Grid Brief
- ศึกษาภารกิจการเดินหน้าสู่เมืองปลอดคาร์บอนภายในปี พ.ศ.2578 ของเฮลซิงกิ เมืองหลวงประเทศฟินแลนด์
- ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบแบ่งปันและเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ของรีไซเคิล เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสินค้าต่าง ๆ
เมืองท่องเที่ยว
เที่ยวที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัย พอ ๆ กับความสวยงาม แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า เฮลซิงกิวางเป้าหมายเป็นเมืองที่ไม่ปล่อยคาร์บอนออกมาทำร้ายโลก หรือ Carbon Neutral ภายในปี พ.ศ.2578 ซึ่งหมายความว่า เฮลซิงกิจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 80% จากระดับในปี พ.ศ.2533 ส่วนอีก 20% ชดเชยจากการมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในที่อื่น ๆ
ภารกิจเดินหน้าสู่เมืองปลอดคาร์บอนของเฮลซิงกิเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากประชาชน ทางการเฮลซิงกิ ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละมิติ
ระบบจราจรยั่งยืน
ราว 1 ใน 5 ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยในกรุงเฮลซิงกิมาจากการจราจร ทำให้เฮลซิงกิตั้งเป้าหมายไว้สูง โดยในปี พ.ศ.2578 จะต้องลดการปล่อยมลพิษจากการจราจรลง 69% จากระดับเมื่อปี พ.ศ.2548 ซึ่งมากกว่าเป้าหมายของทั้งประเทศฟินแลนด์ที่ตั้งไว้ที่ 50%
โดยเฉพาะการให้ประชาชนลดการเดินทางด้วยรถยนต์และเลือกใช้การคมนาคมขนส่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้าพร้อมกับขยายเครือข่ายชาร์จแบตเตอรี ส่งเสริมการเดิน การขี่จักรยาน ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งในปี พ.ศ.2564 รถเมล์ในเมืองจะใช้พลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น ไปจนถึงการเก็บค่าที่จอดรถแพงขึ้นและลดจุดจอดรถฟรี
อาคารประหยัดพลังงาน
ความร้อนจากอาคารบ้านเรือนมีส่วนต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าครึ่งหนึ่งในเฮลซิงกิ การออกแบบอาคารให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีบทบาทสำคัญมากต่อเป้าหมายปลอดคาร์บอน โดยอาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาคารลงได้ 80%
แต่เพราะมีอาคารไม่กี่แห่งที่ทางการกรุงเฮลซิงกิเป็นเจ้าของ โจทย์จึงอยู่ที่การเชิญชวนให้ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงประโยชน์ในระยะยาว ด้วยการส่งเสริมให้ใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกในอาคารบ้านเรือนมากขึ้น ปรับปรุงให้ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ไม้ในการก่อสร้างมากขึ้น และเปลี่ยนหลอดไฟนอกอาคารให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
มาตรการจัดการของเฮลซิงกิในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การจัดระบบจราจรยั่งยืน เช่น ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เดิน ขี่จักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การออกแบบอาคารประหยัดพลังงานที่ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก รวมถึงการยุติการใช้พลังงานถ่านหินด้วย
เน้นผลิตพลังงานสะอาด
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าเป็นอีกมิติหนึ่งที่ส่งผลถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนทั้งประเทศ และยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินอย่างสิ้นเชิง โดยเฮลซิงกิจะเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิล หันมาเน้นผลิตพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในยามจำเป็น
เศรษฐกิจอัจฉริยะและเศรษฐกิจหมุนเวียน
เฮลซิงกิตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนจากการจัดซื้อจัดจ้าง โดยคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง บริการอาหาร อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมเศรษฐกิจแบบแบ่งปันและเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกตัวอย่างชาวเมืองสามารถหยิบยืมเสื้อผ้าจากห้องสมุดเสื้อผ้า ขณะเดียวกันร้านเสื้อผ้าในเฮลซิงกิก็จำหน่ายเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น รวมถึงการขายสินค้ามือสองที่ได้รับความนิยม
‘Pure Waste’ ขายเสื้อผ้าทั้งหมดในร้านที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล 100% แถมบริการจัดส่งสินค้าผ่านจักรยาน ไม่สร้างมลภาวะเพิ่มหรือกรณีของ ‘ResQ Club’ แอปพลิเคชันบนมือถือที่ให้ผู้ใช้สั่งซื้ออาหารเหลือทิ้งจากร้านอาหารได้ในราคาย่อมเยา ส่วนผู้ขายก็ไม่ต้องมีขยะเหลือทิ้งมากเกินไป
เว็บไซต์ ‘MyHelsinki’ เป็นสื่อกลางที่มีเกณฑ์รับรองธุรกิจที่ไม่ทำร้ายโลก เช่น ใช้พลังงานหมุนเวียน บริการซ่อมสินค้าให้กลับมาใช้งานได้ใหม่ ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น
การท่องเที่ยวและอีเวนต์ที่เป็นมิตรกับโลก
เฮลซิงกิได้รับรางวัล European Capital of Smart Tourism ในปี พ.ศ.2563 โดยทำผลงานได้ดีทั้ง 4 เกณฑ์ ได้แก่ 1. ความยั่งยืน สามารถขยายการท่องเที่ยวไปพร้อมกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม วัฒนธรรม 2. ดิจิทัล นำเสนอนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวและบริการผ่านระบบ ICT และดิจิทัล 3. วัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ โดยใช้มรดกทางวัฒนธรรมผสานกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ด้านท่องเที่ยว และ 4. การเข้าถึง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายผ่านการคมนาคมที่หลากหลาย
นอกจากนี้โรงแรมในเฮลซิงกิราว 75% ได้รับการรับรองเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากสถาบันต่าง ๆ
ส่วนการจัดงานอีเวนต์และการประชุมต่าง ๆ เฮลซิงกิมีเครื่องมือ
ที่ช่วยให้การจัดงาน มีความยั่งยืน ไม่สร้างมลภาวะ โดยมีการคำนวณพื้นที่ การใช้น้ำ – ไฟ อาหารต่าง ๆ การสร้างขยะ รวมถึงการขนส่ง
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ สะท้อนจากการแข่งขันขี่ม้ากระโดดชิงแชมป์โลก ที่จัดภายในงานแสดงม้านานาชาติที่กรุงเฮลซิงกิ เมื่อปี พ.ศ.2563 โดยผู้จัดงานนำมูลม้าราว 100 ตัน จากม้า 370 ตัว ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ ส่งไปเผาที่โรงไฟฟ้าเมืองยารเวนบา (Järvenpää) กระบวนการดังกล่าวผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ราว 150 เมกะวัตต์ เพียงพอสำหรับจัดการแข่งขันตลอดทั้ง 4 วัน แถมยังเหลือพลังงานบางส่วนสำหรับประชาชน 26 ครัวเรือนใช้ได้นานนับเดือนอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คงทำให้หลายคนมอง ‘เฮลซิงกิ’ ในมุมใหม่ ในฐานะ ‘เมืองปลอดคาร์บอน’
เรื่องโดย โอเมก้า