Grid Brief
- ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทในการทำงานของหลากหลายแวดวง ทั้งเกษตรกรรม การแพทย์ การขนส่งสินค้า การตลาด การบริการลูกค้า การลงทุน
- อาชีพที่มีความเสี่ยงว่าจะถูก AI เข้ามาแทนที่ แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย คืออาชีพที่ต้องใช้ Soft Skills ในการทำงาน กลุ่มปลอดภัย คืออาชีพที่ทำงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลาย กลุ่มอันตรายปานกลาง คืออาชีพที่มีทักษะการทำงานได้หลายอย่างในตัวคนเดียว และกลุ่มอันตรายมาก คือมีความเสี่ยงมากที่จะถูก AI แทนที่ คืออาชีพที่ทำงานซ้ำ ๆ จำเจ
- การปรับตัวเพื่อรับมือกับ AI ทำได้ด้วยการเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลง และศึกษาประโยชน์รวมถึงวิธีใช้ AI ในการทำงาน ในขณะเดียวกันก็ต้อง Reskill ทักษะความสามารถของตัวเองให้พัฒนาขึ้น พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ และสิ่งหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการทำงานของแวดวงต่าง ๆ ก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ถือเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถส่งต่อไปยังที่ไหนในโลกก็ได้ และพร้อมใช้งานได้ทันที
หลายคนจึงกังวลใจว่า “แล้ว AI จะเข้ามาแย่งงานที่ทำอยู่ไหม” หรือ “ต้องปรับตัวอย่างไรที่จะอยู่กับเจ้า AI ได้” เรามีคำตอบ
เปิดใจรับ AI
จำตอนที่เพิ่งมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้งานได้ไหม ตอนนั้นหลายคนกังวลว่าตัวเองต้องตกงาน หรือถูกลดบทบาทและความสำคัญลงหรือเปล่า แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า เราต่างใช้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำงาน นั่นเพราะได้รู้และเห็นถึงความสามารถและประโยชน์ของคอมพิวเตอร์แล้วนั่นเองกับ AI ก็ไม่ต่างกัน
ก่อนอื่นต้องเปิดใจศึกษาและเรียนรู้ AI ก่อนว่า ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ทำงานแทนมนุษย์ได้ ในงานที่มีลักษณะต้องทำซ้ำ ๆ หรืองานวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลที่มากเกินกว่ามนุษย์จะทำเองได้โดยไม่ผิดพลาด และงานที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้ เหตุผลส่วนใหญ่ขององค์กรต่าง ๆ ที่นำ AI มาใช้ คือ การรับมือและดูแลลูกค้า การช่วยให้ตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น และเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ฉะนั้น AI จึงเข้ามาช่วยเราทำงาน และทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อาชีพไหนที่ AI จะมาแทนที่
Kai-Fu Lee ผู้คิดค้น AI ในยุคแรก ๆ ได้แบ่งกลุ่มงานที่มีความเสี่ยงว่า AI จะเข้ามาแทนที่ไว้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- Human Veneer (ความเสี่ยงน้อย) เช่น พนักงานเสิร์ฟ บาริสตา บาร์เทนเดอร์ พนักงานต้อนรับ เป็นต้น เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องใช้ Soft Skills หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือทักษะเฉพาะบุคคลที่เป็นนามธรรมที่ช่วยให้ทำงานและสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาชีพดังกล่าวล้วนแต่ต้องใช้มนุษยสัมพันธ์สูง แต่ไม่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนเยอะ และทำงานในสภาพแวดล้อมคงเดิม ทว่า หากคนเราให้ความสำคัญเรื่องมนุษยสัมพันธ์ลดลง ก็อาจถูก AI เข้ามาแทนที่ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
- Safe Zone (โซนปลอดภัย) เช่น ช่างตัดผม นักกายภาพบำบัด พยาบาลดูแลผู้สูงอายุ และคนฝึกสุนัข อาจดูคล้ายกับกลุ่มแรก เพราะต้องมีมนุษยสัมพันธ์เช่นเดียวกัน แต่ต้องอยู่ในระดับที่สูงกว่า และเป็นอาชีพที่ต้องทำงานกับความชอบและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันของลูกค้า ซึ่ง AI ไม่สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่คงที่ได้ดีเท่ามนุษย์
- Slow Creep (โซนอันตรายปานกลาง) เช่น แม่บ้าน ช่างประปา คนขับแท็กซี่ คนงานก่อสร้าง พนักงานรักษาความปลอดภัย ช่างกล เป็นต้น เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนสูง และต้องสามารถทำหลายอย่างได้ในคนเดียว ซึ่ง AI ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่ามนุษย์
- Danger Zone (โซนอันตรายมาก) เช่น พนักงานล้างจาน พนักงานขับรถบรรทุก แคชเชียร์ พนักงานเย็บเสื้อผ้า พนักงานตรวจสอบไลน์ผลิต เป็นต้น เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูก AI เข้าแทนที่ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องทำซ้ำเดิม และไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ไม่ต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญ แต่ต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน ซึ่ง AI ทำได้ดีกว่ามนุษย์
ปรับตัวอยู่กับ AI
Kai-Fu Lee ยังได้เสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งว่า ‘AI ไม่ได้จะมาแย่งงานมนุษย์ แต่กำลังจะปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากการทำงาน เพื่อไปทำงานที่สมควรทำมากกว่า’ ก็คืองานที่ใช้ทักษะการสื่อสาร การจัดการอารมณ์เพื่อตอบสนองความต้องการและความรู้สึกของลูกค้า ที่ไม่ใช่งานที่ทำซ้ำ ๆ เหมือนเดิมทุกวัน เช่น งานดูแลผู้สูงอายุ หรือดูแลผู้ป่วย รวมถึงงานที่มีความซับซ้อน งานที่ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์
ในอดีตเราอาจเลือกเรียนวิชาที่ถนัด หรือไม่ก็เลือกเรียนสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่เมื่อเทคโนโลยีได้พัฒนา AI ให้เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น การรับมือเพื่ออยู่รอดในโลกการทำงานยุค AI คือต้องค้นหาความชอบและความถนัดของตัวเองให้เจอ หากสิ่งที่ชอบกับถนัดเป็นคนละอย่างกัน ต้องเลือกสิ่งที่ถนัดก่อน เพื่อนำมาต่อยอดเป็นอาชีพ เรียกว่าเป็นการสร้างงาน (Job Innovator) แทนที่จะรองานที่เหมาะกับตัวเอง
นอกจากนี้ องค์กรเองควรมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนด้วยการให้ความสำคัญกับการ Reskill หรือการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของบุคลากรให้มากขึ้น รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วย และพนักงานเองก็ต้องการเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และกล้าที่จะออกจากคอมฟอร์ตโซน จำไว้ว่า เราทุกคนไม่ควรหยุดพัฒนาตัวเอง เพื่อจะได้ทำในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่าเรา
มาเริ่มจากการศึกษาประโยชน์และวิธีใช้งาน AI แทนที่จะวิตกกังวลกลัวว่าจะถูกมันแย่งงานกันดีกว่านะ