Grid Brief
- การถือเงินสดทั้งหมดที่คุณมีอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของการบริหารเงินในยุคปัจจุบัน
- ไม่ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน ควรพิจารณาว่าเหมาะและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ตัวเอง
- ก่อนจะลงทุนในสินทรัพย์นั้น ๆ ต้องเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย
ไม่ว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบไหนก็ตาม เราควรบริหารจัดการ “การเงิน” ของตัวเองให้ดี เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของตัวเอง ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวนมาก การฝากธนาคารอย่างเดียวเพื่อกินดอกเบี้ยอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันนัก แต่ก่อนจะนำเงินที่มีไปลงทุนเพื่อให้งอกเงยขึ้นมา จำเป็นต้องรู้จักสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ให้ดีเสียก่อน
1. เงินสด เสี่ยงต่ำสุด
แม้การถือเงินสดอาจมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ในกรณีที่คุณไม่ทำหายหรือถูกขโมยไปเสียก่อน แต่การจะถือเงินสดโดยฝากธนาคารเพียงอย่างเดียวคงไม่คุ้มค่า ด้วยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ค่าของเงินสดที่คุณฝากไว้ในบัญชีนั้นจะลดน้อยลงไปเองทุกปี ๆ
2. เงินฝากประจำ : เสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนน้อย 0.5%
หลายคนขยับจากการฝากธนาคารในบัญชีออมทรัพย์ปกติ มาเป็นการฝากประจำที่มีกำหนดตามแต่ละรูปแบบของธนาคาร อาจจะฝากทุก 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน หรือ 24 เดือน ก็แล้วแต่ โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือคุณไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ก่อนกำหนด จึงจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่ได้ถือว่าน้อยประมาณ 0.5% เท่านั้น
3. สลากออมสิน / ธ.ก.ส. : เสี่ยงต่ำ
อีกรูปแบบของการลงทุนในลักษณะการออมเงิน เป็นการซื้อสลากขององค์กรต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ที่มีจำหน่ายตามวาระและในจำนวนที่ประกาศ แม้ดอกเบี้ยที่ได้เมื่อครบสัญญาการฝากอาจจะน้อย แต่ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือสิทธิ์ในการลุ้นถูกรางวัลในแต่ละเดือน
4. พันธบัตร/หุ้นกู้ : เสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนไม่มากไม่น้อย
พันธบัตรออกโดยหน่วยงานรัฐบาล อัตราผลตอบแทนประมาณ 1-3% ถ้าเป็นพันธบัตรที่ออกโดยเอกชนจะเรียกว่าหุ้นกู้ผลตอบแทน 3-5% ซึ่งมีระยะเวลากำหนดการไถ่ถอนที่แน่นอน ทั้งนี้ ความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลจะมีมากกว่า ความเสี่ยงน้อยกว่า ทำให้ดอกเบี้ยที่ได้รับก็อัตราน้อยกว่าพันธบัตรเอกชนไปด้วย ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการผลตอบแทนที่มากกว่าจึงอาจหันไปซื้อหุ้นกู้ แต่ก็ต้องเลือกบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ดีด้วย ไม่ใช่พิจารณาแค่อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเท่านั้น
การถือเงินสดทั้งหมดที่คุณมีอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของการบริหารเงินในยุคปัจจุบัน
5. ทองคำ : เสี่ยงต่ำ
ถือเป็นสินทรัพย์ที่ใช้กระจายความเสี่ยง เมื่อก่อนราคาทองคำอาจสวนทางกับราคาหุ้น คือ ถ้าหุ้นไม่ดี ทองคำมักจะดี แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ข้อดีของทองคำคือเป็นสินทรัพย์ที่เป็นรูปธรรม แต่ต้องรอจังหวะที่อาจจะใช้เวลา กว่าราคาจะขึ้นลงแต่ละรอบ ทั้งยังต้องรับความเสี่ยงจากการสูญหายหรือถูกขโมยหากเก็บไว้ที่บ้าน จึงควรใส่ตู้เซฟหรือฝากไว้ที่ธนาคารดีกว่า
6. กองทุนรวม : เสี่ยงปานกลาง ผลตอบแทน 5-8%
