Grid Brief

  • บอกลานิสัยซื้อของซ้ำได้ด้วยการ ‘จัดตู้เสื้อผ้า’ โดยแบ่งโซนการใช้งานให้ชัดเจน จากนั้นแยกประเภทของเสื้อผ้าในแต่ละโซน ที่สำคัญจะพับหรือแขวนก็ได้ แต่ให้เรียงตามแนวราบ ห้ามกองซ้อนเป็นตั้งเด็ดขาด เพราะชิ้นที่อยู่ข้างล่างจะไม่ถูกหยิบออกมาใช้
  • จำไว้ว่า ของทุกชิ้น (ยกเว้นเครื่องเพชร) ต้องเอาออกจากกล่อง จะได้รู้ว่าแบบไหนบ้างที่เรามีแล้ว

คุณเคยลองสำรวจตู้เสื้อผ้าดูไหม ว่ามีของซ้ำเดิมหรือเปล่า? บางคนเพิ่งซื้อเสื้อใหม่กลับพบว่าในตู้มีเสื้อแบบเดียวกันอยู่แล้ว 10 ตัว หรือมีรองเท้าแบบเดิม 5 คู่

ตู้เสื้อผ้าที่มีเสื้อผ้า รองเท้า หมวก จัดวางเป็นระเบียบ

สาเหตุหลักของการ ‘ซื้อซ้ำ’ เพราะไม่เห็นว่ามีอะไรอยู่แล้วบ้าง นอกจากทำให้ตู้เสื้อผ้ารกรุงรังไปด้วยของที่คุณแทบไม่เคยหยิบมาใส่ ยังทำให้เปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งยังเป็นภาระในการเก็บรักษา ยิ่งไปกว่านั้น คุณจะรู้สึกหงุดหงิดเสมอเมื่อหาเสื้อผ้าตัวที่อยากใส่ไม่เจอ และมาเจอตอนที่เลยโอกาสใช้งานไปแล้วทุกที เราจึงมีเทคนิคการจัดตู้เสื้อผ้ามาฝาก

1. อย่าเอาเสื้อผ้าใส่ตู้

การเก็บเสื้อผ้าที่ดีที่สุดคือ นำทุกชิ้นมาจัดวางในห้องโปร่งโล่งกว้างที่มีอากาศถ่ายเท นอกจากทำให้เสื้อผ้าไม่มีกลิ่นอับจากการอยู่ในตู้แล้ว คุณจะได้เห็นข้าวของทั้งหมดที่คุณมี (แต่ถ้าใครยังอยากเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า ให้ข้ามไปทำข้อ 2 ได้เลย)

2. แบ่งโซนตามการใช้งาน

กำหนดตำแหน่งการเก็บเสื้อผ้าตามลักษณะการใช้งาน เช่น โซน 1 เป็นเสื้อผ้าที่ใช้ทุกวัน โซน 2 เสื้อผ้าที่นาน ๆ ใช้ที เช่น ชุดเดินทาง เสื้อกันหนาว ชุดออกงาน เป็นต้น  

เสื้อผ้าที่พับซ้อนกันเป็นตั้ง แยกสี แยกกางเกง เสื้ออย่างเป็นระเบียบ

3. แยกประเภทของในแต่ละโซน

แม้จะเป็นเสื้อผ้าที่ใช้งานแบบเดียวกัน แต่อย่าลืมแยกตามลักษณะของเสื้อผ้านั้น เช่น เสื้อแขนสั้น แขนยาว กางเกงขาสั้น ขายาว ชุดออกกำลังกาย ชุดว่ายน้ำ  ฯลฯ 

4. แยกสีในแต่ละประเภท

เสื้อผ้าจะดูเป็นระเบียบชวนมองมากขึ้น หากคุณแบ่งตามโทนสี เริ่มจากการแบ่งง่าย ๆ เป็น 3 สี เช่น เสื้อผ้าสีขาว สีดำ และสีสัน ส่วนใครสามารถแยกย่อยตามเฉดสีอ่อนเข้มเหมือนสีไม้ในกล่องก็ยิ่งทำให้น่ามองขึ้น

5. พับ-แขวนตามแนวตั้ง

หัวใจสำคัญของการจัดเก็บเสื้อผ้า คือหากพับหรือแขวน ให้หันข้างเรียงไปตามแนวราบ อย่าพับแล้วซ้อนทบกันเป็นแนวตั้ง เพราะของที่ถูกทับอยู่ข้างล่างจะไม่ถูกหยิบออกมาใช้ และชุดไหนที่ต้องใส่ด้วยกันต้องเก็บเป็นคู่และซักพร้อมกัน เพื่อให้เสื้อผ้าชุดนั้นสีซีดจางไม่ต่างกัน  

การพับเสื้อผ้าหันข้างเรียงตามแนวราบเพื่อให้ทุกตัวหยิบใช้ได้สะดวก

6. เอาของออกจากกล่อง

ของประเภทกระเป๋า รองเท้า แว่นตา ผ้าพันคอ นาฬิกาและเครื่องประดับ (ยกเว้นเครื่องเพชร) ให้เอาออกจากกล่องวางเรียงหันหน้าออกบนชั้นวาง หรือใส่ตู้กระจก หรือลิ้นชัก จะทำให้เห็นว่ามีของแบบไหนบ้างแล้ว ยกเว้นถุงน่อง ควรพับเก็บใส่ซองเดิมไว้แล้วเรียงเอาด้านข้างขึ้น 

ส่วนวิธีเก็บรองเท้าใส่กล่องแล้วถ่ายรูปติดไว้หน้ากล่องนั้นไม่ได้ผลนัก เพราะเราอาจยังไม่มีเวลาจัดระบบจึงผัดผ่อนการถ่ายรูป พิมพ์ หรือแปะ ทำให้ที่สุดก็จะไม่ทราบหรือจำไม่ได้ว่ามีแบบไหนแล้วบ้าง สุดท้ายก็เผลอซื้อเพิ่มจนได้

หากไม่จัดระเบียบตู้เสื้อผ้าให้เห็นชัด เราอาจเผลอซื้อซ้ำซ้อนได้ เว้นแต่เราจะบอกตัวเองว่า ‘เดี๋ยวค่อยซื้อ’