แผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือนขนาด 9.0 ที่เกิดเมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ.2554 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูง 38 เมตร หรือเท่ากับตึก 12 ชั้น สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ชายฝั่งยาว 518 กิโลเมตร และแผ่นดินไหวครั้งนั้นยังทำให้เตาปฎิกรณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิระเบิด
สองเหตุการณ์นั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายราว 200,000 คน และชาวเมืองฟุกุชิมะกว่า 500,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่
ปัจจุบันภัยพิบัตินี้ผ่านมาแล้ว 10 ปี จังหวัดฟุกุชิมะที่เคยประสบภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น กลับมาอยู่ในความสนใจของชาวโลกอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มงบประมาณถึง 2,750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 82,000 ล้านบาท เปลี่ยนฟุกุชิมะให้เป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาด ด้วยการสร้างโรงงานผลิตพลังงานไฮโดรเจนฟุกุชิมะขนาด 180,000 ตารางเมตร มีกำลังการผลิตพลังไฮโดรเจน 10 เมกะวัตต์ นับว่าเป็นแหล่งผลิตพลังไฮโดรเจนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โรงงานแห่งนี้ผลิตพลังไฮโดรเจนได้ชั่วโมงละ 100 กิโลกรัม เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนรถยนต์และรถประจำทางได้ 560 คันต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการส่งต่อพลังงานสะอาดนี้ไปยังมหกรรมกีฬานานาชาติอย่าง ‘โตเกียว โอลิมปิก’ ซึ่งจะเป็นโอลิมปิกครั้งแรกของโลกที่ใช้พลังงานสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์
นอกจากพลังงานไฮโดรเจนแล้ว ปัจจุบันจังหวัดฟุกุชิมะยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 11 แห่งและโรงไฟฟ้าพลังงานลม 10 แห่งที่ผลิตไฟฟ้าได้ 600 เมกะวัตต์ รวมไปถึงโรงงานผลิตพลังงานสะอาดอื่นๆ อีก เช่น พลังงานชีวมวล พลังงานความร้อนใต้พื้นพิภพและพลังงานน้ำ
รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จังหวัดฟุกุชิมะจะป้อนพลังงานสะอาดไปทั่วทั้งประเทศได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ฟุกุชิมะจะยังเป็นศูนย์กลางการผลิตและวิจัยพลังงานสะอาดระดับประเทศ รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนวัตกรรมพลังงานสะอาดระดับโลกอีกด้วย