การลงทุนที่สามารถไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นได้หลากหลาย เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างประเทศที่ประเทศไทยไม่มี ทองคำ ตราสารหนี้ โครงการอสังหาริมทรัพย์หรือโครงสร้างพื้นฐานระดับประเทศ ผลตอบแทนที่ได้ มาจากทั้งราคาหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับตอนที่ซื้อมา และผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ได้กลับมา ซึ่งบางกองทุนอาจนำไปใช้ลดหย่อนสิทธิ์ทางภาษีได้อีก ด้วย การลงทุนประเภทนี้ถือว่ามีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารจัดการดูแลแทนให้ จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงและบางกองทุนก็มีเงื่อนไขในการขายออกที่อาจทำให้ไม่สามารถขายได้ทันทีที่ต้องการ
7. หุ้น : เสี่ยงสูง ผลตอบแทน 5-10%
เป็นการขายหุ้นของบริษัทเพื่อระดมทุนมาขยายกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เข้าจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ผลตอบแทนมาจากส่วนต่างราคาหุ้นที่ซื้อหรือจากเงินปันผล อยู่ที่ระยะเวลาในการลงทุน หากลงทุนระยะสั้นก็คือได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาหุ้น ซึ่งไม่อาจการันตีว่าจะได้กำไรเสมอไป เพราะราคาหุ้นมีความเคลื่อนไหวเสมอ แต่ถ้าต้องการลงทุนระยะยาวก็คือผลตอบแทนที่ได้จากเงินปันผล
8. ตราสารอนุพันธ์ หรือ TFEX : เสี่ยงสูงมาก
คือการตกลงจะซื้อจะขายราคาสินค้าอ้างอิงล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน ทองคำ น้ำมัน สินค้าเกษตรต่าง ๆ แม้เป็นการใช้เงินไม่มากในการลงทุน แต่ความเสี่ยงสูงมาก เพราะ TFEX บางประเภทอาจบังคับให้วางหลักประกันเพิ่ม ดังนั้น การลงทุนประเภทนี้จึงเหมาะกับผู้ที่มีค้นคว้าข้อมูลมาแล้วอย่างดี
9. อสังหาริมทรัพย์ : ผลตอบแทนสูง
เหมาะกับผู้ที่มีเงินก้อนใหญ่และสามารถซื้อความเสี่ยงในระยะยาวได้ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการถือครอง ส่วนใหญ่ราคาที่ดินมักสูงขึ้น แต่จะปรับขึ้นมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับทำเลเป็นสำคัญ ส่วนการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อเก็งกำไรนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ เพราะแม้จะได้สิทธิ์เป็นเจ้าของแต่การจะได้ผลตอบแทนอย่างที่หวังไว้อาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ทั้งยังต้องติดตามนโยบายภาษีสิ่งปลูกสร้างไว้ด้วย
10. สินทรัพย์ดิจิทัล : เสี่ยงสูงมาก ผลตอบแทนสูง
สินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงสูง ก็เพราะยังถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้จักดี ทั้งยังต้องอาศัยการติดตามข่าวสารจากทั่วโลก ที่สำคัญยังเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีหน่วยงานดูแลและกำกับครอบคลุมได้ทุกสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงสูงได้ ซึ่งก็มีผลตอบแทนสูงเป็นสิ่งโน้มน้าวใจ แต่ต้องยอมรับว่า ผลตอบแทนสูงนั้นก็มาพร้อมกับโอกาสการขาดทุนที่สูงเช่นกัน อีกทั้งหากเกิดความเสียหายขึ้นมา ก็ไม่สามารถเรียกร้องกับหน่วยงานใด ๆ ได้ชัดเจนเหมือนสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ด้วย
Cover Illustration โดย ANMOM
ที่มา
- https://aommoney.com/stories/aommoney-guru-column/สินทรัพย์แบบไหนที่่คนรวยเค้ามีกันนะ/22349#kobexx4c50
- https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/21-how-to-invest-in-stocks-for-a-wealthy-retirement
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/863862
- https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/how-to-invest-win-inflation.html
- https://sbk-gold.com/blog/year-2021-what-should-investing-for-first-time
- http://www.maoinvestor.com/2020/04/investment_covid19.html