปลายปี พ.ศ.2565 ทางการปารีสประกาศจะปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น 170,000 ต้น ภายใน 5 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการทำให้พื้นที่ 50% ของเมืองเต็มไปด้วยต้นไม้ ภายในปี พ.ศ. 2573 และปูทางไปสู่การเป็นเมืองที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593
ในภาคประชาชน ทางการแก้ไขกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนปลูกต้นไม้ได้ ไม่ว่าจะปลูกดอกไม้ ผัก หรือผลไม้ หลังยื่นขออนุญาต ซึ่งสามารถปลูกต้นไม้บนผนังใต้ต้นไม้ หลังคา รั้วบ้าน ร่วมถึงบริเวณหน้าบ้านหรือสำนักงานได้
นอกจากนี้ กรุงปารีสยังมีแผนจะเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะและสวนหย่อมอีกราว ๆ 187.5 ไร่ เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นจากปัญหามลพิษ
ลดยานพาหนะปล่อยมลพิษ
ทางการปารีสยังกระชับพื้นที่ยานพาหนะปล่อยมลพิษ ด้วยการประกาศแผนห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลวิ่งในกรุงปารีสตั้งแต่ปี พ.ศ.2567 และห้ามรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลวิ่งในกรุงปารีสในปี พ.ศ.2573
ขณะเดียวกัน ก็ลดจำนวนช่องเดินรถจาก 4 ช่องจราจรเหลือ 2 ช่อง ยกเลิกพื้นที่จอดรถข้างทางเกือบครึ่งหนึ่ง พร้อมกับลงทุนสร้างเลนจักรยานที่มีระยะทางรวมกัน 1,448 กิโลเมตร และเพิ่มพื้นที่ทางเท้า เพื่อส่งเสริมให้ชาวเมืองหันมาใช้จักรยานและเดิน แทนการใช้รถส่วนตัว นอกจากช่วยลดโลกร้อนแล้วยังได้สุขภาพที่ดีขึ้น
หว่า แผนการลดใช้ยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษยังมีความท้าทาย เพราะระบบขนส่งสาธารณะยังไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่ทำให้ประซาชนบางส่วนเดินทางไม่สะดวก
ปารีสประกาศจะปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น 170,000 ต้น ภายใน 5 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการทำให้พื้นที่ 50% ของเมืองเต็มไปด้วยต้นไม้ ภายในปี พ.ศ. 2573 และปูทางไปสู่การเป็นเมืองที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593
แนวคิดเมือง 15 นาที
ในการหาเสียงสมัยที่ 2 ของนายกเทศมนตรีกรุงปารีสมีการผลักดันแนวคิด ‘เมือง 15 นาที’ (15-Minute City) ซึ่งเป็นการออกแบบเมืองเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นต่าง ๆ ได้ภายในเวลา 15 นาที ทั้งจากการเดินเท้าหรือปั่นจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ทำงาน จัดหาอาหาร การศึกษา สุขภาพ และความบันเทิง
เจ้าของแนวคิดนี้ คือ คาร์ลอส โมเรโน (Carlos Moreno) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ที่รับตำแหน่งที่ปรึกษานายกเทศมนตรีกรุงปารีส ซึ่งเกิดจากการตั้งคำถามว่า ทำไมชาวปารีสกว่า 2 ล้านคนต้องทนใช้ชีวิตตามการออกแบบเมืองที่ไม่ตอบโจทย์ ทำให้เสียเวลาเดินทางมากเกินไป และถึงเวลาปรับเปลี่ยนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 เป็นจังหวะให้ปารีสและหลายเมืองทั่วโลกหันมาออกแบบเมืองใหม่ภายใต้แนวคิดนี้
โอลิมปิกแบบยั่งยืน
ความยั่งยืนของเมืองยังถูกส่งต่อไปยังมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิก ซึ่งปารีสจะเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2567 โดยงบประมาณการจัดงานเบื้องต้นวางไว้ที่ประมาณ 8.85 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับโอลิมปิกที่โตเกียวที่อาจใช้งบสูงถึง 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากปารีสมีแผนจะใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว 70% สำหรับจัดการแข่งขัน ส่วนอีก 25% เป็นสถานที่ชั่วคร้าวที่สร้างใกล้กับสถานที่สำคัญ เพราะไม่ต้องการให้สิ่งก่อสร้างใหม่ถูกทิ้งร้างหลังจบการแข่งขัน
ขณะเดียวกันยังเป็นการเชื่อมโยงชาวเมืองให้มีส่วนร่วมกับโอลิมปิกผ่านสถานที่ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และปล่อยคาร์บอนลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการจัดโอลิมปิก 2 ครั้งที่ผ่านมา โอลิมปิก ปารีส ครั้งหน้าจะต่างจากที่เคยเห็น การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดจะเกิดขึ้นที่หน้าหอไอเฟล แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ส่วน ‘กร็องปาแล’ (Le Grand Palais) หอนิทรรศการชื่อดัง จะใช้จัดแข่งขันเทควันโดและฟันดาบ สวนสาธารณะฌ็องเดอมาร์ส (Champ de Mars) จะใช้แข่งยูโดและยกน้ำหนัก และพระราชวังแวร์ซายก็จะเป็นสถานที่แข่งขันขี่ม้า
สำหรับหมู่บ้านนักกีฬาจะตั้งอยู่แถวย่านชานเมือง ‘แซงต์เดอนีส์’ (Saint-Denis) เน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นที่อยู่อาศัยจริงหลังจากนั้นโดยมีแผนสร้างชุมชนแนวตั้งใกล้ ๆ เพื่อรองรับด้วย
โอลิมปิกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นจริงได้ที่ปารีส แถมยังเป็นจังหวะที่ดีในการพัฒนาสู่เมืองสีเขียวในทุกมิติ