พลังงานหมุนเวียนไฮโดรเจนได้รับความสนใจมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยมลพิษ นักวิทยาศาสตร์จึงทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตพลังงานไฮโดรเจนให้ดีขึ้น โดยใช้ต้นทุนต่ำลง
ในที่สุดความพยายามก็สำเร็จ เมื่อทีมนักวิจัยจาก Australian National University (ANU) ทำให้โซลาร์เซลล์ใช้แสงแดดแยกน้ำออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นร้อยละ 17.6 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการทดสอบมาในระบบแยกน้ำด้วยไฟฟ้าเคมีทางแสง (Photoelectrochemical Water Splitting)
วิธีผลิตพลังไฮโดรเจนโดยทั่วไปมักใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์หรือกังหันลมเป็นตัวป้อนพลังงานให้เครื่องผ่านกระแสไฟฟ้า (Electrolyser) ที่จะใช้กระแสไฟฟ้าแบ่งน้ำออกเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน
แต่ทีมนักวิจัยจาก ANU ตัดเครื่อง Electrolyser ออกไป แล้วใช้โซลาร์เซลล์ที่เคลือบด้วยสารเพอรอฟสไกต์ ซึ่งประกอบด้วยตะกั่วหรือดีบุกกับเฮไลด์ เป็นตัวเปลี่ยนน้ำให้เป็นไฮโดรเจนภายในแผงได้เลย ข้อดีของสารเพอรอฟสไกต์คือ น้ำหนักเบา ดัดให้โค้งงอได้ จึงขึ้นรูปได้ง่าย ดูดซับแสงได้เทียบเท่าซิลิกอนที่ใช้ผลิตโซลาร์เซลล์ที่แพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบัน ทั้งยังราคาถูกกว่า
ความสำเร็จครั้งนี้จึงช่วยทำให้การผลิตพลังงานไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ ในราคาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น