Grid Brief

  • ฟิวชั่นคือกระบวนการที่ทำให้เกิดดวงอาทิตย์ จึงผลิตพลังงานได้มหาศาล
  • พลังงานฟิวชั่นเป็นพลังงานสะอาด มีกระบวนการเกิดตรงกันข้ามกับการฟิสชั่นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
  • นักธุรกิจคนสำคัญของโลก อาทิ บิล เกตส์ แจ็ค หม่าและเจฟฟ์ เบโซส์ ต่างกำลังทุ่มเงินลงทุนในพลังงานฟิวชั่น

ถ้าใครเคยดูดรากอนบอล คงเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างกับคำว่า ‘ฟิวชั่น’ ซึ่งเป็นท่าเต้นตอนที่โงกุนรวมร่างกับเบจิตาเพื่ออัพพลังต่อสู้กับจอมมารบู กลายเป็นหนึ่งในฉากต่อสู้ระดับตำนานของการ์ตูนคลาสสิกเรื่องหนึ่งของโลก 

ว่าแต่…ภายนอกโลกการ์ตูน พลังฟิวชั่นคืออะไร เอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง และเกี่ยวข้องอย่างไรกับอนาคตของโลก


พลังสะอาดที่ (เกือบ) ไม่มีวันหมด 

ฟิวชั่น (Fusion) คือการรวมนิวเคลียส และ อะตอมเพื่อสร้างพลังงาน ซึ่งเป็นกระบวนการแบบเดียวกันกับการเกิดขึ้นของดวงอาทิตย์ จึงผลิตพลังงานได้อย่างล้นเหลือและยาวนาน เหมือนที่ดวงอาทิตย์เผาไหม้มาแล้วประมาณ 4,600 ล้านปี และ อาจจะปล่อยพลังร้อนแรงต่อไปได้อีกราวๆ 7,000 – 8,000 ล้านปี

ส่วนฟิสชั่น (Fission) เป็นพลังงานนิวเคลียร์ชนิด ‘แตกตัว’ จากธาตุหนักแตกออกมาเป็นธาตุที่เบากว่า เช่น ยูเรเนียมแตกตัวออกเป็นคริปทอน และ แบเรียม ซึ่งขณะแตกตัวก็จะปล่อยพลังงาน และ สารกัมมันตรังสีควบคู่ไปด้วย

การฟิวชั่นก็เป็นพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน แต่เป็นชนิด ‘รวมตัว’ คือ ธาตุเบารวมตัวกันเป็นธาตุหนัก เช่น ไฮโดรเจนรวมกันเป็นฮีเลียม แล้วปล่อยพลังงานออกมาโดยไม่มีสารกัมมันตรังสีเลย ฟิวชั่นจึงเป็นพลังงานสะอาด ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีอัตราความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าพลังงานนิวเคลียร์ฟิสชั่น จึงถูกคาดหวังว่าจะเป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง เพื่อให้โลกมีพลังงานสะอาดใช้ไปได้อีกนานแสนนาน เพียงแต่ติดอุปสรรคอยู่ข้อเดียวคือ การสร้างแหล่งกำเนิดพลังงานฟิวชั่นนั้น ต้องใช้เงินทุนมหาศาล

พลังงานฟิวชั่นเป็นพลังงานสะอาด มีกระบวนการเกิดตรงกันข้ามกับการฟิสชั่นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชั่นของโลก

การสร้างแหล่งกำเนิดพลังงานฟิวชั่นหรือเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชั่นนั้น คือความทะเยอทะยานที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามทำให้สำเร็จมากว่า 50-60 ปีแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถผลิตพลังงานฟิวชั่นในเชิงพาณิชย์ได้เลย เนื่องจากต้นทุนอันมหาศาลนั่นเอง 

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่นที่ยังอยู่ในขั้นทดลองกระจายตัวอยู่ทั่วโลก อาทิ โครงการ ITER (International Thermonuclear Experimental Reactor) ที่มีสมาชิกร่วมลงทุนหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย อินเดีย และสหภาพยุโรป โดยใช้เงินลงทุนไปแล้วถึง 22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

