ประสบการณ์ตรงของคน (จำเป็นต้อง) สร้างบ้าน (แบบฉุกละหุก) จึงต้องรวบรวมข้อมูลความรู้ภายในเวลาจำกัดเพื่อให้ได้มีบ้านอยู่…ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าของหลายคนที่ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย เสียเงินสร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้านก็มีให้เห็นมากมาย ส่วนใหญ่มาจากปัญหากับผู้รับเหมาที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่ดีหน่อยก็อาจจะเกินงบ แต่รายที่ร้ายหน่อยคือผู้รับเหมาทำตัวเป็นนินจา ตามตัวไม่ได้ หาเงาไม่เจอ ทิ้งให้เจ้าของบ้านอยู่กับกองหิน ดิน ปูน ทราย
แล้วจะทำอย่างไรให้คนอยากมีบ้านได้บ้านไปสมดังหวัง สิ่งที่ต้องเตรียมตัวมีดังต่อไปนี้
- หาความรู้เรื่องสร้างบ้านได้ที่ไหน
ทุกวันนี้มีคนให้ความรู้มากมายเรื่องการสร้างบ้านตามอินเทอร์เน็ต เช่น ช่องคู่ฮักนักพัฒฯ ที่ทำคลิปให้ความรู้ที่เข้าใจง่าย มีการพาไปดูปัญหาหน้างานของบ้านกำลังสร้างที่เกิดปัญหา และนำเสนอวิธีแก้ไขที่ทำได้จริง เหมาะมากสำหรับผู้เริ่มต้นหาความรู้เรื่องการสร้างบ้านจากประสบการณ์ของนักพัฒนาอสังหาฯ
- ใช้สถาปนิกหรือจ้างผู้รับเหมาเองดีกว่ากัน
การจ้างสถาปนิกที่มีมาตรฐานและเชื่อใจได้นั้น ‘ราคาสูง แต่ไม่แพง’ เพราะคำว่าแพง หมายถึง การที่คุณจ่ายเงินไปกับสิ่งที่สูญเปล่า ไม่ได้ใช้ หรือใช้การไม่ได้จริง ดังนั้น หากคุณจ่ายไปกับสถาปนิกที่มั่นใจได้และดูแลงานให้ตั้งแต่ออกแบบไปจนจบกระบวนการก่อสร้าง สิ่งที่แลกมาคือความสบายใจ โดยเฉพาะในกรณีที่คุณต้องทำงานหรือมีภาระอื่น ๆ อยู่แล้ว จะได้ไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาจุกจิกหน้างานที่เกิดขึ้นทุกวัน ตั้งแต่ขุดหลุมฝังเสาแล้วเจอเสาเก่า จุดเชื่อมของคานอยู่คนละระดับกัน วงกบโค้ง ผนังเอียง ฉาบปูนไม่เรียบ ผู้รับเหมาหนีงาน ช่างไม่มาทำงาน หรือต้องเลือกวัสดุร้อยแปดที่คุณไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ฯลฯ
- ต้องการประโยชน์ใช้สอยอย่างไร
สิ่งสำคัญยิ่งกว่าอยากอยู่บ้านหน้าตาแบบไหนคือ คุณต้องการประโยชน์ใช้สอยอย่างไรบ้าง ต้องการห้องอะไรบ้าง กี่ห้อง มีผู้อยู่อาศัยกี่คน พฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบ้านเป็นอย่างไร คุณอาจฝันถึงบ้านเปิดโล่งเพื่อให้ทุกคนได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน แต่แทนที่จะเสริมสร้างก็อาจกลับทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวไปเสียได้ เมื่อลูกวัยรุ่นของคุณเริ่มต้องการพื้นที่ส่วนตัวและไม่อยากใช้พื้นที่ร่วมกับผู้สูงอายุ หรือบ้านที่เล่นระดับเก๋ไก๋ พื้นสูงต่ำสวยงาม แต่อาจไม่เหมาะกับผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก เป็นต้น
- บ้านที่ชอบหน้าตาเป็นแบบไหน
เมื่อวาดภาพการใช้ชีวิตภายในบ้านแล้ว อันดับต่อมาให้ส่งรูปบ้านที่ชอบทั้งภายนอกและภายในประมาณ 3-5 รูปให้สถาปนิกหรือผู้รับเหมา เพื่อให้คุณและเขาเห็นภาพตรงกัน เพราะการบอกว่าคุณอยากได้บ้านสไตล์โมเดิร์น แต่คำว่า ‘โมเดิร์น’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สิ่งที่คุณจินตนาการในหัวอาจเป็นสไตล์ลอฟต์ก็ได้ในนิยามของสถาปนิก
- มีงบเท่าไร
ไม่ว่าจะมีสถานะทางการเงินเป็นแบบไหน ทุกคนกังวลเรื่องงบอยู่แล้ว เป็นเพราะทุกคนอยากใช้เงินอย่างคุ้มค่านั่นเอง คุณควรบอกงบประมาณสร้างบ้านแก่สถาปนิกหรือผู้รับเหมาไปตรง ๆ เพื่อให้เขาคำนวณย้อนกลับไปได้ว่างบเท่านี้ สร้างบ้านได้พื้นที่เท่าไร และคุณจะได้จำนวนห้องตามที่ต้องการหรือไม่
หากงบกับความต้องการไปกันไม่ได้ สถาปนิกที่ดีจะถามคุณว่ายืดหยุ่นเรื่องใดมากกว่ากัน เรื่องประโยชน์ใช้สอยของบ้านหรืองบ หากคุณมีงบเท่านี้จริงๆ และไม่อยากให้เกินงบเลย สถาปนิกจะได้ช่วยคิดต่อว่ามีห้องใดที่ตัดลดได้บ้าง หรือบางห้องใช้งานร่วมกันได้ไหม เช่น ลดจำนวนห้องน้ำลงและแชร์ห้องน้ำกันได้ รวมห้องทำงานกับห้องนั่งเล่นเข้าด้วยกันโดยแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน เป็นต้น
ทั้งนี้ เรื่องพื้นที่ใช้สอยของบ้านและงบควรคุยให้ชัดเจนแต่แรกเพื่อให้ได้บ้านที่สร้างได้จริง
- คุณมีซินแสดูฮวงจุ้ยหรือไม่
ปัญหาโลกแตกนี้แก้ไขได้ไม่ยาก หากคุณเชื่อในพลังของฮวงจุ้ยก็ขอให้พาซินแสไปดูแบบบ้านตั้งแต่ร่างแรก อย่าปล่อยให้สถาปนิกออกแบบบ้านไปจนถึงดราฟต์ท้าย ๆ หรือเสร็จแล้วค่อยให้ซินแสมาดู เพราะการแก้ไขที่ขั้นตอนแรก ๆ นั้นง่ายกว่าทำไปจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว และทุกฝ่าย ไม่ว่าเจ้าของบ้าน สถาปนิกและซินแสรู้ดีกว่า การแก้ไขบนหน้ากระดาษนั้นง่ายกว่าการรื้อทุบทิ้งในสิ่งที่ก่อสร้างไปแล้ว
หวังว่าผู้ฝันอยากมีบ้านทุกคนจะได้บ้านสมดังปรารถนาทุกประการ
ที่มา : TOUCH Architect