Grid Brief
- กุญแจสำคัญขององค์กรในการก้าวสู่ความสำเร็จท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือพนักงานต้องรู้จักการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่และพร้อมเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ ๆ
- Growth Mindset คือ วิธีคิดและทัศนคติเชิงบวก รู้จักยืดหยุ่นและปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยความมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง กล้าคิด กล้าทำในสิ่งใหม่ ๆ โดยไม่กลัวความผิดพลาดหรือล้มเหลว เพราะนั่นคือบทเรียนที่นำมาพัฒนาตัวเองได้
- Fixed Mindset คือ การยึดติดกับคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง กลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าเผชิญกับความผิดพลาดหรือความล้มเหลว ซึ่งเป็นกับดักทำให้ไม่มีการพัฒนาตัวเอง
- เทคนิคการสร้างทัศนคติแบบ Growth Mindset คือ การเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้ ใส่ใจและทุ่มเททำอย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เลือกทำงานที่ยากเพื่อการพัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด และหมั่นตรวจสอบฟีดแบ็กจาคนรอบข้าง
รายงานจาก Mckincy บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการชื่อดังที่คาดการณ์ไว้ว่า พ.ศ. 2573 แรงงานกว่า 375 ล้านคนทั่วโลกจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทและเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ เนื่องจากเทคโนโลยีก้าวหน้ารวดเร็วและได้รับการพัฒนามากขึ้น หากแรงงานไม่พัฒนาทักษะตัวเอง ก็อาจจะไม่มีงานให้ทำอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ Growth Mindset จึงกลายเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรให้ความสนใจ และต้องการปลูกฝังกรอบแนวคิด ดังกล่าวให้กับพนักงาน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ การทุ่มเทให้กับการทำงาน และการยอมรับความท้าทายใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กร
ศาสตราจารย์ ดร. Carol Dweck จากมหาวิทยาลัย แสตนฟอร์ด เป็นผู้ให้คำนิยามและคิดค้นทฤษฎีเรื่อง ‘Mindset’ และได้เขียนหนังสือชื่อ Mindset : The New Psychology of Success ไว้ว่า ความแตกต่างของผู้ที่มี ‘Fixed Mindset’ และ ‘Growth Mindset’ คือวิธีคิดและทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน
ผู้ที่มีแนวคิดแบบ Fixed Mindset คือคนที่ยึดติดกับกรอบปฏิบัติหรือทัศนคติเดิม ๆ กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวความล้มเหลว ทำให้ไม่กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ส่วนผู้ที่มีกระบวนความคิดแบบ Growth Mindset จะรู้จักยืดหยุ่นและปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองและรู้จักพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เป็นคนเปิดใจเรียนรู้จากความผิดพลาด หมั่นมองการหาโอกาสในการเรียนรู้เสมอ ทำให้เป็นคนกล้าออกจากพื้นที่เดิม ๆ งานเดิม ๆ ที่เคยทำ เพื่อลองทำสิ่งใหม่ ๆ โดยพร้อมรับมือแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ ที่ไม่อาจคาดคิดได้ทันท่วงที
ประโยชน์ของการมี Growth mindset
- มองตัวเองในด้านบวก
- เชื่อมั่นในความสามารถตนเอง
- มุ่งมั่นและพยายามในการเรียนรู้
- กระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
- ปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
- แลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับผู้อื่น
เคล็ดลับการสร้าง Growth Mindset
- เริ่มด้วยการเชื่อว่าคุณ ‘ทำได้’ – การสร้างความเชื่อว่า เราจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้าง ‘Growth Mindset’ เพราะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง ไม่ให้ติดกับดักเดิม ๆ ของความคิดแบบ ‘Fixed Mindset’ ที่มักไม่ยอมรับความผิดพลาด จึงมีข้ออ้างที่จะไม่ปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้
- ใส่ใจและทุ่มเททำอย่างต่อเนื่อง – การฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเองจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุ่มเทแรงกายแรงใจและตั้งใจทำไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้าง ‘Growth Mindset’ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ เพราะบางครั้งการจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ได้อาศัยแค่สติปัญญาหรือพรสวรรค์เท่านั้น แต่ยังต้องมีความเพียรพยายามเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ
- เรียนรู้ตลอดเวลา – การเรียนรู้ถือเป็นหัวใจของ ‘Growth Mindset’ เพราะสมองของมนุษย์จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทำให้คนเราเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ เป้าหมายในการเรียนรู้ควรมุ่งไปที่ความสำเร็จของงาน มากกว่าการแข่งขันกับคนรอบข้าง
- เลือกทำงานที่ยากเพื่อการพัฒนาแบบก้าวกระโดด – หากมีโอกาสเลือกงานที่จะทำได้ จงเลือกงานที่ท้าทายไว้ก่อน เพราะงานที่ยากจะดึงศักยภาพของเราออกมา ซึ่งจุดอ่อนของ ‘Fixed Mindset’ คือ การกลัวความผิดพลาด ทำให้เลือกทำแต่งานที่ง่าย จึงไม่มีการพัฒนาทักษะและศักยภาพตัวเอง ดังนั้น การเลือกทำงานที่ยาก จะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด ด้วยการเรียนรู้จากความผิดพลาด ผลที่ตามมาคือเราจะเลิกกลัวความล้มเหลว และการทำเช่นนี้เองจะสร้างทัศนคติแบบ ‘Growth Mindset’ ได้เป็นอย่างดี
- ตรวจสอบฟีดแบ็กอย่างสม่ำเสมอ – การตรวจสอบฟีดแบ็กอย่างสม่ำเสมอ เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ผลลัพธ์สิ่งที่เราได้ทำลงไปจากบุคคลรอบข้าง ซึ่งจะช่วยให้เรานำความคิดเห็นเหล่านี้มาใช้ในการปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อที่อาจยังไม่ถูกต้อง ให้เข้าที่เข้าทางเพื่อเป็นทางนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไป