Grid Brief
- หลังเหตุการณ์สึนามิที่ส่งผลให้สารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไออิชิ หมายเลข 1 รั่วไหลออกมา ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นหันมาจริงจังกับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งญี่ปุ่นมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งประเทศ
- ปัจจุบันนอกจากติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาแล้ว ยังติดตั้งบนผืนน้ำอีกด้วย โดยติดไว้บนทุ่นแล้วผูกติดกันเป็นแพ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นซึ่งฟาร์มโซลาร์ลอยนํ้าแห่งแรกของโลกอยู่ในญี่ปุ่น ที่จังหวัดไอจิ ทางตอนกลางของเกาะฮอนชู
- หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ลดต้นทุนพลังงานหมุนเวียนจนถึงการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน
‘ญี่ปุ่น’ เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหาร แหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงเทคโนโลยีในด้านพลังงาน ญี่ปุ่นได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
จนกระทั่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ตามด้วยคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่ม ทำให้เกิดภัยพิบัติที่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ หมายเลข 1 สารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลรั่วไหลออกมา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก
หายนะที่คาดไม่ถึงครั้งนั้นทำให้ญี่ปุ่นหันมาจริงจังกับเรื่องพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพราะมีความปลอดภัยมากกว่า โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งญี่ปุ่นมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ (ละติจูดที่ 20) เนื่องจากเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของโลก แต่ละวันพระอาทิตย์จะส่องแสงในดินแดนญี่ปุ่นเป็นแห่งแรกของโลก นั่นจึงเป็นที่มาของสมญานามที่ถูกเรียกขานว่า ‘แดนอาทิตย์อุทัย’
นโยบายรับซื้อพลังงานหมุนเวียน
การจะผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างแพร่หลาย ภาครัฐต้องอัดฉีดมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ยังสูงกว่าพลังงานปรมาณู รัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตรการจ่ายเงินอุดหนุน และ Feed-in Tariff (FiT) หรือกลไกระบบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบกำหนดราคา เพื่อจูงใจให้ภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เริ่มแรกรัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผลิตจากบ้านเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งจะรับซื้อเฉพาะส่วนเกินที่เหลือจากการใช้งาน และให้ราคามากเป็น 2 เท่าของค่าไฟปกติ ทำให้มีการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ระยะหลัง รัฐบาลทยอยปรับการรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่ลดลง เนื่องจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกลง ประกอบกับหากต้นทุนการผลิตไฟฟ้ายังคงสูง ประชาชนก็จะเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าในที่สุด รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 22 – 24% ของพลังงานทั้งหมด และเพิ่มเป้าหมายเป็น 27% ภายใน พ.ศ. 2573 ขณะที่ใน พ.ศ. 2562 ญี่ปุ่นสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน หมุนเวียนได้ 19% ซึ่ง 8% มาจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์
ผสานพลังชุมชน
การผนึกกำลังของผู้คนในชุมชนมีส่วนในการขับเคลื่อนโซลาร์เซลล์ให้แพร่หลายมากขึ้น ยกตัวอย่างเมืองโยนาโงะ ในจังหวัดทตโทริ ที่หันมาเน้นผลิตพลังงานสะอาด เพื่อทดแทนการพึ่งพาพลังงานจากนอกพื้นที่ ที่ทำให้ต้องจ่ายเงินค่าพลังงานนับแสนล้านเยนในแต่ละปี
ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันผลิตพลังงานหมุนเวียนขึ้นใช้เองภายในจังหวัด ซึ่งมีประชากรราว 150,000 คน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากโซลาร์เซลล์ พลังงานนํ้า และชีวมวล โดยติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานไว้ตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ โรงเรียน และพิพิธภัณฑ์
