Grid Brief
- ถึงเวลาที่ทุกองค์กรต้องปรับแผนการตลาดครั้งใหญ่ ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังเกิดวิกฤตโรคระบาดและกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชัน
- แม้ไม่ใช่นักการตลาด ก็ต้องเรียนรู้หลักการตลาด 4T เพื่อทำงานในหน้าที่ของตนให้สอดคล้องกับทิศทางการตลาดที่เปลี่ยนไป
- หลักการตลาด 4T นำไปปรับใช้เพื่อช่วยให้องค์กรคิดค้นนวัตกรรมสินค้าและบริการได้โดนใจผู้บริโภคยุคนี้มากขึ้น
ที่ผ่านมานักการตลาดทุกคนทราบดีว่า หลักการตลาดสุดคลาสสิกที่นำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มยอดขาย ต้องเป็นไปตามหลัก 4P นั่นคือ Product, Price, Place, และ Promotion ทว่า ทันทีที่เกิดวิกฤตโรคโควิด-19 รวมถึงกระแสดิจิทัลและเทคโนโลยีดิสรัปชัน ทั้งสองปัจจัยนี้ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ฝั่งการตลาดจึงต้องปรับกระบวนท่าครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปให้ได้
“หลักการตลาดที่เคยใช้ได้ผลต้องปรับใหม่ทั้งหมด เพื่อวางฐานธุรกิจใหม่ให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป” อ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (English) Chulalongkorn Business School เน้นย้ำผ่านรายการ Biz Genius ที่นำเสนอทาง CU radio บน Youtube ก่อนที่จะอธิบายเพิ่มเติมถึงเทคนิค “4T หลักการตลาดสู่วิกฤต” ฉบับอัปเดต ที่แม้คนทำงานที่ไม่ได้เป็นนักการตลาดก็ควรรู้ไว้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ช่วยองค์กรสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้
Tangible and Touchable Solution เปลี่ยนความรู้สึกปลอดภัยให้จับต้องได้
ในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และ สุขอนามัยเหนือสิ่งอื่นใด การนำเสนอสินค้าและบริการแบบธรรมดาทั่วไป คงไม่ตอบโจทย์ลูกค้าอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ การปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจ จึงจำเป็นต้องใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ลงไปเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่าแบรนด์นี้ใส่ใจและให้ความสำคัญกับการมีมาตรการความปลอดภัย เช่น ร้านอาหารที่พนักงานใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากอนามัย พร้อมคงมาตรการ Social Distancing ในการให้บริการ
Transparent Pricing อยากได้ใจผู้บริโภค ต้องตั้งราคาที่เป็นธรรม
ยุคนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วแค่ปลายนิ้ว หากแบรนด์ไหนตั้งราคาสินค้าและบริการที่มีราคา ไม่เป็นธรรม สินค้าหรือบริการนั้นย่อมมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมลดลง ทั้งนี้ ตามแนวคิดการตลาดพื้นฐานที่ใช้ในการตั้งราคา “ต้นทุน” ต้องถูกคิดคำนวณเข้ากับการกำหนดราคาอยู่แล้ว แต่พอมาในยุคนี้จะต้องเพิ่มปัจจัยเรื่อง “คุณค่า” หรือ Value ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการนั้น คำนวณรวมไปในราคาสินค้าและบริการด้วย เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อจากนี้ไปมีความเป็นไปได้สูงที่จะมองหาข้อมูลต้นทุนสินค้าและบริการก่อนการตัดสินใจซื้อมากขึ้น
Timely แค่ “ทันเวลา” ก็เอาใจไปเลย
ก่อนหน้านี้ผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกับการได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วมากที่สุด ทว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ปัจจัยเรื่องมาตรการความปลอดภัยกลับมาแรงกว่า ยืนยันได้ด้วยการที่ผู้คนมักยอมรับกับกฎเกณฑ์ใหม่เรื่อง Social Distancing ยอมต่อแถวรอใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านอาหารที่จำกัดคน ดังนั้น ความสะดวกรวดเร็วในยุคนี้จึงถูกลดมาตรฐานลงเหลือแค่ “ทันเวลา” และ ไม่ทิ้งมาตรการความปลอดภัย ก็ทำให้ผู้บริโภคยุคนี้พึงพอใจได้แล้ว
Truth ความจริงเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
จากการสื่อสารการตลาดแบบเดิมที่มักเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ในเบื้องต้นอาจทำให้ลูกค้าสนใจ แต่เมื่อมีวิกฤตโรคระบาดเกิดขึ้น ผู้คนต้องตั้งรับกับกระแสข่าวลวง หรือ Fake News ทุกวัน สถานการณ์นี้มีส่วนให้ผู้บริโภคยุคนี้เรียนรู้ที่จะตรวจสอบข้อมูลสินค้าและบริการว่าถูกต้อง หรือเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ก่อนการตัดสินใจซื้อ ดังนั้น การสื่อสารเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคยุคนี้ จำเป็นต้องอาศัยความจริงใจเข้าสู้ ชนิดใจแลกใจถึงจะได้ใจนั่นเอง