บ้านเมืองที่น่าอยู่ นอกจากจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคที่เพียบพร้อมสมบูรณ์แล้ว พื้นที่สีเขียวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตของผู้อาศัยได้เป็นอย่างดี
หลายท่านได้รับชมการไลฟ์สดของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ขณะกำลังวิ่งออกกำลังกายพร้อมกับบุตรชายและนักศึกษาไทยจำนวนหนึ่ง ณ Gas Works Park เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา สวนสาธารณะดังกล่าวเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คของเมือง Seattle รัฐ Washington ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่น่าอยู่อาศัยที่สุดของประเทศ คนละที่กับ Washington, D.C. เมืองหลวงของประเทศที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก วันนี้ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังถึงสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงงานที่สร้างมลพิษขนาดมหึมา
สวนสาธารณะขนาดเกือบ 50 ไร่แห่งนี้ เดิมเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตแก๊สจากถ่านหินและน้ำมันขนาดใหญ่ ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2449 จนปิดตัวลงในปี 2499 เนื่องจากมีการเปลี่ยนมาใช้แก๊สธรรมชาติแทน ต่อมาในปี 2505ทางการเมือง Seattle ได้ซื้อโรงงานดังกล่าวเพื่อนำมาทำเป็นสวนสาธารณะแทน แต่เนื่องจากพื้นที่บริเวณโรงงานมีมลพิษสะสมเป็นจำนวนมากจากกระบวนการผลิตแก๊ส ทั้งจากถ่านหินในช่วง 30 ปีแรกของการดำเนินการและเปลี่ยนมาเป็นน้ำมันดิบในช่วงหลัง ทำให้ต้องมีการจัดการกับสารพิษตกค้างดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยเบนซิน (Benzene – C6H6) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และน้ำมันดิน (Tar) โดยใช้เทคโนโลยี Bio-Phytoremediation ค่อย ๆ จัดการกับมลพิษ ดังกล่าว และให้คุณ Richard Haag ซึ่งเป็นสถาปนิกชาวเมือง Seattle เป็นผู้ออกแบบภูมิสถาปัตย์ และเนรมิตพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม โดยใช้เวลากว่าทศวรรษจึงจะเปิดให้ประชาชน เข้าใช้บริการได้ในปี 2518
ด้วยทำเลที่ตั้งที่สวยงามของ Gas Works Park อยู่บนฝั่งทะเลสาบยูเนียนทางด้านทิศเหนือ สามารถมองเห็นวิวดาวน์ทาวน์ของเมือง Seattle ได้อย่างชัดเจน รวมถึง Space Needle ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คหลักของเมืองด้วย ทำให้สวนสาธารณะแห่งนี้เป็นที่นิยมของทั้งชาวเมือง Seattle เอง และนักท่องเที่ยวได้มาเดินออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจกัน นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญประจำปีอย่างคอนเสิร์ต Peace Concerts การแสดงดอกไม้ไฟวันชาติสหรัฐฯ งานปั่นจักรยานเปลือยโลก (World Naked Bike Ride (WNBR)) ที่โด่งดัง และยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์อีกหลาย ๆ เรื่องด้วย
การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าอาจต้องใช้ความพยายาม ใช้เวลาและทรัพยากรมหาศาล แต่หากร่วมมือกันทำให้สำเร็จ ผลนั้นก็คุ้มค่า
เรื่อง และ ภาพถ่ายโดย: จุลล์ จูงวงศ์