เงินที่ประหยัดค่าพลังงานได้ ทางการจังหวัดทตโทริก็จัดสรรกลับไปเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น ติดตั้งแบตเตอรี่แบบชาร์จซํ้าได้ในศูนย์พักพิงฉุกเฉิน และระบบจัดการพลังงานในโรงเรียน ที่ช่วยให้ประหยัดการใช้พลังงาน และลดรายจ่าย
แนวทางผสานพลังชุมชน นอกจากประโยชน์ทางตรงในการช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานแล้ว ยังเหมาะกับสังคมญี่ปุ่นที่เผชิญความท้าทายจากการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ท่ามกลางจำนวนประชากรที่ลดลง และเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด ทั้งยังปลอดมลพิษ และการบำรุงรักษาไม่ยุ่งยากมากนัก นับเป็นพลังงานธรรมชาติที่เหมาะกับทุกประเทศที่มีศักยภาพในการรับแสงแดดอย่างเต็มที่
แนวทางผสานพลังชุมชน นอกจากประโยชน์ทางตรงในการช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานแล้ว ยังเหมาะกับสังคมญี่ปุ่นที่เผชิญความท้าทายจากการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
โซลาร์ลอยแพ
นอกเหนือจากการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านเรือนและอาคาร รวมถึงการทำโซลาร์ฟาร์มบนพื้นที่ขนาดใหญ่ ทุกวันนี้มีแนวคิดใหม่ที่ตอบโจทย์การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ โดยไม่ส่งผลกระทบเรื่องพื้นที่ ซึ่งอนาคตอาจต้องใช้ในการทำการเกษตรและสร้างที่อยู่อาศัย นั่นก็คือ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนผืนนํ้า วิธีนี้ใช้การนำแผงโซลาร์ติดตั้งบนทุ่นและผูกไว้ด้วยกันเหมือนแพขนาดใหญ่ ซึ่งฟาร์มโซลาร์ลอยนํ้าแห่งแรกของโลกอยู่ในญี่ปุ่น ที่จังหวัดไอจิ ทางตอนกลางของเกาะฮอนชู
จากข้อมูลนับถึง พ.ศ. 2562 พบว่า ทะเลสาบและอ่างเก็บนํ้าจำนวนมากในญี่ปุ่นมีฟาร์มโซลาร์ลอยนํ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกรวม 73 แห่ง จาก 100 แห่งทั่วโลก และมีกำลังการผลิตคิดเป็น 50% ของการผลิตไฟฟ้าจากฟาร์มโซลาร์ลอยนํ้าทั่วโลก
ส่วนแพโซลาร์ลอยนํ้าที่ใหญ่สุดในญี่ปุ่นอยู่ที่เขื่อนยามากูระ ในจังหวัดชิบะ มีพื้นที่ใหญ่ถึง 112 ไร่ สามารถผลิตไฟฟ้าป้อนบ้านเรือนได้เกือบ 5,000 หลัง และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ปีละกว่า 8,000 ตัน
แนวคิดลอยแพโซลาร์บนแหล่งนํ้าได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยขยายตัวถึง 100 เท่า ระหว่าง พ.ศ. 2557 – 2561
ทว่า ถึงจะมีข้อดีมากมาย ก็ยังมีความเป็นกังวลว่าแผงโซลาร์ที่ลอยอยู่เหนือแหล่งนํ้าอาจทำลายระบบนิเวศในนํ้าจากการได้รับแสงแดดน้อยลง และบางแห่งสภาพอากาศก็อาจส่งผลกระทบกับแผงโซลาร์ได้ เช่น พายุไต้ฝุ่นที่อาจสร้างความเสียหายต่อแพโซลาร์
โอลิมปิกไม่ทำร้ายโลก
แนวคิดมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนยังสะท้อนออกมาในการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งล่าสุดที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนในการแข่งขัน 100% โดยญี่ปุ่นตั้งใจจัดงานแบบไม่ทำร้ายโลก ภายใต้แนวคิด Reduce, Reuse, Recycle
โดยเฉพาะการผลิตเหรียญรางวัลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยรับบริจาคคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมเกือบ 8 หมื่นตัน เพื่อนำส่วนประกอบที่ทำจากทอง เงิน ทองแดง มาใช้ในการผลิตเหรียญรางวัล
นอกจากนี้ ทางการญี่ปุ่นยังได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนท้องถนน รวมถึงลานจอดรถของร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ในจังหวัดคานากาวะ ซึ่งพื้นผิวของแผงโซลาร์จะเคลือบด้วยเรซินแบบพิเศษ เพื่อให้มีความคงทนมากขึ้น รองรับยานพาหนะที่อาจแล่นทับแผงดังกล่าว ซึ่งถนนโซลาร์นี้ผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 9% ของพลังงานที่ใช้ทั้งร้าน
ตราบเท่าที่ตะวันยังขึ้นในทุก ๆ เช้า แดนอาทิตย์อุทัยก็ยังเก็บเกี่ยวพลังงานจากแสงแดดได้ไม่รู้จบ
เรื่องโดย โอเมก้า