ทางม้าลาย (Zebra Crossing) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2494 ที่ประเทศอังกฤษ แต่เดิมมีการทดลองใช้หลายสี ทั้งเหลือง-น้ำเงิน ขาว-แดง ก่อนจะมาลงตัวที่สีขาว-ดำ ซึ่ง ตัดกับสีถนนได้ดีและมองเห็นชัดทั้งผู้ขับขี่และคนเดินข้าม ทางม้าลายแห่งแรกของโลกอยู่ที่ถนน Abbey ในประเทศอังกฤษ ซึ่งโด่งดังและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อวง The Beatles มาถ่ายปกอัลบั้มที่ทางม้าลายแห่งนี้ ต่อมาทางม้าลายได้ใช้กันแพร่หลายไปทั่วโลก อันเนื่องมาจากเป็นยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ จึงนำแนวคิดและวัฒนธรรมของตัวเองไปเผยแพร่ในประเทศที่เป็นอาณานิคม และกลายเป็นสัญลักษณ์จราจรแบบสากลในปัจจุบัน
ต่อมาประเทศต่าง ๆ ต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนา ‘ทางม้าลายอัจฉริยะ’ เพื่อปรับปรุง ประสิทธิภาพของการจราจรและเพิ่มความปลอดภัยของผู้คนมากขึ้น ซึ่งต่างเน้นการออกแบบที่ดี เพื่อจะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนได้
อังกฤษ ออกแบบ Starling Crossing (STigmergic Adaptive Responsive LearnING Crossing) เป็นทางม้าลาย เปลี่ยนพื้นถนนให้กลายเป็นจอ LED แบบอินเตอร์แอ็กทีฟ สามารถแสดงกราฟิกบนพื้นถนนได้ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถคาดเดาการเคลื่อนไหวของคนที่กำลังจะข้ามถนนได้แบบเรียลไทม์ มีระบบปรับแสงสว่างของหน้าจอให้มองเห็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
โปแลนด์ ติดตั้งระบบ Smartpass ที่อัปเกรดทางม้าลายให้ฉลาดขึ้น โดยใช้ระบบอินฟราเรดตรวจจับคนข้ามถนน แล้วส่งสัญญาณไปยังไฟบนพื้นและที่ป้ายเตือนเหนือศีรษะให้สว่างขึ้นเพื่อแจ้งเตือนคนขับรถ
รัสเซีย ใช้การยิงเลเซอร์สร้างวงกลมนิรภัยแก่ผู้ใช้ท้องถนน
เกาหลีใต้ มี Smart Crosswalk ติดตั้งไฟที่พื้นพร้อมมีเสียงเตือนให้รู้ว่าเป็นทางม้าลาย นอกจากนี้ ยังติดตั้งกล้องวงจรปิดและจอ LED สำหรับแสดงป้ายทะเบียนรถ ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรและจอดล้ำเส้นอีกด้วย
ฝรั่งเศส นอกจากเพิ่มไฟหรือกล้องเพื่อจับความเคลื่อนไหวแล้ว ยังออกแบบให้ทางม้าลายยกขึ้นมากั้นรถให้หยุดเมื่อมีคนข้าม นอกจากแก้ปัญหาเรื่องรถไม่ชะลอความเร็วและป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดกับคนข้ามแล้ว ยังแก้ปัญหารถจอดล้ำเส้นได้อีกด้วย