Credit: Bernhard Ludewig, Max Planck Institute of Plasma Physics

Wendelstein 7-X ของเยอรมนี ใช้รูปแบบเครื่องคล้าย ITER มีเป้าหมายคือการควบคุมการเกิดปฏิกิริยาฟิวชั่นให้ได้ต่อเนื่อง 30 นาที เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่า ฟิวชั่นสามารถนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าได้ 

Credit: XINHUA/CHINESE ACADEMY OF SCIENCES

ในประเทศจีน ดวงอาทิตย์เทียมหรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่น HL-2M Tokamak มีความสูงราว 11 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร น้ำหนักกว่า 400 ตัน ตั้งอยู่ที่เมืองเฉิงตู ในมณฑลเสฉวน สามารถสร้างพลาสมาที่มีความร้อนกว่า 150 ล้านองศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงกว่าแกนกลางของดวงอาทิตย์ถึง 10 เท่า (แกนกลางดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิอยู่ 15 ล้านองศาเซลเซียส) ทั้งยังเพิ่มระดับกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 2.5 ล้านล้านแอมแปร์ 


ผู้ผลิตพลังงานฟิวชั่นในดวงใจนักลงทุน

Commonwealth Fusion Systems คือสตาร์ทอัพเอกชนในสหรัฐอเมริกาที่มุ่งมั่นผลิตพลังงานฟิวชั่นในเชิงพาณิชย์ให้สำเร็จ ซึ่งบ้านเรือนอาจได้ใช้พลังงานสะอาดใหม่นี้ในทศวรรษหน้า 

Credit: Commonwealth Fusion Systems

จนถึงปัจจุบันสตาร์ทอัพรายนี้ระดมทุนได้แล้ว 215 ล้านดอลลาร์ โดยมีรายนามนักลงทุนที่สตาร์ทอัพทั่วโลกอิจฉา อาทิ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft และเป็นเจ้าของตำแหน่งผู้ที่รวยที่สุดอันดับ 3 ของโลก, เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Amazon (ที่กำลังจะลงจากตำแหน่งในไตรมาส 3 ของปีนี้) ซึ่งรั้งอันดับ 2 ผู้ที่รวยที่สุดในโลก, แจ็ค หม่า เจ้าพ่อ Alibaba, ริชาร์ด แบรนสัน แห่ง Virgin Group ผู้อยู่ในธุรกิจสายการบิน ดนตรี ไปจนถึงการผลิตจรวดไปอวกาศ และ เรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates เฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งบริหารจัดการเงินอยู่ราวๆ 140,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

Credit: Commonwealth Fusion Systems

ด้วยเงินระดมทุนก้อนนี้ Commonwealth Fusion Systems จะมีเงินดำเนินธุรกิจต่อไปได้…แค่ในปีนี้เท่านั้น! เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แม้พลังงานฟิวชั่นเป็นธุรกิจพลังงานที่กำลังมาแรงที่สุดในสายตานักลงทุน แต่ก็เป็นธุรกิจที่ดูดเงินไม่รู้จบเช่นกัน

Commonwealth Fusion Systems กล่าวว่า เมื่อพลังงานฟิวชั่นราคาถูกพอที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ จะกลายเป็นธุรกิจพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าพลังงานทางเลือกอื่นๆ ซึ่งทางบริษัทมีแผนจะไปให้ถึงจุดนั้นในทศวรรษหน้านี้ 

แบรนดอน ซอร์บอม ผู้อำนวยการฝ่ายนักปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของ Commonwealth Fusion Systems กล่าวว่า ฟิวชั่นคือทางออกของปัญหาโลกร้อน เพียงแต่มนุษย์ต้อง “หาหนทางแจกจ่ายพลังงานฟิวชั่นไปถึงประชากรโลกให้เร็วพอ ก่อนที่จะสายเกินไป”  

Cover Illustration โดย Pattanaphoom P.