Grid Brief
- ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลายองค์กรต่างเร่งปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ และการบริหารองค์กรกันครั้งใหญ่ โดยหนึ่งในตัวชี้วัดที่จะบอกว่าองค์กรไหนจะเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน นั่นคือ การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- เทคนิคบันได 6 ขั้นนำไปปรับใช้เป็นแนวทางเพื่อให้ทุกองค์กรบรรลุเป้าหมายในการสร้าง “วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้เกิดขึ้นกับบุคลากรทุกคนในองค์กรได้ไม่ยาก
ในยุคที่หลายองค์กรต้องเร่งปรับโครงสร้าง เพื่อวางแผนกลยุทธ์ในการนำองค์กรฝ่าวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่าหนึ่งในเป้าหมายที่หลายองค์กรต้องการขับเคลื่อนให้ไปถึง คือการเป็น ‘องค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ (Lifelong Learning Organization) เพราะหากองค์กรไหนทำได้ ย่อมปูทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามบทความของเว็บไซต์ entrepreneur.com วิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเหมือน DNA ของพนักงานทุกคนในองค์กร คือการจัดโปรแกรมหรือคอร์สเทรนนิ่งที่ผสานไปกับการทำงาน พนักงานจะไม่รู้สึกเหมือนถูกบังคับ
สำหรับการเริ่มการไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มี 6 ขั้นตอนที่แต่ละองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ได้
1. เป้าหมายนี้คือหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กร
ทุกองค์กรจำเป็นต้องมี ‘วัฒนธรรมองค์กร’ (Core Values) ที่ทุกคนต้องยึดมั่นและใช้เป็นหลักในการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่แล้ว ดังนั้น จึงควรใส่แนวคิดในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตลงไปเป็นหนึ่งใน วัฒนธรรมองค์กรนั้น โดยต้องไม่ลืมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างขึ้นมาด้วย
2. ลบภาพจำการเทรนนิ่งแบบเดิม
เปลี่ยนรูปแบบการเทรนนิ่งแบบเดิมๆ ที่ต้องมานั่งฟังเนื้อหาสาระหนักๆ ออกไป แล้วแทนที่ด้วยการเชิญวิทยากรที่มีความสามารถในการพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ จะช่วยให้พนักงานมีมุมมองและมีแรงผลักดันในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. เข้าถึง Work Life Balance ได้เอง
การมีชีวิตที่สมดุลทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัว จะทำให้คุณจัดสรรเวลาได้ ฉะนั้น การจะพัฒนาศักยภาพตนเอง ด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งองค์กรช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนให้พนักงานเข้าถึงความสมดุลในชีวิตนี้ได้เช่นกัน เช่น การอนุญาตให้พนักงานใช้ชั่วโมงการทำงานเพื่อไปเรียนรู้เพิ่มเติมในทักษะใหม่ๆ ที่สนใจจากคอร์สออนไลน์ สัก 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ที่ผ่านมามีหลายองค์กรลองนำวิธีนี้ไปใช้ พบว่าพนักงานมีความมั่นใจและมีความกระตือรือร้นในการทำงานที่โดดเด่นมากขึ้น โดยที่องค์กรไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณเลย
การจัดโปรแกรมหรือคอร์สเทรนนิ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้มาเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ สามารถต่อยอดสู่การเป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ ไม่จำเป็นต้องจัดในรูปแบบเดิมอีกต่อไป
4. สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในที่ทำงาน
ลองจัดช่วงเวลาให้พนักงานแต่ละฝ่ายมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในทักษะที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญ เช่น พนักงานจากทีมกราฟิกมาสอนวิธีการใช้โปรแกรม Photoshop แต่งภาพ ให้กับพนักงานฝ่ายอื่น นอกเหนือจากทุกคนจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคี การทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้นในองค์กรอีกทางหนึ่งด้วย
5. จัด one-on-ones Challenge กระตุ้นให้คนทำงานไม่หยุดเรียนรู้
one-on-ones คือ การที่หัวหน้าทีมมอบหมายหน้าที่ให้ลูกน้องแต่ละคน เมื่อผ่านไปครบเดือนแล้ว ทุกคนจะต้องมาพูดคุยกันอย่างเปิดอกว่ามีความก้าวหน้าหรือพบปัญหาอุปสรรคใดในงานนั้นหรือไม่ แล้วมาช่วยกันแก้ไข วิธีนี้จะทำให้พนักงานไม่เฉื่อยชา มีแรงผลักดันในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่ให้คำมั่นกับหัวหน้าทีมไว้ ซึ่งนำสู่การตั้งเป้าในการทำงานและการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุดได้ในที่สุด
6. วางแผนระยะยาวในการสร้าง Lifelong Learning Organization
การจะสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตจำเป็นต้องมีการวางแผนในระยะยาว เพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ดังนั้น ถ้าองค์กรพร้อมที่จะลงทุนด้านนี้ ควรจัดตั้งฝ่ายฝึกอบรมและพัฒนาขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะเพื่อวางแผนงานในด้านนี้โดยเฉพาะ และฝ่ายนี้ยังเป็นกำลังสำคัญในการประเมินการทำงาน (Performance) ขององค์กร พร้อมวิเคราะห์ว่าทักษะใดที่คนทำงานในแต่ละฝ่ายยังขาดและจำเป็นต้องจัดการฝึกอบรมเทรนนิ่งได้อีกด้วย
Cover Illustration โดย Pattanaphoom P.