หากพูดถึง Mascot น่ารัก ๆ ที่สร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และรายได้ให้แบรนด์ เชื่อว่า Kumamon ยังครองตำแหน่งในใจหลายคนอยู่ เมื่อเห็นเจ้าหมีดำตัวนี้ ก็ทำให้นึกถึงจังหวัดคุมาโมโตะและประเทศญี่ปุ่นทันที แม้ชินตาจากภาพวาดการ์ตูน แอนิเมชัน หรือหุ่นคนสวมมานาน แต่ความน่ารักน่าหยิกยังคงสร้างรอยยิ้มให้พวกเราได้จนถึงวันนี้
นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ประเทศไทยเองก็นำศาสตร์และศิลป์ของการ์ตูนกับความน่ารักมาช่วยสร้างแบรนด์ ยิ่งในยุคสมัยแห่งข้อมูลที่ต้องถ่ายทอดคอนเทนต์ให้เห็นภาพ เข้าใจง่าย การ์ตูนถือเป็นวิธีที่ดีในการช่วยประชาสัมพันธ์และสื่อสารแบรนด์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้ ได้แก่ ภาพวาด การ์ตูนจากบุคคลจริงของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. Mascot ที่ออกแบบเชิงแฟนตาซี (คน ฮีโร่ สัตว์ที่มีพลังพิเศษเหนือโลกความจริง) ของแบรนด์ต่าง ๆ และ Mascot การ์ตูนที่เข้ากับสื่อสมัยใหม่ยิ่งขึ้น ลบมายาคติเก่า ๆ ที่การ์ตูนโดนมองว่าไร้สาระ เพราะแท้จริงแล้วการ์ตูนส่งผลถึงจิตวิทยาต่อผู้พบเห็นได้ดียิ่ง
ทีมงานวิจัยระบุว่า การ์ตูนที่น่ารัก นอกจากดึงดูดความสนใจได้แล้ว ผู้เห็นยังใจดีขึ้น ใจอ่อนขึ้น ให้ความสนอกสนใจและจดจ่อมากขึ้น การสื่อสารผ่านการ์ตูนที่มีลักษณะโค้งมนน่ารัก จึงช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่แบรนด์ ทำให้ผู้รับสารซึมซับเนื้อหาที่น่าสนใจได้ดียิ่งขึ้น
แน่นอนว่าการสร้าง Mascot ของแบรนด์และนำไปปรับใช้ในสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพประกอบ หุ่นคนสวม งานวิชวล เป็นต้น ในยุคนี้ย่อมแตกต่างจากสมัยก่อนที่แบรนด์ไหนมีตัว Mascot ก็โดดเด่นกว่าองค์กรคู่แข่ง เพียงวางภาพแปะกับคอนเทนต์ ยืนประดับตอนถ่ายรูปหมู่ หรือให้คนสวมหุ่นไปเต้นตามงานต่าง ๆ แต่แบรนด์ต้องนำ Mascot ไปวางแผนกลยุทธ์การสื่อสารด้วยตัวอย่างแบรนด์ที่น่าจับตามองในการใช้ Mascot ช่วยสื่อสารแบรนด์ ทำประชาสัมพันธ์และการตลาด อาทิ
• ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ สร้างตัวการ์ตูนชื่อฟูมิ เป็น Virtual Brand Ambassador ที่เป็น Vtuber ในช่อง Fumi Hausu (ออกเสียงภาษาญี่ปุ่น คล้ายคำว่าฟาร์มเฮ้าส์) สื่อสารด้วย ความสนุกสนาน มีดีไซน์สีแดงขององค์กรชัดเจน น้ำเสียงน่ารัก พูดภาษาญี่ปุ่นได้ คอนเทนต์อยู่ในกระแส Pop Culture ที่สำคัญน้องฟูมิมีเพื่อนเป็นน้อง Doughkun แป้งโดที่แสนน่ารัก และยังมีเพื่อน ๆ ขนมปังที่ออกแบบได้น่ารักน่ากินอีกด้วย
• Godji ที่เปิด Facebook Fanpage แยกจาก PTT หน่วยต่าง ๆ โดยใช้ภาพการ์ตูนก็อตจิทำงานอย่างเต็มที่ทุก คอนเทนต์ พูดคุยด้วยโทนเสียงที่เป็นกันเอง ซุกซนเล็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยความห่วงใย บรรยากาศในเพจอบอุ่นจากผู้ติดตาม แสดงความคิดเห็นด้วยความเอ็นดู ภาพข่าวของ PTT ที่นำเสนอ มักมี Mascot ร่วมอยู่ในภาพ หรือเป็นภาพประกอบ
• Kumamon แห่งจังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่เห็นว่าเป็นหมีจอมกวน ชอบหยอกผู้คน แต่แท้จริงแล้วเจ้าหมีดำทำงานไม่หยุด เบื้องหลังความเกรียน เขาคือฮีโร่ ผู้โอบอ้อมอารี ในยามที่เกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ก็คอยให้กำลังใจและลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้คนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ทั้งยังออกแบบให้ปรากฏอยู่ในสื่อต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
• PEA ล่าสุดเปิดตัวเจ้าหนูฮีโร่ WATT-D Mascot บุคลิกปราดเปรียว ว่องไว มีความเป็นผู้นำ ทันสมัย โดย PEA นำน้อง WATT-D มาใช้ในการสื่อสารองค์กร ปัจจุบันพื้นที่สื่ออยู่ในมือทุกคน ผู้คนสร้างคอนเทนต์รายวันที่มีความน่าสนใจเองได้ ไม่มีใครรอติดตามข่าวแจกจากองค์กรอีก การประชาสัมพันธ์แบบเดิมกลายเป็นคอนเทนต์นิ่ง ๆ ในเพจ ระบบอัลกอริทึมบนโซเชียลมีเดียไม่แนะนำขึ้นบนไทม์ไลน์ให้กลุ่มเป้าหมายเห็นง่ายดังเดิม เพราะขาดการมีส่วนร่วมในคอนเทนต์ ในขณะที่ธรรมชาติของการ์ตูนสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในไทม์ไลน์ได้อย่างไม่ขัดเขิน โดยแบรนด์ต้องดึงคาแรกเตอร์ Mascot ออกมา แล้วนำไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสินค้า บริการ หรือตัวบุคคลของแบรนด์ให้ได้ การดึงคาแรกเตอร์และนำมาใช้งานอย่างกลมกล่อม จึงน่าจับตามองยิ่งสำหรับองค์กรที่ต้องรักษาภาพลักษณ์มั่นคง มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือว่าจะจับใจกลุ่มเป้าหมายได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความคล่องตัวในการใช้ Mascot ซึ่งควรอยู่ในดุลยพินิจของทีมงานที่มีความเข้าใจในธรรมชาติของการ์ตูน ศาสตร์ของเกม การละเล่น และความน่ารัก เพื่อให้Mascot สามารถเข้าถึงผู้คน และเสริมความโดดเด่นให้แบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรื่องโดย: ณภัชช ชาตรูประชีวิน PEA Creator