Grid Brief
- นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ท้องฟ้ายามค่ำคืนในเมืองใหญ่สว่างขึ้น 1,000 เท่าจากเมื่อ 200 ปีก่อน
- แสงจากหลอดไฟก่อกวนนาฬิกาชีวภาพของสิ่งมีชีวิต ทั้งคน สัตว์ พืช และบดบังไม่ให้มองเห็นดวงดาวยามค่ำคืน
- ชาวโลก 83% ใช้ชีวิตอยู่ใต้ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยมลพิษทางแสง ซึ่งปริมาณเพิ่มเร็วกว่าจำนวนประชากรโลก 2 เท่า
การไปแคมปิ้งคือหนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมของยุคนี้ เราจึงมีโอกาสได้เห็นรถขับออกนอกเมืองพร้อมขนอุปกรณ์แคมปิ้งเต็มหลังคารถกันอยู่บ่อย ๆ แต่แทนที่จะได้กางเต็นท์นอนดูดาวระยิบระยับเต็มฟ้าอย่างที่คิดไว้ กลับได้เห็นเพียงแสงริบหรี่อยู่ไกล ๆ ต้นเหตุที่ทำให้ฟ้าสว่างจนกลบแสงดาวนั้นอาจมาจากการใช้หลอดไฟผิดประเภทจากหน้าบ้านคุณก็เป็นได้นะ!
แสงสังเคราะห์เปลี่ยนชีวิต
ปีที่ผ่านมา Death Valley อุทยานแห่งชาติใหญ่ที่สุดในรัฐตอนล่างของสหรัฐอเมริกา มีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 54.4 องศาเซลเซียส นอกจากวิกฤตอากาศร้อน อุทยานแห่งนี้ยังเผชิญวิกฤต ‘มลพิษทางแสง’ ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากแสงไฟในเมืองลาสเวกัส ตลอดจนเมืองใกล้เคียงนั่นเอง
แสงสังเคราะห์จากหลอดไฟถึงขั้นเป็นมลพิษได้เลยหรือ คำตอบก็เพราะแสงไฟสังเคราะห์ไม่ใช่แค่เพียงทำให้เรามองไม่เห็นดาวบนท้องฟ้า แต่ยังกระทบต่อวงจรการตื่นการนอน การผสมพันธุ์และความเจริญอาหารของพืชและสัตว์ (โดยเฉพาะสัตว์ที่ออกหากินตอนกลางคืน) เรียกได้ว่าแสงสังเคราะห์ส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นกระบองเพชร ค้างคาว กบ เขียด นก คางคก เต่าทะเลไปจนถึงแมงเม่า เนื่องจากก่อนที่โลกจะมีหลอดไฟ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ล้วนอาศัยแสงสว่างตามธรรมชาติเป็นดั่งนาฬิกาชีวิต เช่น แสงอาทิตย์ปลุกให้ตื่น แสงจันทร์และแสงดาวคือสัญญาณเตือนว่าถึงเวลานอนแล้ว แต่หลอดไฟทำให้ทุกแห่งหนสว่างราวกับตอนกลางวันได้ตลอดเวลา
ชาวโลก 83% ใช้ชีวิตอยู่ใต้ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยมลพิษทางแสง ซึ่งปริมาณเพิ่มเร็วกว่าจำนวนประชากรโลก 2 เท่า
แสงไฟสังเคราะห์ยังเดินทางจากแหล่งกำเนิดแสงไปได้ไกลกว่า 349 กิโลเมตร จึงไม่แปลกที่แสงจากหลอดไฟในเมืองลาสเวกัสจะสว่างไปถึงอุทยานแห่งชาติ Death Valley ที่อยู่ห่างออกไป 177 กิโลเมตรได้ มลพิษแสงจึงส่งผลกระทบกับพืชพันธุ์และสัตว์ป่า ตลอดจนผู้คนที่ชมชอบการแคมปิ้ง ซึ่งสู้อุตส่าห์เดินทางเข้าป่าบุกไปกลางทะเลทราย เพื่อจะอยู่ห่างไกลจากแสงสีแห่งความศิวิไลซ์ แต่กลับไม่ได้เห็นท้องฟ้าเกลื่อนดาวดังใจหวัง รวมไปถึงประชากรโลก 83% ที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลพิษทางแสงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
แสงสว่างที่สูญเปล่า
ใช่ว่าแสงสว่างจะมีแต่ข้อเสียเท่านั้น แสงไฟสังเคราะห์มีข้อดี หากใช้ให้ถูกวิธีจะได้ไม่เป็นอย่างที่ National Park System (NPS) หรือกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ บอกไว้ว่า แสงไฟนอกบ้านที่เราใช้กันอยู่นั้นสว่างเกินไป และ ส่องสว่างผิดที่มากเกินไป
การใช้แสงไฟสังเคราะห์แบบไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางแสง ทำได้ดังนี้
- เปิดใช้งานต่อเมื่อจำเป็น
- ส่องสว่างเฉพาะในบริเวณที่จำเป็นต้องสว่าง
- แสงไม่สว่างจ้าเกินไป เพราะจะทำให้มองไม่เห็นได้เหมือนกัน (เหมือนตอนที่โดนรถเปิดไฟสูงส่องเข้าตา)
- ใช้หลอดไฟที่ปล่อยแสงสีฟ้าให้น้อยที่สุด
- ให้อุณหภูมิแสงไม่เกิน 3000 เคลวิน (Warm Light)
- มีอุปกรณ์ครอบหลอดไฟเพื่อปรับให้แสงส่องลง ไม่กระจายส่องท้องฟ้า
คุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่ในหลอดไฟแอลอีดี และกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐยังร่วมมือกับ Illuminating Engineering Society (IES) พัฒนา ‘หลอดไฟที่เป็นมิตรต่อแสงดาวและทางช้างเผือก’ เพื่อติดตั้งในอุทยานแห่งชาติทั่วสหรัฐฯ
แม้ว่าคุณจะไม่ใช่สมาชิกแก๊งแคมปิ้งที่ชอบนอนดูดาวก็ตาม แต่การเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟแอลอีดีที่ให้อุณหภูมิแสงอบอุ่น เพื่อช่วยลดมลพิษแสง ซึ่งเป็นวิกฤตที่ลุกลามเร็วกว่าอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์ถึง 2 เท่า ก็เท่ากับได้มีส่วนช่วยดูแลโลกใบนี้
Cover Illustration โดย Pattanaphoom P.